
"จาตุรนต์"เผยห่วงการเมืองไทยกำลังเดินสู่การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มต้านระบอบทักษิณ "ผมห่วงว่าวิกฤตทางการเมืองขณะนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ซึ่งขณะนี้สังคมกำลังอยู่ในภาวะที่จะต้องเลือกว่าจะสนับสนุนให้ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าไปได้หรือจะให้มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้ประเทศถอยหลัง ทั้งนี้การชุมนุมที่มีการปิดสถานที่ราชการนั้น เหมือนกับเป็นการสร้างสภาพที่รัฐบาลบริหารปกครองไม่ได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวนั้นเหมาะสำหรับใช้ในการล้มรัฐบาลเผด็จการ หรือต่อต้านรัฐประหาร แต่ผู้ชุมนุมกลับมาใช้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่ามีความไม่ชอบธรรมในแง่จุดมุ่งหมาย
ข้อเสนอในการตั้งรัฐบาลประชาชนและสภาประชาชนเพื่อมาปฏิรูปประเทศนั้น เป็นข้อเสนอที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อให้การปกครองโดยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 อย่างชัดเจน และการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมที่น่าสนใจคือ การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าร่วมอย่างชัดเจนแล้ว และได้ประกาศว่า “ไม่ชนะไม่กลับ” ทำให้มีความน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยรัฐประหารปี 2549 ที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศบอยคอตการเลือกตั้ง และนำมาซึ่งการรัฐประหาร
การออกมาสมทบเคลื่อนไหวของนายอภิสิทธิ์และพวก เป็นการตัดสินใจที่รู้มาก่อนว่าการเคลื่อนไหวจะนำไปสู่อะไร ทำให้สังคมควรจะติดตามมากขึ้น
นอกจากนี้ การที่นายอภิสิทธิ์และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้แถลงท่าที เมื่อวันที่ 28พฤศจิกายนมีเนื้อหาในลักษณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้คาดการณ์ว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบในระบบรัฐสภา สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ควรจะทำ คือระงับยับยั้งการกระทำในลักษณะนั้น ดังที่สื่อมวลชนต่างประเทศวิเคราะห์ว่า พรรคประชาธิปัตย์กำลังสร้างเงื่อนไขไปสู่การรัฐประหาร
ผมคิดว่าหากการชุมนุมบรรลุวัตถุประสงค์ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปสู่การรัฐประหารรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง จะทำให้เกิดความขัดแย้งต่อเนื่องไม่สิ้นสุด และเป็นบรรทัดฐานให้กลุ่มอื่นๆเคลื่อนไหวต่อไป ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆแล้ว เพราะทำให้ประเทศเสียหายร้ายแรง”
สำหรับกรณีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.)เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา เพื่อแก้ปัญหา นายจาตุรนต์กล่าวว่า ทปอ.มีข้อเสนอในหลายประเด็น ซึ่งผมเห็นว่าประเด็นที่มีการเจรจานั้นเป็นหัวข้อที่ควรรับมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ระบุว่าพร้อมที่จะเจรจา แต่ฝ่ายผู้ชุมนุมปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ส่วนการยุบสภานั้น ย่อมเป็นวิธีการหนึ่งในการแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมือง แต่ขณะนี้ผู้ชุมนุมได้ประกาศชัดเจนว่า การยุบสภาไม่สามารถทำให้สิ้นสุดการชุมนุมได้ ทำให้เข้าใจได้ว่า การเคลื่อนไหวนี้มีลักษณะไม่อาจจะหาบทสรุปในระบบรัฐสภาแล้ว ข้อเสนอยุบสภานั้นไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด
ส่วนการเสนอให้มีคนกลางมาช่วยเจรจา ถ้าหากว่าฝ่ายผู้ชุมนุมต้องการเจรจา ผมคิดเชื่อว่าการหาคนกลางไม่ใช่เรื่องง่าย บุคคลที่จะมาเป็นคนกลางนั้นหายาก ต้องให้หลายฝ่ายช่วยกันคิด และไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้เลือก อีกทั้งผมยังเชื่อว่าฝ่ายค้านจะไม่เข้าร่วมเจรจา เพราะขณะนี้ได้อยู่บนถนนแล้ว คำว่าคนกลาง ที่หลายๆฝ่ายคิดว่าเหมาะสม ผมคิดว่ารัฐบาลไม่น่าจะขัดข้อง
"ขณะนี้รัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องการใช้ความรุนแรง ที่การชุมนุมพยายามบีบบังคับให้เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายเสี่ยงให้เกิดความรุนแรง โดยรัฐบาลยืนกระต่ายขาเดียว คือไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นการป้องกันการนำไปสู่รัฐประหาร รวมทั้งชี้แจงสังคมให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในลักษณะที่คล้ายกับรัฐประหาร หากการชุมนุมสำเร็จ และในขณะนี้รัฐบาลไม่มีวิธีการอื่น นอกจากการที่จะลดความเสียหายของอาคารสถานที่ และชีวิต ความปลอดภัยของข้าราชการเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังเป็นจุดอ่อนคือรัฐบาล ยังชี้แจงน้อยเกินไป ต้องชี้แจงมากขึ้น แต่จะทำอะไรในเชิงรุก เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างเป็นรูปธรรมนั้น เป็นเรื่องที่มีความจำกัดอย่างมาก ถ้ามีการรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัดมากไป จะเกิดความรุนแรงตามมา และคงทราบกันดีว่าจะเกิดผลอย่างไรกับรัฐบาลที่ไม่ได้มีภูมิคุ้มกันมากมาย หากนายกรัฐมนตรีใช้กำลังทหารเข้าไปจัดการกับผู้ชุมนุม ผมคิดว่าจะเข้าทางผู้ชุมนุม และนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่า และการที่รัฐบาลกำชับไม่ให้ใช้ความรุนแรงถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ต่างจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ที่ขาดความชอบธรรมจากการใช้ความรุนแรงกับประชาชน”
"ข้อเรียกร้องโค่นระบอบทักษิณนั้น มีลักษณะเป็นนามธรรม ไม่สามารถแจกแจงได้ ความหมายของการหมดสิ้นไปของระบอบทักษิณ ไม่มีความชัดเจน ซึ่งการเรียกร้องลักษณะนี้เป็นการใช้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล และข้อเรียกร้องนี้เคยมีขึ้นก่อนรัฐประหารปี 2549 อยู่แล้ว ซึ่งได้พิสูจน์ว่า ข้อเรียกร้องนี้นำไปสู่การล้มระบอบประชาธิปไตย สถานการณ์ขณะนี้ผม รวมถึงแกนนำนปช.จะพยายามไปพูดกับมวลชนของตัวเอง ให้อดทนอดกลั้น ไม่ให้ใช้ความรุนแรงตอบโต้"
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่รัฐบาลกำชับไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง เพราะกลัวว่าจะซ้ำรอยตามรัฐบาลชุดก่อนใช่หรือไม่ นายจาตุรนต์กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่ง เพราะจากพัฒนาการทางการเมืองที่ผ่านมาได้พิสูจน์ว่าการรักษากฎหมายไม่ใช่เรื่องทำได้ง่าย เมื่อเจอกับการชุมนุมแบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย ซึ่งการให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น อาจเป็นสิ่งที่แกนนำผู้ชุมนุมอาจต้องการให้เกิดขึ้นด้วย ทำให้สังคมอยู่ในสภาพที่อึดอัด
โดยสิ่งที่ต้องคิดถึงคือความปลอดภัยของประชาชน และระบอบการปกครอง เหนือกว่าความอยู่รอดของรัฐบาล อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการชุมนุมครั้งนี้ที่มีคนออกมามากเป็นพิเศษเกิดจากการต้านกฎหมายนิรโทษกรรม แต่เงื่อนไขนี้ได้จบไปแล้ว
เลือกตั้ง กทม.-เมืองพัทยา ยังไร้เรื่องทุจริต คาดรู้ผลไม่เป็นทางการ 3 ทุ่ม
22 พ.ค. 2565 | 13:41เตรียมพร้อมเปิดประชุม "วุฒิสภา" ฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อห้องประชุม-พื้นที่โดยรอบ
22 พ.ค. 2565 | 13:15อย่าสับสน "สีบัตรเลือกตั้ง" สีน้ำตาลเลือก "ผู้ว่าฯกทม." สีชมพูเลือก ส.ก.
22 พ.ค. 2565 | 13:158 ปีรัฐประหาร VS ศึกผู้ว่าฯ กทม. สัญญาณ "ประยุทธ์-คสช." ไปต่อ ?
22 พ.ค. 2565 | 13:00“พิธา” ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” รำลึก 22 พ.ค.ประชาธิปไตยถูกประหาร
22 พ.ค. 2565 | 12:54