บรรลุเป้าหมาย 'ปานปรีย์' มอบสภาพัฒน์ฯ ถกกฤษฎีกายกเลิก พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศ

บรรลุเป้าหมาย 'ปานปรีย์' มอบสภาพัฒน์ฯ ถกกฤษฎีกายกเลิก พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศ

'ปานปรีย์' มอบสภาพัฒน์ฯ ถกกฤษฎีกายกเลิก พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศ เสี่ยงขัด รธน.มาตรา 259 หลัง กก.ยุทธศาสตร์ชาติมีมติโละกฎหมายดังกล่าว หลังจากบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปประเทศแล้ว

ที่รัฐสภา 11 มี.ค.2567 ในการประชุมวุฒิสภา นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ได้ตอบกระทู้ถามของนายเฉลิยชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ถึงการยกเลิกพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ 2560 หลังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีมติให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ตามรายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่กฎหมายหมดความจำเป็น และบรรลุเป้าหมายตามแผนการปฏิรูปประเทศแล้ว ทั้งที่ยังมีประเด็นการปฏิรูปประเทศอีกจำนวนมาก และการปฏิรูปพรรคการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้ง การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การศึกษา ก็ยังไม่สบความสำเร็จ

นายปานปรีย์ ชี้แจงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีมติรับทราบการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติ และพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ตามที่สภาพัฒน์ฯ เสนอ ตามหลักเกณฑ์การประเมินผลสัมฤทธิ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่จะต้องประเมินผลสัมฤทธิ์ทุก 5 ปี 

อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศนั้น ผู้ให้ความเห็น ร้อยละ 84.44 เห็นว่า ควรยกเลิกกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากหมดความจำเป็นแล้ว โดยให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศผ่านแผนระดับที่ 2 และ 3 แทน และหากมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายมา
รองรับ คณะรัฐมนตรีก็สามารถดำเนินการผ่านการตรากฎหมายลำดับรองต่อไปได้ แม้กฎหมายจะสิ้นสุดลง แต่การดำเนินการปฏิรูป ยังคงดำเนินการต่อผ่านกลไกอื่นๆ 

"ดังนั้น กฎหมายจึงหมดความจำเป็นแล้ว เพราะการดำเนินการตามแผน บรรลุสัมฤทธิ์ผลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 257-258 แล้ว ส่งผลให้กฎหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันของพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ 2562 และการยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ไม่กระทบต่อยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายรัฐบาลในระยะต่อไป โดยหน่วยงานรัฐ สามารถดำเนินการปฏิรูปต่อในแผนลำดับที่ 2 และ 3 ได้" นายปานปรีย์ กล่าว

สำหรับการปฏิรูปการเมือง กระบวนการยุติธรรม การศึกษา และระบบราชการนั้น นายปานปรีย์ ยืนยันว่า เรื่องเหล่านี้จำเป็นจะต้องมีการเร่งดำเนินการต่อไป

นายปานปรีย์ ยังชี้แจงกรณีที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 259 กำหนดให้มีพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กลับให้มีมติยกเลิก จึงอาจจะเป็นการใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ โดยยืนยันว่า เงื่อนไขขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หน่วยงานราชการ และรัฐบาลได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแล้ว และจะไม่มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าว 

โดยแผนระดับ 2 และระดับ 3 นั้น ก็จะต้องมีการดำเนินการต่อไปและรัฐบาล จะมอบหมายให้สภาพัฒน์ฯ นำไปหารือกับกฤษฎีกาต่อไปว่า การยกเลิกกฎหมายดังกล่าว จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากไม่ขัด ก็จะต้องมีแผนการดำเนินการการปฏิรูปประเทศต่อไป หรือหากขัดรัฐธรรมนูญ ก็ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้