'พปชร.' รุกคืบครั้งใหญ่ คุมสภาเบ็ดเสร็จ

'พปชร.' รุกคืบครั้งใหญ่ คุมสภาเบ็ดเสร็จ

แม้ด้านหนึ่ง จะดูว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะราบรื่น แต่ถ้ามองลงไปลึก ๆ แล้ว ปรากฎว่ามีความเคลื่อนไหวและการชิงไหวชิงพริบอย่างคาดไม่ถึง

โดยเฉพาะการจัดสรรตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)สามัญ และกรรมาธิการ

เรื่องนี้เป็นผลสืบมาจากคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุลและ พล.ท.พงศกร รอดชมภู ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามมาด้วยประธาน กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และประธาน กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศตามลำดับ

ประกอบกับการย้ายพรรคของ ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ถึง 10 คน ทำให้การจัดสรรโควตาประธาน กมธ.ต้องปรับเปลี่ยนกันใหม่ ซึ่งแน่นอนว่า มีผลกระทบต่อฝ่ายค้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะตำแหน่งประธาน กมธ. 2 คณะข้างต้นนั้น ในที่ประชุมร่วมของพรรคการเมือง ประธานกมธ. และประธานสภาผู้แทนราษฎร มีความเห็นว่า พรรคก้าวไกลจะเหลือโควตาตำแหน่งประธาน กมธ.เพียง 4 คณะ แต่ยังมีสิทธิในเก้าอี้ประธาน กมธ.การกฎหมาย และ กมธ.ความมั่นคงฯ เพียงแต่ต้องคืนเก้าอี้ประธานคณะอื่น มาให้สภาฯ 2 คณะ จากที่มีอยู่ 4 คณะ ประกอบด้วย 

1.กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2.กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ 3.กมธ.การแรงงาน และ 4.กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งปรากฎว่า 4 คณะนี้ ไม่มีประธาน กมธ.คนใดลาออก ทำให้จำเป็นต้องคืนประธาน กมธ.การกฎหมาย และกมธ.ความมั่นคงฯ

เดิมทีพรรคก้าวไกลไม่ต้องการจะเสียตำแหน่งประธาน กมธ.กฎหมายไป เพราะที่ผ่านมาสามารถขับเคลื่อนการทำงานตรวจสอบรัฐบาล และหน่วยงานความมั่นคงได้ในระดับหนึ่ง ประกอบกับ มีความเป็นไปได้ที่พรรคพลังประชารัฐ จะเข้ามานั่งประธาน กมธ.แทน โดยมีชื่อของ ‘สิระ เจนจาคะส.ส.กทม. และรองประธาน กมธ. ผุดขึ้นมาเป็นตัวเต็งคนสำคัญ ทั้งที่พรรคก้าวไกลแอบหวังให้พรรคประชาธิปัตย์ดัน ‘สุทัศน์ เงินหมื่น’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ตาม แต่ไม่อาจเป็นอย่างที่หวังได้ เพราะประชาธิปัตย์ไม่มี ส.ส.เพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลจึงพยายามแก้เกม ด้วยการเสนอชื่อ ปิยบุตร แสงกนกกุลเข้ามาเป็นที่ปรึกษา กมธ.คณะนี้ เพื่อคอยถ่วงดุลพรรคพลังประชารัฐ ที่ตำแหน่งประธานจะตกเป็นของพรรคนี้ และพา กมธ.นี้ หลุดจากประเด็นการเมืองภาคประชาชนไป

         แต่ไฮไลต์ของการชิงเก้าอี้ประธาน กมธ.สามัญฯ ที่ว่านี้ ไม่ได้อยู่ที่พรรคก้าวไกล แต่เป็นการปะทะเดือดกันระหว่าง ‘พรรคพลังประชารัฐ’ และ ‘พรรคเสรีรวมไทย’ ในตำแหน่งประธาน กมธ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(กมธ.ป.ป.ช.) ซึ่งปัจจุบันเป็นของ ‘พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวสหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย

ในกรณีนี้เป็นผลมาจากการย้ายพรรคของ ส.ส.อดีตอนาคตใหม่เช่นกัน ทั้ง ‘จารึก ศรีอ่อน’ ที่ย้ายไปสังกัดพรรคพลังท้องถิ่นไท และ ‘จุลพันธ์ โนนศรีชัย’ ที่ย้ายไปสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา โดยกรณีของจุลพันธ์นั้น ได้ขอลาออกจาก กมธ.ด้วย ส่งผลให้สภาฯ ต้องตั้ง ส.ส.เข้ามาแทน ภายใต้โควตาของพรรคร่วมรัฐบาล

ทั้งนี้ มีรายงานว่าพลังประชารัฐจะขอใช้สิทธิ์ในการเสนอชื่อ ส.ส.ของพรรคเข้าไปแทนอย่าง วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล จะเข้ามานั่งเก้าอี้นี้ด้วยตัวเอง ก่อให้เกิดการเรียกร้องและตั้งคำถามจากฝ่ายค้านถึงความความเหมาะสม

อีกผลกระทบที่น่าจับตา คือการเปลี่ยนตัวประธาน กมธ.ป.ป.ช.จาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เป็นคนอื่นโดยพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งกระบวนการนี้จะเริ่มขึ้นภายหลังสภาฯ ตั้ง กมธ.แทนตำแหน่งที่ว่างในสัปดาห์หน้า

พรรคพลังประชารัฐ กำลังพิจารณาว่า จะสามารถใช้เสียงของที่ประชุม กมธ.เปลี่ยนตัวประธานได้หรือไม่ เนื่องจากเวลานี้ สัดส่วนเสียงของ ส.ส.รัฐบาลใน กมธ.มีถึง 9 คน จากทั้งหมด 15 คน

นับเป็นสถานการณ์ที่ฝ่ายค้านกำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะมีความเป็นไปได้ไม่น้อย ที่จะเสียเก้าอี้นี้ไป

ถึงแม้ที่สุดแล้ว การเปลี่ยนตัวประธาน กมธ.จะทำไม่ได้ แต่การทำงานตรวจสอบรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา อาจเป็นทางตัน เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่ กมธ.ในสัดส่วนฝ่ายค้านแค่ 6 เสียง จะโหวตชนะ กมธ.ฝ่ายรัฐบาล

จากสถานการณ์ทั้งหมด หากรัฐบาลคุมทิศทาง กมธ.ได้อย่างเบ็ดเสร็จ รัฐบาลก็น่าจะยืนระยะไปได้อย่างมั่นคงอีกพอสมควร เว้นเสียแต่ จะก้าวพลาดด้วยตัวเอง”