ได้กลิ่น ‘สภาชิน’ 2567 ‘สว.บ้านใหญ่’ ครองเมือง

ได้กลิ่น ‘สภาชิน’  2567 ‘สว.บ้านใหญ่’ ครองเมือง

พ.ศ.นี้ คล้ายสายลมพัดหวน ผู้คนได้กลิ่น"สภาชิน" และระบอบกินรวบ คาดว่าโฉมหน้า สว.ชุดใหม่ 200 คน จะมาจากเครือข่ายบ้านใหญ่ มากกว่า 70% พลันที่มีชื่อ "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" น้องเขยทักษิณ ลงสมัคร สว. หลายคนก็มองข้ามช็อตว่า นี่คือว่าที่ "ประธานวุฒิสภา"

KEY

POINTS

  • “สภาชิน” ในยุค สุชน ชาลีเครือ นั่งเป็นประธานวุฒิสภา  สว.ยุคนั้นมีบทบาทสำคัญมากในการแต่งตั้ง กกต. ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ
  •  การเลือก สว.ชุดใหม่ 2567 เหมือนการจัดขุมกำลังในสภาสูงใหม่ หลัง สว.ชุด คสช.แต่งตั้งหมดวาระลง
  •  คาดว่า โฉมหน้า สว.ชุดใหม่ 200 คน จะมาจากเครือข่ายบ้านใหญ่ มากกว่า 70%  สว.กลุ่มอิสระ ไม่มีขั้วสี 20% และ สว.ประชาชน ไม่ถึง 10% 
  • พลันที่มีชื่อ สมชาย วงศ์สวัสดิ์  น้องเขยทักษิณ ชินวัตร ลงสมัคร สว. หลายคนก็มองข้ามช็อตว่า นี่คือว่าที่ "ประธานวุฒิสภา"

 

ต้องบันทึกไว้ว่า การเลือกสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ปี 2567 เป็นการเลือกที่ซับซ้อน และเงียบเชียบที่สุดในโลก

แม้ กกต.จะคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะมีผู้สมัคร สว.มากถึง 1 แสนคน เมื่อถึงวันปิดการรับสมัคร ตัวเลขผู้สมัคร สว.ทั่วประเทศ กลับมีไม่ถึง 5 หมื่นคน

ก่อนหน้านี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และพลพรรคสีส้ม จะเดินสายปลุกประชาชนให้มาสมัคร สว. ถึงขั้นมีแคมเปญ “1 ครอบครัว 1 ผู้สมัคร สว.” ก็ได้ผลน้อยมาก เพราะคนส่วนใหญ่มองว่า กติกาซับซ้อน ระเบียบการหยุมหยิม และต้องจ่ายค่าสมัครคนละ 2,500 บาท

จับอาการแกนนำสีส้มหลายคน ส่งสัญญาณถอดใจ ขนาด“กลุ่ม สว.คนดี” ที่มีการเตรียมการก่อนใครเพื่อน โดย สว.ชุดร่างทรง คสช.บางกลุ่ม ก็ยังถอดใจเหมือนกัน

ในความเงียบ ก็มีความอึกทึกครึกโครมเกิดขึ้น เมื่อ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปสมัคร สว.ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

พลันที่มีชื่อ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ สามีเจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และน้องเขยทักษิณ ชินวัตร ลงสมัคร สว. หลายคนก็มองข้ามช็อตไปเลยว่า นี่คือว่าที่ประธานวุฒิสภา

ได้กลิ่น ‘สภาชิน’  2567 ‘สว.บ้านใหญ่’ ครองเมือง

ขณะที่ ธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการที่รู้จักมักคุ้นกับคนเพื่อไทยในอดีต ได้ให้สัมภาษณ์สื่อบางสำนักว่า พรรคเพื่อไทยต้องการทำสงครามสั่งสอนพรรคสีส้ม และปักธงการเมืองทุกระดับในเชียงใหม่

ลึกๆ แล้ว บ้านใหญ่แม่ริม คงไม่ได้คิดแค่สมรภูมิการเมืองเชียงใหม่ เพราะการเลือก สว.ชุดใหม่ เหมือนการจัดขุมกำลังในสภาสูงใหม่ หลัง สว.ชุด คสช.แต่งตั้งหมดวาระลง

การมุ่งยึดสภาสูง เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ และแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในองค์อิสระ ไม่ได้มีแค่พลพรรคสีส้มที่คิดถึงเรื่องนี้ นายใหญ่บ้านจันทร์ส่องหล้า ก็มองเห็นโอกาสทางการเมืองเหมือนกัน เพราะกติกาเลือกตั้งอันซับซ้อน เปิดช่องให้คนบางกลุ่มได้ประโยชน์

ด้วยการออกแบบเลือก สว.แบบเลือกกันเอง และมีกติกาซับซ้อน จึงมีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการเอื้อให้คนมีเครือข่าย และมีเงินทุนได้เปรียบ

กกต.แถลงข่าวเสียงขึงขังว่า จะปิดประตูการฮั้ว เพื่อให้การคัดเลือก สว.เป็นแบบระบบปิด 100% ปราศจากอิทธิพลของพรรคการเมือง แต่ในความเป็นจริงในต่างจังหวัด กลับตรงกันข้ามกับที่ กกต.ที่วาดหวัง

จากการติดตามสอบถามข้อมูลในพื้นที่พบว่า มีตัวแทนกลุ่มการเมืองเข้าไปเคลื่อนไหวรวมกลุ่มผู้สมัคร สว.ตามหมู่บ้านต่างๆ โดยทำกันอย่างเป็นขบวนการ

อย่างในภาคตะวันตก นักการเมือง "บ้านใหญ่"ได้วางตัวผู้สมัคร สว.ไว้ทุกอำเภอ โดยเน้นผู้สมัครในกลุ่มการศึกษา กลุ่มการสาธารณสุข กลุ่มอาชีพทำนา กลุ่มอาชีพทำสวน กลุ่มเอสเอ็มอี ฯลฯ

กลยุทธ์ของบ้านใหญ่คือ จ่ายให้ผู้สมัคร สว.คนละ 5,000 บาท แบ่งเป็นค่าสมัคร 2,500 บาท และค่าเดินทาง 2,500 บาท

นี่เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งระดับอำเภอ ส่วนระดับจังหวัด และระดับประเทศ ก็จะมีการดูแลเป็นลำดับไป

มีข้อมูลทางภาคเหนือ กลุ่มบ้านใหญ่ได้วางตัวผู้สมัคร สว.ไว้ทุกจังหวัด ครบทุกกลุ่มอาชีพ เช่นเดียวกับภาคอีสาน มีนักการเมืองจะนำผู้สมัคร สว.มาติวเข้มถึงเรื่องกติกา และวิธีการเลือกกันเอง โดยการฮั้วแบบเนียนๆ ไม่ให้ กกต.จับผิดได้

ในภาคใต้ กลุ่มบ้านใหญ่ก็ใช้กลยุทธ์เดียวกันวางเครือข่าย และมอบค่าใช้จ่ายให้คนละ 1 หมื่นบาท สำหรับการเดินทางไปสมัครเป็นโหวตเตอร์

หากประเมินจากการเคลื่อนไหวของบ้านใหญ่ หนีไม่พ้นเกมฮั้วเลือก สว. และจะตามมาด้วยการร้องเรียนมากมาย จนทำให้ กกต.ประกาศผลไม่ได้

คาดว่า โฉมหน้า สว.ชุดใหม่ 200 คน น่าจะมี สว.ที่มาจากเครือข่ายบ้านใหญ่มากกว่าร้อยละ 70  สว.กลุ่มอิสระ ไม่มีขั้วสี ร้อยละ 20 และ สว.ประชาชน ไม่ถึงร้อย 10

ดังนั้น สว.ปี 2567 น่าจะมีสภาพไม่ต่างจาก สว.ปี 2543 ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่ง สว.ชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้ง ก็มีองค์ประกอบทั้ง สว.สายบ้านใหญ่ และสายอิสระ

หลังพรรคไทยรักไทย ยึดครองสภาล่างได้เกือบหมด สว.อิสระจำนวนหนึ่ง ก็ไหลมารวมกับ สว.บ้านใหญ่ ทำให้สภาสูง แปรสภาพเป็น “สภาชิน”

หลายคนคงจำภาพ “สภาชิน” ในยุค สุชน ชาลีเครือ นั่งเป็นประธานสภาสูงได้ดี และ สว.ยุคนั้นมีบทบาทสำคัญมากในการแต่งตั้ง กกต.  ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ

สภาชิน ได้ทำให้นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนออกมาส่งเสียงวิพากษ์ว่า นี่คือ"ระบอบทักษิณ" อันนำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชน ที่รับไม่ได้กับระบอบกินรวบ จึงออกมาชุมนุมบนท้องถนนในปี 2549

พ.ศ.นี้ คล้ายสายลมพัดหวน ผู้คนได้กลิ่นสภาชิน และระบอบกินรวบ ซึ่งได้แต่นั่งภาวนา การเมืองไทยอย่าได้ถอยกลับไปเหมือนปี 2547- 48 อีกเลย