'เมียนมา' ประสาน 'ไทย' ขอเครื่องบินทหารจอดแม่สอด ลี้ภัย ข้าราชการใน เมียวดี

'เมียนมา' ประสาน 'ไทย' ขอเครื่องบินทหารจอดแม่สอด ลี้ภัย ข้าราชการใน เมียวดี

"รัฐบาลเมียนมา"ประสาน "ไทย" ขอเครื่องบินทหารลงจอด ท่าอากาศยานแม่สอด ลี้ภัย ข้าราชการ -ตร.-ตม.ในเมียวดี ถูกฝ่ายต่อต้านตีแตก

วันที่ 7 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารเมียนมา กับฝ่ายต่อต้านที่มีทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) และกองกำลังปกป้องประชาชน (พีดีเอฟ.) เข้ายึดกองบังคับการยุทธวิธี ของทหารเมียนมาที่บ้านปางกาน จ.เมียวดี ตรงข้ามตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก  

รวมทั้งบุกพื้นที่กองพันที่ 275 เมียวดี ซึ่งเป็นค่ายทหารที่ใหญ่ที่สุด อยู่ในตัวเมืองเมียวดีได้  ทำให้ล้าสุดฝ่ายต่อต้านควบคุมพื้นที่ จ.เมียวดี ได้ทั้งหมด ส่งผลให้ข้าราชการในสังกัดสภาบริหารทหารเมียนมา เช่น ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง จ.เมียวดี และหน่วยงานต่างๆ ต้องถอนตัวออกจากตัวเมียวดี และถูกนำไปถูกอพยพไปกอกาเร็ก ในเขตปกครองของพันเอกหม่องชิตู

ล่าสุด รัฐบาลเมียนมาใช้ช่องทางกระทรวงต่างประเทศ ประสานมายังรัฐบาลไทย ให้เครื่องบินทหารเมียนมา ATR72-600 ลงจอดที่ ท่าอากาศยาน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ขอที่ลี้ภัยให้กับข้าราชการ ได้แก่ ตม. ตำรวจเจ้าหน้าที่ทำงานในศาลากลางและส่วนราชการอื่นๆ เบื้องต้นทั้งหมดมารอสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา เข้ามาฝั่งไทย

 

ขณะที่  นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ไทยต้องตัดสินใจอย่างระมัดระวังที่จะเปิดสนามบินแม่สอดส่งกลับทหารเมียนมาที่แพ้สงคราม แม้ทำได้ตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ IHL แต่อาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงและการอพยพของผู้ลี้ภัยจากเมียวดี เพราะสถานการณ์ที่อ่อนไหวบริเวณชายแดน จากกรณีทหารเมียนมาขอให้ส่งเชลยศึกและครอบครัว จำนวน 617 คน ที่แพ้สงครามกับกองกำลังชาติพันธ์ุติดอาวุธบริเวณเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง เมียนมา กลับพื้นที่ส่วนกลางประเทศเมียนมาที่เป็นพื้นที่การดูแลของทหารเมียนมา โดยผ่านการใช้ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด จังหวัดตากนั้น ซึ่งไทยสามารถพิจารณาปรับใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกับการร้องขอส่งกลับเชลยศึกเมียนมาผ่านพรมแดนไทย 

"หลายคนถามว่าทำได้มั้ย และควรจะเป็นอย่างไรถึงแม้ผมยังไม่ได้ทำงานเต็มร้อยในกรรมาธิการของสหภาพรัฐสภาโลกด้านการส่งเสริมการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แต่ขออนุญาตให้ความเห็นตรงนี้ว่า ตามกฎหมายด้านนี้ “ทำได้”  เพราะเจตนารมย์ของกฎหมายก็เพื่อให้ความคุ้มครองต่อ “เชลยศึก” (Prisoners of War-POWs) ให้ถูกละเมิดให้น้อยที่สุดและให้การละเมิดจบโดยเร็วที่สุด โดยการที่กำหนดว่าหลังการปะทะและสงครามเสร็จสิ้นแล้ว สมควรจะต้องส่งกลับเชลยศึกโดยเร็วที่สุดโดยปราศจากความล่าช้าทุกประการ คือ เราควรเห็นว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ต้องปรับใช้ในยามสงคราม"

นายกัณวีร์ ยอมรับว่า ยังมีข้อกังวลอีกมาก หากไทยอนุญาต แต่ตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรมสามารถทำได้ทั้งการถูกมอบอำนาจโดย “ฝ่ายที่ชนะ“ และการเป็น ”ประเทศที่เป็นกลาง“ ในการดูแลและการส่งกลับเชลยศึก กฎหมายนี้จะใช้เฉพาะเมื่อสงครามเกิดทั้งสงครามระหว่างประเทศ (international armed conflicts) และสงครามที่ไม่ใช่ระหว่างประเทศ (Non-international armed conflicts) เพียงเท่านั้น

"หากไทยถูกร้องขอให้ช่วยในฐานะประเทศที่เป็นกลาง (neutral country) เราก็ควรทำให้เป็นไปตามเจตจำนงและเจตารมณ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศฉบับนี้เสียและที่สำคัญที่สุดเชลยศึกผู้ถูกส่งกลับแล้ว ต้องไม่กลับไปเป็นกองกำลังอีก นี่คือหลักการที่สำคัญของกฎหมายนี้"

ส่วนข้อกังวลที่ว่าทหารพ่ายศึกจะถูกดำเนินคดีใดๆ หรือไม่ นายกัณวีร์ ระบุว่า ต้องแยกออกเป็นสองเรื่อง คือหนึ่งระเบียบปฏิบัติและกฎหมายภายในกองทัพเมียนมา ก็ว่ากันไปตามกฏและระเบียบภายในซึ่งใครก็คงไม่สามารถไปแทรกแซงได้ สองในขณะที่ไทยต้องรับผิดชอบดูแลเชลยศึกใดๆ ก็ตาม หากมีข้อกังวลอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับเจ้าตัวเชลยศึกเอง และเป็นการร้องขอใดๆ ตามหลักการร้องขอด้านมนุษยธรรม ไทยก็มีสิทธิเด็ดขาดในการพิจารณาตามหลักการของไทยและรวมถึงจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะเรื่อง หลักการไม่ส่งกลับ (non-refouelment) ซึ่งก็คงต้องว่าไปเป็นรายกรณี

"สถานการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีก จึงขออนุญาตเสนอให้ไทยทำระเบียบปฏิบัติประจำ (รปจ.) หรือ standard operating procedures (SOPs) ด้านนี้รอไว้ได้เลยครับผม แต่อย่างไรก็ตามต้องคอยดูสถานการณ์ดีๆ  และต้องระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือต่อการสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงด้วย และเป็นเรื่องที่ไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือ"

นายกัณวีร์ ระบุว่า นี่จึงเป็นการตัดสินใจที่ยากสำหรับรัฐบาลไทย  และต้องระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือต่อการสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงด้วย และเป็นเรื่องที่ไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือ นอกจากมีผู้ลี้ภัยที่อยู่ประชิดชายแดนกว่า 6 แสนคนแล้ว สถานการณ์ในเมียวดี จะกระทบโดยตรงกับไทย ซึ่งน่าเสียดายที่ข้อเสนอการเปิด Safety Zone ระยะ 5 กิโลเมตร ชายแดนเมียนมา ยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็อยากให้ผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เช่นเดียวกับ ระเบียงมนุษยธรรม และระเบียงสันติภาพ ที่ต้องเริ่มทำได้แล้ว