'สมัคร-ประยุทธ์' จาก 'แก๊งออฟโฟร์' ถึง '3ป.' ความเหมือนและตอนจบที่อาจแตกต่าง

'สมัคร-ประยุทธ์'  จาก 'แก๊งออฟโฟร์' ถึง '3ป.'  ความเหมือนและตอนจบที่อาจแตกต่าง

มองสถานการณ์ทางการเมืองเวลานี้ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ตกที่นั่งลำบากไม่ต่างเมื่อครั้ง 'สมัคร สุนทรเวช' ที่ต้องหันหน้าเข้าสภาเพื่อหวังเป็นที่พึ่งแก้วิกฤติการเมือง

พลันที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยอมให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อให้มีการอภิปรายปัญหาบ้านเมืองในรัฐสภา ทั้งๆที่การเปิดสมัยประชุมสามัญจะเริ่มขึ้นในอีกไม่วันข้างหน้า ถือว่าเป็นจังหวะที่มีนัยสำคัญ

ต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้ทางฝั่งวิปรัฐบาลต่างยืนยันมาตลอดยืนยันหัวเด็ดอย่างไรก็ไม่มีทางเปิดวิสามัญ ด้วยเหตุผลทางการเมืองว่าไม่อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ ตกเป็นเป้าทางการเมือง แต่เมื่อการเมืองนอกสภาเริ่มเป็นสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐบาล จึงส่งผลให้นายกรัฐมนตรีที่มีพฤติกรรมหนีสภามาตลอด ต้องหันหน้าพึ่งสภาอย่างปัจจุบันทันด่วน

สถานการณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จะว่าไปแล้วก็ไม่ได้คล้ายกับ 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' ตามที่อดีตนายกฯหญิงเคยโพสต์เฟซบุ๊กแซะเสียทีเดียว เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้โดนไล่ล่าแบบที่ยิ่งลักษณ์เคยเจอ อีกทั้งม็อบคณะราษฎรที่ขับไล่ประยุทธ์ก็ไม่ได้ปักหลักอยู่ยาวแบบที่กปปส.ใช้สู้กับยิ่งลักษณ์ แต่ในทางกลับกันดูเหมือนจะคล้ายกับ 'สมัคร สุนทรเวช' เมื่อครั้งเผชิญหน้ากับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมากกว่า

จุดเริ่มของการขับไล่รัฐบาลสมัครมาจากการที่ส.ส.พรรคพลังประชาชนเวลานั้น ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพรรคเพื่อไทย พยายามริเริ่มกระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 และการตรากฎหมายเพื่อยุบคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ถูกแต่งตั้งด้วยอำนาจรัฐประหารและยังเหลือเวลาการทำงานคาบเกี่ยวมาถึงรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

ด้วยสองเหตุผลหลักที่ว่ามาทำให้เกิดการชุมนุมต่อต้านไปหลายจุดทั่วประเทศ เป็นต้นกำเนิดของการจัดม็อบแบบดาวกระจาย แม้รัฐบาลจะยืนยันว่าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญและไม่เข้าไปยุ่งกับคตส. แต่ก็ไม่อาจเป็นน้ำที่ดับไฟได้ สุดท้ายนายกฯสมัครต้องหันหน้าเข้าสภาด้วยคำแนะนำของพรรคร่วมรัฐบาล

กลไกของรัฐสภาที่หวังว่าจะใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหา คือ การเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อให้มีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ แบบเดียวกับที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ กำลังจะดำเนินการ

การเปิดประชุมถูกตั้งความหวังว่าจะนำไปสู่ทางออกทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภา หรือลาออก แต่สุดท้ายก็ไม่มีเสียงตอบรับจากหมายเลขที่เรียก 'สมัคร สุนทรเวช' ยังยืนยันที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง ท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมที่ต่อเนื่อง

ไม่เพียงเท่านี้ หากมองลึกลงไปถึงขุมอำนาจที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาลของทั้ง 'ประยุทธ์' และ 'สมัคร' แล้วก็มีลักษณะคล้ายกันอีก

กล่าวคือ ในยุคของรัฐบาลสมัครมีการขนานนามมี 'แก๊งออฟโฟร์' ที่คอยอยู่เบื้องหลังการทำงานของ 'สมัคร' ซึ่งพยายามตั้งตนเป็นอิสระจากพรรคพลังประชาชน สร้างความไม่พอใจให้กับส.ส.ของพรรคในเวลานั้นเป็นอย่างมาก แต่แก๊งนี้ก็ได้สลายตัว ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจให้สมัครพ้นจากเก้าอี้นายกฯ ประกอบกับ เจอคนแดนไกลสั่งพรรคพลังประชาชนดัดหลังไม่ให้ 'สมัคร' ขึ้นมาเป็นนายกฯอีกครั้ง แต่ให้ไปสนับสนุน 'สมชาย วงศ์สวัสดิ์'แทน

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็มีกลุ่มคนแบบนั้นเช่นกันในนาม '3ป.' 'ป.ประยุทธ์ -ป.ประวิตร-ป.ป๊อกอนุพงษ์' ซึ่งเป็นคนที่กุมอำนาจสูงสุดในรัฐบาลและทรงอิทธิพลทางการเมืองในปัจจุบัน และกำลังเผชิญกับแรงกดดันเช่นเดียวกับที่รัฐบาลสมัครเคยประสบมา

จากวันนั้นถึงวันนี้ 'ประยุทธ์' ก็เจอแรงกดดันไม่ต่างจากอดีตนายกฯสมัคร จนต้องวิ่งเข้าสภาเหมือนกัน และคาดว่าการเปิดสภาในลักษณะเดียวกัน ก็คงมีบทสรุปที่ทุกฝ่ายรู้อยู่แล้ว คือ ไม่ยุบสภา ไม่ลาออก

ท้องเรื่องของสองอดีตดำเนินมาคล้ายๆกัน โดยเฉพาะการพยายามใช้สภาเป็นที่หลบภัย แต่จะมีบทสรุปที่ต้องตกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเหมือนกันหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับปัจจัยแทรกแซงที่อาจมาอย่างคาดไม่ถึง