เส้นทางปรองดองที่หายไป

ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ความขัดแย้งยังคงอยู่กับสังคมไทยไม่หายไปไหน คนยังคงแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจนและชัดแจ้ง
และพร้อมที่จะเข้าเผชิญหน้าหรือห้ำหั่นกันทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นในโลกความจริงหรือโลกเสมือนจริง
แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนเป็นระเบียบเรียบร้อยคล้ายไม่เกิดอะไรขึ้นนั่นก็เพราะทุกความเคลื่อนไหวที่ดูจะเป็นไปในทางที่ต่างจากวิธีที่ผู้มีอำนาจต้องการถูกกดเอาไว้ภายใต้ประกาศห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
คนที่แสดงความเห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของรัฐ ก็มักจะถูกเชิญตัวไปปรับทัศนคติเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา แกนนำ หรือนักการเมือง ความเคลื่อนไหวใดที่สุ่มเสี่ยงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐจะถูกระงับเพื่อไม่ให้ลุกลามขยายตัว และนัยว่าเป็นการกระชับอำนาจของ คสช. ไปในตัว
ในอีกมุมหนึ่งแม้จะเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่หากไม่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลมักจะได้รับอนุญาติให้ทำได้ โดยที่ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว หรืออาจจะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น อาทิการแถลงข่าวทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ หรือกระทั่งการชุมนุมของ “พุทธะอิสระ” ที่หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ก็สามารถทำได้แม้จะชัดว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่เกิน 5 คน และครบเงื่อนไขตามประกาศ
แน่นอนว่าพฤติกรรมเช่นว่าย่อมสร้างความอึดอัดขัดข้องให้คนอีกฟาก ขณะเดี่ยวกันสร้างความย่ามใจให้คนอีกกลุ่มเช่นเดียวกัน
และเมื่อเข้าไปดูในโลกโซเชียล เราจะเห็นความแตกแยก แตกร้าวที่ชัดเจนมาก ต่างฝ่ายต่างถือหางกลุ่มของตนอย่างสุดขั้ว ไม่มองถึงเหตุผลของอีกฝ่าย การกระทำหรือเหตุการณ์ใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจะถูกมองเป็นสองฝั่งในมุมที่แตกต่าง และหาเหตุผลมาอธิบายการสนับสนุนของตัวเองแม้จะไม่เป็นเหตุและผลเลยก็ตาม
เช่นหากรัฐบาลออกมาตรการหรือกระทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็จะออกมาโจมตีและมองการกระทำนั้นในแง่ลบ ขณะที่ฝ่ายหนุนรัฐบาลก็จะเอาตัวเข้าขวางเชียร์การกระทำอย่างสุดหัวจิตหัวใจ แม้จะเห็นความผิดพลาดหรือบกพร่องก็พร้อมจะหลับตาไม่ใส่ใจ คล้ายประหนึ่งว่าเมื่อมาด้วยกันแล้วก็ต้องไปให้สุดทาง แม้จะถูลู่ถูกังก็ต้องลากกันไปให้ได้
เหตุผลเริ่มไม่ถูกนำมาใช้ และลามมาถึงนอกจอในโลกแห่งความเป็นจริง เช่นในกรณีที่นักศึกษาจะนั่งรถไฟไป “อุทยานราชภักดิ์” แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องทางการเมืองตามที่ โฆษกรัฐบาลระบุแน่นอน แต่ทุกเรื่องก็ต้องถือเป็นเรื่องทางการเมือง นักศึกษาอาจจะมีนัยยะต้องการชี้ให้เห็นถึงการทุจริต เพื่อตีกระทบไปถึงรัฐบาล แต่การทุจริตที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นเรื่องของทุกคนที่จะช่วยกันตรวจสอบ และรัฐบาลจะไม่ถูกดิสเครดิตเลย หากโครงการนี้ไม่มีการทุจริต หรือรัฐบาลไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริต
แต่ที่น่าสนใจคือ มีกลุ่มมวลชนที่พร้อมปกป้องออกมาคัดค้านการกระทำของนักศึกษา จนหวิดจะเป็นเหตุปะทะกัน ดังที่เราเห็นภาพความวุ่นวายที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง
นี่หรือคือความสงบเรียบร้อยที่รัฐบาลต้องการ ความสงบเรียบร้อยที่ถูกซุกเอาไว้ใต้พรมและรอวันปะทุเมื่อถึงจุดที่เดือดเพียงพอ
หากยังจำกันได้วันที่ คสช. เข้ามาควบคุมอำนาจการปกครอง ในวันนั้นมีการตั้งคณะกรรมการปรองดอง มีการจัดิอีเวนท์ทั้งระดับใหญ่กลางเล็ก มีการนำแกนนำชุมชนมาจับมือ เตะฟุตบอล ร้องเพลง ร่วมกัน ทำคล้ายๆกับปฏิบัติการทางจิตวิทยาของทหาร แต่กระบวนการต่อจากนั้นก็ไม่เกิดขึ้น
และถึงวันนี้เราแทบจะลืมนโยบายสร้างความปรองดองของรัฐบาลไปแล้ว สิ่งที่เราจำได้กันวันนี้คือนโยบายสร้างความสงบเรียบร้อย ด้วยการใช้กฎที่เข้มข้นกับการเคลื่อนไหวที่ไม่เป็นไปในทางเดียวกับรัฐ
หากรัฐบาลต้องการให้สังคมกลับเข้าสู่ความปรองดองลดความแตกแยกอย่างยั่งยืนก็ควรทบทวนบทบาทที่ทำมาว่ามีอะไรผิดพลาดหรือไม่ หรือยังเดินหน้าเรื่องใดไปไม่ถึงที่สุด และหลงลืมทิ้งอะไรไว้กลางทางหรือไม่
เพราะหากไม่เดินหน้าเรื่องปรองดองอย่างจริงจังแล้ว ก็เตรียมนับถอยหลังสู่จุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมในบ้านเมืองได้เลย