6 วาระปฏิรูปประเทศปี 68 ในมุม 'พริษฐ์' ชี้ '2 ต.' ความท้าทายใหม่นายกฯ

6 วาระปฏิรูปประเทศปี 68 ในมุม 'พริษฐ์' ชี้ '2 ต.' ความท้าทายใหม่นายกฯ

'ไอติม พริษฐ์' โพสต์ 6 วาระการปฏิรูปประเทศในปี 68 ทำการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย-ทำ รธน.ใหม่ฉบับประชาชน พ่วงความท้าทาย '2 ต.' ที่นายกฯอาจต้องเผชิญ ทั้งปม 'ต่างคนต่างอยู่-ตัวประกัน'

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2567 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึง 6 วาระการปฏิรูปประเทศสำหรับปี 2568 และ ความท้าทาย “2 ต.” ที่นายกฯอาจต้องเผชิญ ว่า วันก่อน ได้อภิปรายในเวทีสาธารณะที่ มธ. เกี่ยวกับทิศทางประเทศไทย 2568 โดยได้สรุปถึงวาระการปฏิรูประเทศใน 6 ด้าน ที่เห็นว่ามีความสำคัญ ได้แก่

1. ปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย โดยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน
2. ปฏิรูปกองทัพให้อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนตามหลักสากล โดยการทบทวนอำนาจ-ที่มาสภากลาโหม
3. ปฏิรูปรัฐราชการให้มีความคล่องตัว โดยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
4. ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยการป้องกันการผูกขาด
5. ปฏิรูประบบสวัสดิการให้ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยต้องทำควบคู่กับการปฏิรูประบบภาษี
6. ปฏิรูปการศึกษาให้เท่าทันโลก โดยการจัดทำหลักสูตรฉบับใหม่และยกระดับทักษะคนทุกช่วงวัย

"แม้ผมหวังว่านายกฯจะกล่าวถึงแผนและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ 6 วาระดังกล่าวในวันที่ 12 ธ.ค. และสามารถผลักดันวาระการปฏิรูปดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้จริง แต่ผมเห็นว่าสภาวะทางการเมืองปัจจุบันอาจทำให้นายกฯต้องเผชิญกับความท้าทายในการปฏิรูปประเทศ ในรูปแบบที่ผมเรียกว่า 2 ต." นายพริษฐ์ ระบุ

โดย 2 ต. ได้แก่ ต. ที่ 1 (หากมองโลกในแง่ดี) = ครม. ที่พรรครัฐบาล “ต่างคนต่างอยู่” หากเราเชื่อว่าพรรคการเมืองในรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้รวมตัวกันบนพื้นฐานของทิศทางนโยบายที่สอดคล้องกันหรือไม่ได้พยายามหาข้อสรุปเรื่องนโยบายที่เห็นต่างกันให้เสร็จตั้งแต่ก่อนตั้งรัฐบาล สิ่งที่เราอาจจะเห็นคือ ครม. ที่ “ต่างคนต่างอยู่” “ต่างพรรค ต่างทำงานในกระทรวงที่ตนเองรับผิดชอบ” โดยพยายามไม่มาขัดแข้งขัดขา หรือขัดผลประโยชน์กันและกัน ซึ่งจะกลายมาเป็นอุปสรรคอย่างแน่นอนในการผลักดันนโยบายที่ต้องอาศัยการประสานข้ามกระทรวงที่มีรัฐมนตรีต่างพรรค (เช่น การยกระดับทักษะคนทุกช่วงวัย การแก้ปัญหาที่ดินทำกิน การปฏิรูประบบราชการ)

ต. ที่ 2 (หากมองโลกในแง่ร้าย) = ครม. ที่มีพรรคแกนนำรัฐบาลเป็น “ตัวประกัน” หากเราชื่อว่านายกฯและพรรคแกนนำรัฐบาลชุดนี้ได้เข้าสู่และดำรงอยู่ในอำนาจได้เพราะการสนับสนุนของบางกลุ่มที่เราอาจจะไม่สามารถอธิบายได้จากเพียงคณิตศาสตร์การเมืองในสภาผู้แทนราษฎร สิ่งที่เราอาจจะเห็นคือ ครม. ที่มีพรรคแกนนำรัฐบาลตกอยู่ในสภาวะ “ตัวประกัน” ที่ไม่สามารถผลักดันวาระการปฏิรูปประเทศได้ ตราบใดที่ขัดผลประโยชน์กับกลุ่มดังกล่าวตั้งแต่ การปฏิรูปกองทัพ การแก้ปัญหาทุนผูกขาด (เช่น การผูกขาดและผลประโยชน์ทับซ้อนในภาคพลังงาน) หรือการปฏิรูปในด้านที่กระทบต่ออำนาจของพรรคร่วมรัฐบาลและพันธมิตรของเขาในรัฐสภา (เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น)