ยธ.เดินหน้าร่างกม.ใช้ 'พนักงานฯเอกชน' ติดตามทรัพย์ลูกหนี้

ยธ.เดินหน้าร่างกม.ใช้ 'พนักงานฯเอกชน' ติดตามทรัพย์ลูกหนี้

กระทรวงยุติธรรม เดินหน้าร่างกฎหมายถ่ายโอน "พนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน" ให้ติดตามทรัพย์ลูกหนี้ ส่วนกรมบังคับคดีจะถอยออกมากำกับดูแล วางกรอบโรดแมป 3 ปีให้เกิดเป็นรูปธรรม

โรงแรมเดอะ สุโกศล - 15 ส.ค. 61 กรมบังคับคดี จัดประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของเจ้าหนี้และลูกหนี้และมาตรการเยียวยา ภายใต้หัวข้อ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน : กลไกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชนและสิทธิหลักประกัน” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับกฎหมาย กฎระเบียบ ระบบและแนวทางปฏิบัติที่ดีเลิศด้านการบังคับคดีล้มละลาย และความสำคัญของกฎหมายเกี่ยวกับหลักประกันทางธุรกิจต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาของอาเซียน เพื่อนำความรู้และประสบการณ์มาพัฒนากฎหมายล้มละลายและกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ

โดยมีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุม และมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกลไกพิทักษ์ทรัพย์ และการบังคับคดี จากกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศคู่เจรจาของอาเซียน คือสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี ร่วมประชุม

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายแก้กฎหมายที่ล้าสมัย และออกกฏหมายฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ โดย 4 ปีที่ผ่านมากรมบังคับคดี ในฐานะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายล้มละลายได้แก้กฎหมายล้มละลายแล้ว 3 ฉบับ เป็นผลให้การจัดลำดับความยากง่ายของการประกอบธุรกิจ ตัวชี้วัดที่ 10 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาล้มละลาย ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 26 จาก 190 ประเทศเป็นการปรับปรุงที่ดีขึ้นถึง 13 ลำดับ นอกจากนี้กรมบังคับคดีมีผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยด้านการบริหารจัดการการล้มละลาย เพื่อดูแลผลประโยชน์ของภาคเอกชนทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ซึ่งมีการจัดทำประชาพิจารณ์เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชนและกฎหมายล้มละลาย ซึ่งหวังว่าการประชุมในครั้งนี้ จะได้รับฟังประสบการณ์และแนวปฏิบัติจากประเทศที่มีความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ตลอดจนสิทธิในการได้รับการเยียวยาของลูกหนี้และเจ้าหนี้มาเป็นตัวอย่าง เพื่อให้กฎหมายใหม่ของไทยสมบูรณ์

ด้านน.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างศึกษาวิจัย และยกร่างกฏหมาย พ.ร.บ.ล้มละลายฉบับที่ พ.ศ.. (เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน) ซึ่งยังอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียบร้อยแล้ว ในการถ่ายโอนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปยังภาคเอกชนนั้น รัฐบาลให้เวลากระทรวงยุติธรรมดำเนินการตามโรดแมป 3 ปี เพื่อดำเนินการให้เป็นรูปธรรม คาดว่าจะสามารถส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ให้รมว.ยุติธรรมพิจารณาได้ภายในเดือนก.ย.นี้ โดยเนื้อหาสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเปิดโอกาสให้เอกชนที่มีคุณสมบัติมีความรู้และคุณธรรมเข้ามาขอใบอนุญาต ดำเนินการพิทักษ์ทรัพย์ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมบังคับคดี โดยการพิทักษ์ทรัพย์จะเป็นวิชาชีพหนึ่งที่เปิดให้มีการอบรม สอบ และขอใบอนุญาต.เช่นเดียวกับทนายความ ผู้ตรวจสอบบัญชี หรือวิศวกร

“ในช่วงเริ่มต้นจะใช้กับเจ้าหนี้ที่เป็นนิติบุคคล ในส่วนของเจ้าหนี้ที่เป็นรายย่อยหรือบุคคลธรรมดากรมบังคับคดีในฐานะเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินการต่อไปเหมือนเดิม ซึ่งเป็นรูปแบบที่ดำเนินการได้สำเร็จในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของโลกในตัวชี้วัดด้านความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ก็เป็นผลมาจากการบังคับคดีโดยภาคเอกชน ที่พักงานพิทักษ์ทรัพย์ 1 คนรับผิดชอบสำนวนคดีไม่เกิน10 เรื่องต่อปี ขณะที่การดำเนินการโดยภาครัฐ เจ้าหน้าที่ 1 คนต้องรับผิดชอบสำนวนกว่า 100 คดีต่อปี“ อธิบดีกรมบังคับคดีกล่าว