‘เมียวดี’ ฝ่าสมรภูมิรบ ‘มังกร-อินทรี’ จุดเปลี่ยนสงคราม

‘เมียวดี’ ฝ่าสมรภูมิรบ ‘มังกร-อินทรี’ จุดเปลี่ยนสงคราม

สมรภูมิสุดท้าย กะเหรี่ยง KNLA รุกโจมตีทหารเมียนมาแตกทัพ หวังประกาศชัยชนะยึดเมียวดีเบ็ดเสร็จ แต่มินอ่องหล่ายไม่ยอมถอย

จับตามหาอำนาจเข้ามามีเอี่ยวในศึก เมียวดี ของ มินอ่องหล่าย หวังดึงจีนมาปราบทุนจีนสีเทา ฝ่ายต่อต้านก็เปิดการเจรจากับตัวแทนสหรัฐฯ 

หลังรอเวลามา 10 วัน ทหารเมียนมา ไม่ยอมธงขาว ฝ่ายสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) จึงเปิดสงครามครั้งสุดท้าย เพื่อสถาปนาเมืองเมียวดีเป็นอิสระจากการปกครองของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) 

เช้าตรู่วันที่ 20 เม.ย. 2567 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDO) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) เปิดฉากบุกโจมตี พัน.ร.275 สังกัด พล.ร.เบา 44 ซึ่งกระจายกำลังอยู่บริเวณด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 (ฝั่งเมียวดี) บ้านเหย่ปู่ เมืองเมียวดี จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามบ้านวังตะเคียนใต้ ม.7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ห่างจากแนวชายแดนประมาณ 1.5 กม.

‘เมียวดี’ ฝ่าสมรภูมิรบ ‘มังกร-อินทรี’ จุดเปลี่ยนสงคราม

การสู้รบดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน (20 เม.ย.67) แต่ทหาร KNLA,KNDO และ PDF ยังเผด็จศึกไม่ได้ เพราะทหารเมียนมา ขอการสนับสนุนจากเครื่องบินทิ้งระเบิด และ ฮ.ติดอาวุธ 

ปรากฏว่า เครื่องบินรบ MiG 29 ,JF17 และ YAK 130 ของ ทอ.เมียนมา ได้บินมาทิ้งระเบิดหลายระลอก ทั้งกลางวันและกลางคืน

รอประกาศชัยชนะ

นับแต่กองกำลังฝ่ายต่อต้านประกอบด้วย KNLA KNDO และ PDF บุกยึดค่ายผาซอง กองพัน 275 ซึ่งเป็นฐานสุดท้ายได้เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2567 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ก็ยังไม่ได้เข้ามาบริหารเมืองเมียวดี

‘เมียวดี’ ฝ่าสมรภูมิรบ ‘มังกร-อินทรี’ จุดเปลี่ยนสงคราม

เมื่อเร็วๆนี้ พะโด่ ซอตอนี โฆษก KNU ยอมรับว่า ยังประกาศชัยชนะไม่ได้ ต้องรอให้ปฏิบัติการทางทหารแล้วเสร็จ จึงจะเข้าไปบริหารจัดการเมืองเมียวดี 

จริงๆแล้ว เฉพาะพื้นที่ เขตเศรษฐกิจเมืองเมียวดี อยู่ในการดูแลควบคุมของกองทัพกะเหรี่ยงแห่งชาติ (KNA) หรือกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ภายใต้การนำของ พ.อ.ซอชิตตู่ หรือ หม่องชิดตู่

หม่องชิดตู่ ไม่ประสงค์จะให้เกิดสงครามภายในตัวเมืองเมียวดี เพราะกลัวว่า จะกระทบไปถึงเขตเมืองใหม่ชเวโก๊กโก่ และเคเคพาร์ค รวมถึงกาสิโนอีกหลายสิบแห่งในเมียวดี

‘เมียวดี’ ฝ่าสมรภูมิรบ ‘มังกร-อินทรี’ จุดเปลี่ยนสงคราม

ส่วนกลุ่มยังเติร์กใน KNU ที่คุมกำลังกองทัพกะเหรี่ยง KNLA,KNDO และ PDF ต้องการยึดให้เบ็ดเสร็จ ขับไล่ทหารเมียนมาออกไปให้หมดและจัดระเบียบราขการใหม่

ปฏิบัติการอ่องเซยะ

มีข้อน่าสังเกตว่า ทหารเมียนมาเกือบ 200 นาย กองพัน 275 (พัน.ร.275) สังกัดกองพลทหารราบเบาที่ 44 (พล.ร.เบา 44) ที่ถอนตัวออกจากค่ายผาซอง มาปักหลักอยู่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 (ฝั่งเมียวดี) บ้านเหย่ปู่ เมืองเมียวดี จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ตอนแรกดูเหมือนว่า จะยอมจำนน และขอข้ามเข้ามาลี้ภัยในฝั่งไทย

ทำไปทำมา ทหารเมียนมากลุ่มนี้กลับปักหลักสร้างบังเกอร์คล้ายสร้างป้อมค่ายใหม่ ใช้เวลาอยู่ในจุดดังกล่าวมากกว่า 10 วัน 

ตัวละครหลักที่ทำให้ทหารเมียนมาไม่วางปืนคือ พลจัตวาโซมิน แท๊ต ผู้บัญชาการกองพลทหารราบเบาที่ 44 ผู้ควบคุมค่ายผาซอง กองพันทหารราบที่ 275 ได้ประสานกับกองบัญชาการทหารภาคตะวันออกเฉียงใต้ เมืองเมาะละแหม่ง ตลอดเวลา

ก่อนสงกรานต์ กองทัพเมียนมา ได้เปิดยุทธการ ‘อ่องเซยะ’ (ชัยชนะสำเร็จ) เพื่อทวงคืนพื้นที่เมืองเมียวดี โดยเคลื่อนกำลังทหารมาตามทางหลวงเอเชียหมายเลข 1 (AH1) มุ่งหน้าสู่เมืองเมียวดี

ทหารเมียนมาที่เข้าร่วมปฏิบัติการอ่องเซยะ มาจาก 3 กองพลประกอบ ด้วยกองพลที่ 55 จากเมืองกะลอ รัฐฉานใต้, กองพลที่ 44 จากเมืองไจก์โท รัฐมอญ และกองพลที่ 22 จากเมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยง

นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทหารเมียนมา กองพัน 275 ไม่ยอมวางอาวุธ เพราะรอกำลังเสริมที่เคลื่อนพลเข้าใกล้เมืองกอกะเร็ก แต่ทัพเมียนมาก็เจอการต่อต้านจากกองทัพ KNLA และ PDF ทำให้การเคลื่อนพลหยุด ชะงักชั่วคราว

ระวังอินทรี-มังกร

เป้าหมายสูงสุดของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) คือการสร้างมหารัฐกอทูเล เพื่อการปกครองตนเองของชาวกะเหรี่ยง

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของทุกกลุ่มชาติพันธุ์คือ การสู้รบจนกว่าจะชนะ หลังการสู้รบได้ชัยชนะแล้ว จึงจะมาคุยกันว่า จะไปสู่เป้าหมายการเป็นสหพันธรัฐประชาธิปไตยอย่างไร 

โฆษก KNU ยอมรับว่า ปัจจุบัน ได้มีการผนึกกำลังเป็นพันธมิตร K3Cประกอบด้วย KNU, KNPP, CNF, KIO และ NUG ที่มีเป้าหมายกำจัดเผด็จการทหาร และสถาปนาระบอบสหพันธรัฐประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2567 เดเร็ค ชอลเล็ต ที่ปรึกษากระทรวงการต่าง ประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้พบกับตัวแทนกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 4 กลุ่ม และตัวแทนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เพื่อหารือถึงความช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างประเทศ 

กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

  1. กองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA)
  2. กองทัพกะเรนนี (KA)
  3. กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA)
  4. กองทัพแห่งชาติชิน (CNA) 

 

อีกด้านหนึ่ง เมืองเมียวดี ประตูการค้าชายแดนที่ใหญ่ที่สุดของไทย-เมียนมา และเป็นที่ตั้งของธุรกิจสีเทา โดยเฉพาะอาชญากรรมไซเบอร์ของกลุ่มคนจีนหรือทุนจีนสีเทา 

ดังที่ทราบกัน พ.อ.ซอชิดตู่ หรือหม่องชิดตู่ เป็นผู้ควบคุมเมืองเมียวดี รวมถึงเมืองใหม่ชเวโก๊กโก่ และเมืองใหม่เคเคพาร์ค จึงตกเป็นเป้า หมายของทางการจีน ในการกดดันให้กะเหรี่ยง KNA ปราบปรามแก๊งสแกมเมอร์ และกลุ่มทุนจีนสีเทา

‘เมียวดี’ ฝ่าสมรภูมิรบ ‘มังกร-อินทรี’ จุดเปลี่ยนสงคราม

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย คงใช้ความพยายามดึงจีนเข้ามาเกี่ยวข้องกับสงครามในเมียวดี เหมือนครั้งที่จีนหนุน 3 กองทัพชาติพันธุ์ ‘โกก้าง-ตะอาง-อาระกัน’ ในรัฐฉานเหนือ ปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์

เลาก์ก่ายโมเดล อาจเป็นต้นแบบ ‘เมียวดีโมเดล’ เพื่อจัดการทุนจีนสีเทา แต่ฝั่งตะวันตกที่หนุนกะเหรี่ยง KNU จะยอมให้จีนเข้ามามีอิทธิพลในเมืองเมียวดีหรือไม่ 

ดังนั้น สงครามชิงเมียวดี ส่อเค้าจะกลายเป็นศึกยืดเยื้อ และมีแนวโน้มมหาอำนาจจะเข้ามามีเอี่ยวในศึกชิงขุมทรัพย์เมียวดี ทั้งเมืองเก่าและเมืองใหม่ทุนจีนสีเทา