แนะ 'คสช.-ปยป.' เปิดใจฟังข้อเสนอ 'ธีรยุทธ'

แนะ 'คสช.-ปยป.' เปิดใจฟังข้อเสนอ 'ธีรยุทธ'

"สุริยะใส" แนะ "คสช." เปิดใจพิจารณาข้อเสนอ "ธีรยุทธ บุญมี" เตือนป.ย.ป.ระวังติดกับดักความคิดแบบอนุรักษ์

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวถึงกรณีที่ศาตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการอิสระ ได้แถลงเสนอมุมมองต่อการปฎิรูปประเทศ ว่า ตนเห็นด้วยการการวิเคราะห์ของศ.ธีรยุทธ ที่มองว่าการปฎิรูปประเทศของรัฐบาลนั้น ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร โดยเฉพาะการปฏิรูปในระดับรากฐาน หรือโครงสร้างที่เป็นปัญหา

จนทำให้ทิศทางการขับเคลื่อนประเทศที่ผ่านมา ติดหล่มและวนเวียนจนกลายเป็นประเทศที่มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำสูงมากอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งคสช. โดยเฉพาะป.ย.ป. ต้องเปิดใจกว้างรับฟังเพราะเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อ ป.ย.ป. ที่เตรียมขับเคลื่อนการปฏิรูป 27 วาระ มี42ประเด็นที่ต้องทำให้เสร็จในปี2560 และอีก32ประเด็นที่ต้องทำให้เสร็จภายในปี2561-2564นั้น

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ป.ย.ป. ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าประเด็นปฏิรูปเหล่านี้ต้องนำไปสู่การปฏิรูประดับนโยบายหรือโครงสร้าง ซึ่งแน่นอนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาแต่ถ้าทิศทางเป้าหมายชัดก็มีโอกาสประสบความสำเร็จ ฉะนั้นจุดนับหนึ่งหรือจุดเริ่มต้นจึงสำคัญที่กลไกที่เกี่ยวข้องต้องอยู่ในภาวะที่ตระหนักต่อปัญหาร่วมกันไม่ใช่ทำไปเพียงเพราะรัฐบาลสั่งการและรอรัฐบาลใหม่เท่านั้น การคำนึงถึงความต่อเนื่องระยะยาวของการปฏิรูป จึงเป็นปัจจัยที่ป.ย.ป.ต้องคำนึงถึงแม้กำหนดกรอบเวลาในแต่ละประเด็นชัดเจน แต่ถ้ากลไกราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ตระหนักร่วมไม่ปรับตัวยังยึดติดกับวัฒนธรรมความคิดแบบอนุรักษ์และจารีตนิยม เน้นกลไกราชการเป็นพระเอก แต่ขาดการมีส่วนร่วม หรือดึงภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมขับเคลื่อนรับผิดชอบในระยะยาว จะไปได้ยากเพราะระบบราชการบางครั้งก็กลายเป็นปัญหาของการปฏิรูปอยู่ด้วย

นายสุริยะใส ยังกล่าวอีกว่า เพราะฉะนั้น ป.ย.ป. ต้องแสวงหาความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ดึงมาเป็นพัธมิตรของการปฏิรูป ทั้งในระยะสั้นและระะยาวร่วมคิดร่วมกำหนดมาตรการไปพร้อมๆกัน สุดท้ายสังคมก็จะกลายเป็นเจ้าภาพที่แท้จริงในการขับเคลื่อน ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล หรือกลไกราชการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลมาแล้วก็ไปแต่คนที่จะต้องแบกรับภาระและปัญหาคือประชาชนทั้งประเทศ