‘เพื่อไทย’ ปักธง ปฏิรูปนิยม มุ่งเป้าใหญ่ หวนชนะเลือกตั้ง

‘เพื่อไทย’ ปักธง ปฏิรูปนิยม มุ่งเป้าใหญ่ หวนชนะเลือกตั้ง

“เพื่อไทย” ยังคงมุ่งหวังผลทางการเมืองผ่านนโยบาย ที่เป็นจุดแข็ง ประกาศแล้วทำสำเร็จมาตั้งแต่สมัยไหน เพื่อใช้เป็นใบเบิกทางสู่เป้าหมายในอนาคต

Key Points

  • เพื่อไทย ที่นิยามตัวเองเป็นพรรคแนวปฏิรูป ผ่านนโยบายการเมือง กำลังเร่งปั้มผลงานปูทางเลือกตั้ง
  • ทักษิณ มั่นใจ อุ๊งอิ๊งค์ นำทีมพลิกเกมได้ไม่ยาก นั่นเท่ากับคนเป็นพ่อ เชื่อมือลูกสาว จะนำทัพคว่ำก้าวไกลได้
  • เศรษฐา นายกฯ ช่วงเปลี่ยนผ่าน ตามมุมมองทักษิณ ก็มุ่งหวังเรียกศรัทธาคืน ประกาศตั้งแต่ไก่โห่ จะพาเพื่อไทย ชนะเลือกตั้งครั้งต่อไป 

การขยับของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ล่าสุด ที่พูดผ่านวีดิทัศน์ที่ทางพรรคเพื่อไทย เปิดระหว่างการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา

น่าจะเป็นการพูดประเด็นการเมืองแบบชัดเจนที่สุดครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่ทักษิณได้รับการพักโทษ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของชายที่ชื่อทักษิณ ว่ายังมีอิทธิพลทางการเมืองสูงชนิดหาตัวจับยาก

เนื้อหาที่ทักษิณ นำเสนอวันนั้น นอกจากจะให้คำแนะนำฐานะผู้มากประสบการณ์ โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของ สส. ที่ต้องเข้าถึงประชาชนแล้ว

ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่การพูดถึงเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมในช่วงเปลี่ยนผ่าน แถมให้ความมั่นใจว่าเศรษฐา สามารถนำพาประเทศได้ เพราะเป็นนักบริหาร มีประสบการณ์ มีเครือข่ายที่ส่งเสริมช่วยเหลือสนับสนุน

คนที่เคยทำงานกับทักษิณ น่าจะทราบดีว่าสไตล์ของอดีตนายกฯ คนนี้ จะมีเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งคือ ชื่นชอบคนที่มีบทบาทเป็นตัวจริงเสียงจริงอยู่ในภาคอุตสาหกรรมนั้นๆ เพราะรู้ดีถึงสภาพความเป็นจริง ปัญหา และการบริหารจัดการด้านต่างๆ ได้

เมื่อมาบริหารบ้านเมือง วิธีคิดเหล่านั้นถือว่ามีประโยชนต่อการทำงานไม่น้อย แม้จะต้องประยุกต์ให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนไปก็ตาม

ในทัศนะของทักษิณ จึงมองว่า เศรษฐา เหมาะสมกับช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ที่หลายสิ่งหลายอย่าง เพื่อไทย ก็อาจจะไม่เคยเจอมาก่อน

ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ว่า ระยะเวลาของเศรษฐา จะอยู่ในอำนาจกับตำแหน่งนายกฯ ครบเทอม 4 ปี ตามที่เคยประกาศหรือไม่ หรือความเปลี่ยนแปลงจะมาเร็วหรือช้ากว่านั้น สถานการณ์นับจากนี้ จะเป็นตัวบ่งบอกได้ดีที่สุด

ทักษิณ เองก็ยังพูดถึงลูกสาวคนเล็ก อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ด้วยความมั่นใจว่า “จะสามารนำทีมพลิกเกมได้ไม่ยาก” ด้วยเหตุผลสำคัญในมุมมองของผู้เป็นพ่อที่ว่า ได้ดีเอ็นเอของพ่อและแม่อย่างคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ จึงน่าจะทำได้ดีกว่าที่ตัวเองเคยทำมาเสียด้วย

จึงอาจคาดการณ์ได้ตามที่สังคมเข้าใจไปก่อนหน้านั้นแล้วว่า หมดจากเศรษฐา ก็ถึงคิวอุ๊งอิ๊งค์ ขึ้นมาแทนนั่นเอง

ดูเหมือนผู้มีอำนาจตัวจริงในเพื่อไทย เตรียมแผนการรองรับเพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว และระหว่างนั้นมีศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ในช่วงต้นปี68 การวางยุทธศาสตร์ผ่านนโยบายฝ่ายบริหาร เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต ที่ยึดไทม์ไลน์เงินถึงมือประชาชน ไตรมาส4 หรือภายในปีนี้ และการเตรียมเดินสายทัวร์อีสานและอีกหลายจังหวัดของทักษิณ ก็เป็นเรื่องที่สอดรับกันทั้งสิ้น

พรรคเพื่อไทย ในจังหวะที่ทักษิณ เคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัว จึงเหมือนกับได้แรงส่งชั้นดี ในการก้าวต่อไปทางการเมือง แม้จะต้องเผชิญกับคู่ต่อสู้ที่แข็งแกร่งอย่างพรรคก้าวไกล ที่ต่างฝ่ายต่างต้องพิสูจน์ตัวเองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ไม่ว่าทักษิณ อุ๊งอิ๊งค์ หรือเพื่อไทยจะปฏิเสธนิยามว่าเป็นหัวหอกของฝ่ายอนุรักษ์นิยมใหม่ เนื่องจากทักษิณมองตัวเองว่าเป็นพรรคที่รีฟอร์ม หรือเป็นพรรคผู้นำในการเปลี่ยนแปลง มาตั้งแต่สมัยไทยรักไทย

หรือยึดตามนิยามอุ๊งอิ๊งค์ ว่าเพื่อไทยคือพรรคปฏิรูปที่ทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าด้วยนโยบาย โดยมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ตรงนี้ก็เป็นความชัดเจนในทางการเมืองว่าเพื่อไทย เลือกวางตัวเองในจุดยืนแบบไหน และที่แน่ๆ ยังคงมุ่งหวังผลทางการเมืองผ่านนโยบาย ที่เป็นจุดแข็งประกาศแล้วทำสำเร็จมาตั้งแต่สมัยไหน เพื่อใช้เป็นใบเบิกทางสู่เป้าหมายในอนาคต

ตามที่เศรษฐา ประกาศศักดาไว้ว่า อย่างเดียวในชีวิตที่ต้องการคือชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป