'พิธา' พบสหภาพแรงงานเกาหลีใต้ ถกการพัฒนาประเทศ ฝากช่วยดูแลแรงงานไทย

'พิธา' พบสหภาพแรงงานเกาหลีใต้ ถกการพัฒนาประเทศ ฝากช่วยดูแลแรงงานไทย

'พิธา' พบผู้นำสหภาพแรงงานเกาหลีใต้ ถกความสำคัญสิทธิแรงงานในการพัฒนาประเทศ ฝากช่วยดูแลสิทธิแรงงานไทย - นำบทเรียนพัฒนานโยบายแรงงาน 'ก้าวไกล'

เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2567 ที่เกาหลีใต้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เข้าพบสหพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลี (Korean Confederation of Trade Unions) องค์กรที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนการเรียกร้องสิทธิ และสวัสดิการของแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ โดยมี Yang Kyeung-soo ประธานของ KCTU และเป็นอดีตประธานของสหพันธ์แรงงานของบริษัท KIA Motors ให้การต้อนรับ

นายพิธา แลกเปลี่ยนกับ KCTU ในประเด็นสิทธิแรงงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรคก้าวไกล ที่ผ่านมาพรรคได้ผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานที่ครอบคลุมมิติต่างๆ เข้าสู่สภาฯ ถึง 6 ฉบับ และพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่มี สส. มาจากปีกแรงงานอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ สะท้อนว่าเป็นพรรคที่ให้ความสำคัญ และให้บทบาทปีกแรงงานอย่างแท้จริง

\'พิธา\' พบสหภาพแรงงานเกาหลีใต้ ถกการพัฒนาประเทศ ฝากช่วยดูแลแรงงานไทย

นายพิธาได้สอบถามสถานการณ์ และพัฒนาการของสิทธิแรงงานในเกาหลีใต้ เพื่อนำมาเป็นบทเรียนในการพัฒนานโยบายของพรรคก้าวไกล พร้อมกับฝากให้ประธาน Yang Kyeung-soo ช่วยดูแลสิทธิของแรงงานไทยในเกาหลีใต้อีกด้วย

ส่วน Yang Kyeung-soo ได้เล่าถึงความสำคัญ และบทบาทของแรงงานในการสร้างชาติเกาหลี รวมถึงพัฒนาการด้านประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ โดยชี้ให้เห็นว่ามี 3 สิ่งที่สำคัญมากต่อความสำเร็จของกลุ่มแรงงานในเกาหลีใต้ในการเรียกร้องสิทธิต่างๆ นั่นคือ 1) การสั่งสมพลังของประชาชนในการเปลี่ยนแปลง 2) การมีผู้นำทางการเมืองที่เข้าใจสิทธิของกลุ่มแรงงาน และมีความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะสร้างการพัฒนาร่วมกันของกลุ่มทุนกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และ 3) การจัดการ และความเป็นระบบในการเรียกร้อง

 

\'พิธา\' พบสหภาพแรงงานเกาหลีใต้ ถกการพัฒนาประเทศ ฝากช่วยดูแลแรงงานไทย

นายพิธายังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับ KTCU เรื่องการเข้ามามีบทบาทของหุ่นยนต์ (Robotics) และ Generative AI ในภาคอุตสาหกรรม และการหาจุดร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีกับแรงงาน ซึ่งหากรัฐมีการจัดการที่ดี Robotics และ Generative AI เหล่านี้จะทำให้เวลาทำงาน (working hours) ของมนุษย์ลดลง และความปลอดภัย (safety) ในโรงงานมีมากขึ้น จึงมีโอกาสที่จะทำให้สวัสดิภาพ (well-being) และผลิตภาพ (productivity) ของแรงงานเพิ่มขึ้น และทำให้ GDP เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นต้องมีแนวทางพัฒนาศักยภาพแรงงาน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ดีที่สุด

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์