ถอดรหัสไซส์ 'เพื่อไทย' 200 เสียง ปิดฉากรัฐบาลพรรคเดียว

ถอดรหัสไซส์ 'เพื่อไทย' 200 เสียง ปิดฉากรัฐบาลพรรคเดียว

"ทักษิณ ชินวัตร" ตั้งเป้าหมาย "พรรคเพื่อไทย" ต้องได้ สส.ไม่ต่ำกว่า 200 ที่นั่งทั่วประเทศ โอกาส "เพื่อไทย"จะได้ สส.ตามเป้าในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2570 คงไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อ "พรรคภูมิใจไทย-พรรคประชาชน" เป็นคู่แข่งที่รอแบ่งแต้มในภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือ

KEY

POINTS

  • “เพื่อไทย 200 เสียง” ดูไม่ง่ายนัก เพราะต้องทวง สส.คืนในพื้นที่สีส้มของ “พรรคประชาชน” และพื้นที่สีน้ำเงินของ “พรรคภูมิใจไทย”ให้ได้มากที่สุด 
  • เลือกตั้งใหญ่ปี 2566 "เพื่อไทย" ยังครองที่หนึ่งในภาคอีสาน กวาด สส.73 เสียง ส่วน "พรรคภูมิใจไทย" ได้ 35 เสียง
  • "ทักษิณ" วางเป้ากำหนดไซส์ "พรรคเพื่อไทย" เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคร่วมรัฐบาลไม่มากในการเลือกตั้งครั้งหน้า
  • "ภาคอีสาน" และ "ภาคเหนือ" และภาคกลางบางจังหวัด คือพื้นที่ที่ "พรรคเพื่อไทย" ต้องการได้ สส.มากที่สุด

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเดินทางมาเกือบจะครบ 2 ปีเต็มหลังการเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง จัดตั้งรัฐบาลใหม่ 1 ครั้ง เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีจาก “เศรษฐา ทวีสิน” มาถึง “แพทองธาร ชินวัตร”

พรรคเพื่อไทย ได้ “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้นำแห่งจิตวิญญาณกลับมาเป็นศูนย์กลางอำนาจของบรรดา สส.และรัฐมนตรีในช่วงกลางปี 2567 เดินสายโชว์วิชั่นผ่านเวทีสาธารณะและเวทีหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น

ถึงจังหวะชี้เป็นชี้ตายทางการเมือง หรือปิดดีลทางการเมือง ทุกขั้วการเมืองที่เป็นพันธมิตรพรรคร่วมรัฐบาลจะมุ่งตรงไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้า

ช่วงปลายปี 2567 ถึงต้นปี 2568 “ทักษิณ” ตระเวนปราศรัยช่วยผู้สมัครนายก อบจ.ในภาคอีสาน ภาคเหนือเป็นหลัก เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นฐานที่มั่นสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย

ถอดรหัสไซส์ \'เพื่อไทย\' 200 เสียง ปิดฉากรัฐบาลพรรคเดียว

เจาะไปที่ภาคอีสาน เลือกตั้งปี 2566 มีจำนวน สส.เขตมากที่สุด 133 เขต

พรรคเพื่อไทย ครองเสียงมาอันดับ 1 ได้ สส.อีสาน 73 เสียง ประกอบด้วย จ.อุดรธานี 7 คน (จาก 9 เขต) จ.ขอนแก่น 6 คน (จาก 11 เขต) จ.นครราชสีมา 12 คน (จาก 16 เขต) จ.ร้อยเอ็ด 5 คน (จาก 8 เขต) จ.สุรินทร์ 3 คน (จาก 8 เขต)

จ.ศรีสะเกษ 7 คน (จาก 9 เขต) จ.นครพนม 2 คน (จาก 4 เขต) จ.อุบลราชธานี 4 คน (จาก 11 เขต) จ.เลย 3 คน (จาก 4 เขต) จ.มหาสารคาม 5 คน ( จาก 6 เขต)

จ.หนองบัวลำภู 3 คน (3 เขต ยกจังหวัด) จ.ชัยภูมิ 3 คน ( จาก 7 เขต) จ.หนองคาย 2 คน (จาก 3 เขต) จ.สกลนคร 5 คน ( จาก 7 เขต) จ.กาฬสินธ์ 4 คน ( จาก 6 เขต) จ.บึงกาฬ 1 คน (จาก 3 เขต) และ จ.ยโสธร 1คน (จาก 3 เขต)

ขณะที่พรรคการเมืองอื่นนั้น พบว่าภาคอีสานเป็นพื้นที่มั่น ที่ค่ายสีน้ำเงิน พรรคภูมิใจไทย มาแชร์ฐานเสียงจากพรรคเพื่อไทยมากที่สุด 35 ที่นั่ง รองลงมาเป็น พลังประชารัฐ 7 ที่นั่ง ก้าวไกล 7 ที่นั่ง ไทยสร้างไทย 5 ที่นั่ง เพื่อไทรวมพลัง 2 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 2 ที่นั่งและชาติไทยพัฒนา 1 ที่นั่ง

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าจะเกิดขึ้นในปี 2570 ในกรณีรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรอยู่ครบวาระ 4 ปี พรรคเพื่อไทย เตรียมความพร้อมลองเชิงอุ่นเครื่องไปกับบรรยากาศหาเสียงเลือกตั้งผ่านเวทีท้องถิ่น

“ทักษิณ” ออกหน้านำทัพเองในการเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด เมื่อเสร็จศึกสมรภูมินายก อบจ. ภาพรวมทั่วประเทศ ค่ายแดง “พรรคเพื่อไทย” กวาดไปได้ถึง 20 จังหวัด

สำหรับจังหวัดที่ชนะในระหว่างที่ “ทักษิณ” กลับมาเคลื่อนไหวเปิดหน้าสู้จนชนะศึกทางการเมืองอย่างเต็มตัว ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.น่าน จ.นครราชสีมา จ.สกลนคร จ.หนองคาย จ.มหาสารคาม จ.นครพนม จ.ปราจีนบุรี จ.อุุดรธานี จ.อุบลราชธานี

ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.แม้จะพลาดเป้าไป จนทำให้ทักษิณระบุว่า“ผมไม่มีมนต์ขลังอะไร แก่ขนาดนี้ สาวๆ ยังไม่มองเลย คนส่วนใหญ่เกิน 40 ปีถึงจะจำผมได้”

“มองว่า แย่ๆ คงมี (สส.) 200 ขึ้น” ทักษิณ ยังคงการันตีคำเดิมว่า “ค่ายแดง”จะได้ 200 บวกในศึกเลือกตั้งครั้งหน้า

"ทักษิณ"ยังย้ำว่า “ไม่อยากเป็นพรรคเดียวแล้วแหละ เพราะนกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน ไม่ดี ต้องมีเพื่อน แต่เยอะมากก็ไม่ดี ปวดหัว”

พท. 200 เสียง ปิดฉากรัฐบาลพรรคเดียว

สมการเลือกตั้งปี 2570 พรรคเพื่อไทย โดยการอ่านเกมและวางหมากของ “นายใหญ่” มองว่าสถานการณ์ของเพื่อไทยคงยากจะแลนด์สไลด์ นั่นหมายถึงการปิดฉากรัฐบาลพรรคเดียว 

แต่การจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ อย่างน้อยต้องได้เสียงไม่ต่ำกว่า 200 เพื่อจับมือกับพันธมิตรทางการเมืองที่มีอำนาจต่อรองไม่มากเข้าร่วมรัฐบาล

ถอดรหัสไซส์ \'เพื่อไทย\' 200 เสียง ปิดฉากรัฐบาลพรรคเดียว

ถอดบทเรียนการเลือกตั้งปี 2566 “ทักษิณ” ไม่ต้องการให้มีพรรคร่วมรัฐบาล และเพื่อนเยอะจนเกินไป ยิ่งถ้าได้เพื่อนที่มีอำนาจทางการเมืองต่อรองสูง การขับเคลื่อนผลงานต่างๆ ก็จะเป็นไปได้อย่างยากลำบาก

ย้อนไปการเลือกตั้งทั่วไปตั้งแต่ปี 2544 พรรคไทยรักไทย ได้เสียงเด็ดขาดจัดตั้งรัฐบาล ชนะเลือกตั้งได้ สส. 248 เสียงจากทั้งหมด 500 ที่นั่ง สามารถนำรัฐบาลอยู่ครบวาระ 4 ปีสร้างผลงานเป็นที่จดจำของประชาชนมาจนทุกวันนี้

ปี 2548 พรรคไทยรักไทย กวาดแลนด์สไลด์ 377 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 96 ที่นั่ง เป็นครั้งประวัติศาสตร์ของการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวสำเร็จ ทว่า อายุรัฐบาลไทยรักไทยเทอม 2 กลับบริหารประเทศได้ 1 ปีกว่าๆ

ปี 2550 พรรคไทยรักไทย เปลี่ยนแบรนด์มาเป็น พรรคพลังประชาชน กวาด สส.ไปมากที่สุด 233 ที่นั่ง จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ก่อนอยู่ไม่ถึงปี ก็ถูกยุบพรรค นายกฯ ต้องถูกปลด 2 คน สส.อีสานในกลุ่มเพื่อนเนวิน แตกหักออกไปร่วมพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์

ปี 2554 พรรคเพื่อไทย ชู “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกฯ ชนะเลือกตั้งได้ สส.เกินครึ่ง 265 ที่นั่ง จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชน พรรคประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งขนาดพรรคร่วมรัฐบาลเพียงเท่านี้ ทำให้การบริหารประเทศไร้การต่อรองจากพรรคร่วมรัฐบาล

ถอดรหัสไซส์ \'เพื่อไทย\' 200 เสียง ปิดฉากรัฐบาลพรรคเดียว

เลือกตั้งปี 2566 “พรรคเพื่อไทย” ถูกแบ่งฐานเสียงไปโดยพรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย

หนักที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร “พรรคเพื่อไทย”ตั้งเป้าจะกวาด สส.ให้ได้มากที่สุดก็ถูก พรรคก้าวไกลกินรวบเกือบยกจังหวัด

จังหวัดภาคเหนือที่เคยเป็นเมืองหลวงชินวัตรแดงยกจังหวัด ก็ถูกค่ายสีส้มทะลวงฐานที่มั่นใน จ.เชียงใหม่ ได้ สส.มาเพียง 2 คนจาก 11 เขต จ.เชียงราย ถูกแชร์ที่นั่งไปจากพรรคก้าวไกล 2 คน จาก 7 เขต

ภาคอีสานที่ตั้งเป้ายกจังหวัดก็แพ้พลังสีส้มในเขตเมือง คือ จ.อุดรธานี จ.ขอนแก่น 

พท. ทวง สส.พื้นที่น้ำเงิน-ส้ม

แน่นอนว่า สมการ สส. 200 เสียงของเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะต้องทวงคืนพื้นที่ที่เคยเป็นฐานเสียงหลักของพรรคกลับมาให้มากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในภาคอีสานและภาคเหนือที่ถูกพรรคภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล หรือพรรคประชาชน ในปัจจุบันแบ่งแต้มไป

จังหวัดที่ทักษิณตั้งเป้าขอทวงคืน สส.มากที่สุด โดยเฉพาะจังหวัดที่เพิ่งกรำศึกชนะนายก อบจ. คือ จ.เชียงใหม่ จ.มหาสารคาม จ.หนองคาย จ.นครพนม จ.อุตรดิตถ์ จ.น่าน จ.ยโสธร จ.สกลนคร จ.แพร่ จ.อุดรธานี จ.สุโขทัย จ.ร้อยเอ็ด จ.กาญจนบุรี จ.กาฬสินธุ์ จ.ลำปาง จ.ฉะเชิงเทรา จ.นครราชสีมา

ภาคเหนือ 37 เขตเลือกตั้งแม้จะมี สส.ไม่มากเท่าภาคอีสาน แต่พรรคเพื่อไทยก็ต้องการที่นั่ง สส.ให้มากที่สุด เพื่อหนุนส่งให้เป็นแกนนำรัฐบาลอีกสมัย

สำหรับโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะได้ สส.ยกจังหวัดในครั้งหน้าสูง โดยเฉพาะ จ.แพร่ จังหวัดนี้เป็นจังหวัดเดียวในภาคเหนือที่ฐานเสียงเข้มแข็งชนะยกจังหวัดทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ส่วนภาคเหนือที่มีโอกาสยกจังหวัดสีแดง จ.สุโขทัย จ.น่าน จ.อุตรดิตถ์

ภาคอีสานที่มีโอกาสยกจังหวัด จ.หนองคาย จ.นครพนม จ.มหาสารคาม จ.สกลนนคร จ.หนองบัวลำภู ขณะที่ ขอนแก่น อุดรธานี ต้องสู้กับพรรคสีส้มในเขตเมืองหนัก

ถอดรหัสไซส์ \'เพื่อไทย\' 200 เสียง ปิดฉากรัฐบาลพรรคเดียว

ส่วนภาคอื่นนั้นต้องลุ้นที่ จ.กาญจนบุรี 5 เขตจะกินรวบได้ยกจังหวัดหรือไม่ รวมถึง จ.ฉะเชิงเทรา ฐานที่มั่นของพ่อมดดำ และตระกูลฉายแสง

สมการเลือกตั้ง “เพื่อไทย 200 เสียง” ดูไม่ง่ายนัก สำหรับการอ่านเกมของ “ทักษิณ” แต่ก็ยังมีโอกาส เพียงแต่ต้องแย่ง สส.คืนในพื้นที่สีส้มของ “พรรคประชาชน” และพื้นที่สีน้ำเงินของ “พรรคภูมิใจไทย”ให้ได้มากที่สุด ขณะที่ภาคใต้ ไม่ใช่ฐานเสียงที่ “พรรคเพื่อไทย” จะคาดหวังเก้าอี้ สส.

กระดานเลือกตั้งระดับชาติ ปัจจัยไม่เหมือนเลือกตั้งท้องถิ่น ที่อาศัยกำลังจัดตั้งของบ้านใหญ่เพียงอย่างเดียว

หากผลงานของรัฐบาลยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม โอกาสที่เพื่อไทยจะทำได้จริง อาจถูกลืมเลือนได้ในสายตาประชาชน ซึ่งย่อมส่งผลถึง 200 เสียงที่ “นายใหญ่” ตั้งเป้าไว้