ป.ป.ช.ลุยเพิ่มมาตรการป้องปรามคดีรุกป่า หลังพบแนวโน้มยังทวีความรุนแรง

ป.ป.ช.ลุยเพิ่มมาตรการป้องปรามคดีรุกป่า หลังพบแนวโน้มยังทวีความรุนแรง

ป.ป.ช.แพร่บทวิเคราะห์สถานการณ์ทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติ พบการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์-ครอบครองที่ดินมิชอบยังคงพุ่ง เพิ่มกลไกป้องปรามให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แนะรัฐเลิก ส.ค.1 ลุยปราบมาเฟียจริงจัง

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่บทวิเคราะห์สถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรง และมีความซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบอย่างสำนักงาน ป.ป.ช. ต้องดำเนินการปรับปรุงกลไกในการปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน รวมทั้งเพิ่มมาตรการเพื่อส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อยกระดับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศในภาพรวมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ที่ผ่านมาสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีการเสนอมาตรการสำคัญเพื่อนำมาใช้รับมือกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายรูปแบบ ดังนี้ 

1.มาตรการในการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาการออกเอกสารสิทธิที่ดิน เป็นประเด็นใหญ่ที่หน่วยงานรัฐต้องเข้าไปตรวจสอบ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดใหญ่ๆ หรือที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่พบว่ามีเอกชน นักธุรกิจ หรือนักการเมืองบางกลุ่มร่วมกับข้าราชการ แสวงหาผลประโยชน์ ในการออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบ โดยปัจจุบันมีเรื่องกล่าวหากรณีดังกล่าวที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วหลายคดี โดยเฉพาะกรณีการนำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือโฉนดที่ดินในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เกาะ ภูเขา ชายทะเล หรือที่สงวนหวงห้าม รวมทั้งปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ ในกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายหน่วยงานเข้าไปเกี่ยวข้อง

2. คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลยกเลิกแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) โดยกำหนดให้ผู้ที่มีหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ที่อยู่ในการครอบครองมายื่นคำขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อกรมที่ดินภายในระยะเวลาที่กำหนด การใช้นโยบายปราบปรามผู้ใช้อิทธิพลในการออกเอกสารสิทธิ์ การลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง และจัดให้มีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งให้ใช้มาตรการทางภาษีและมาตรการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเคร่งครัดกับผู้ถือครองที่ดินจำนวนมาก

3. มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบ กรณีปัญหาการบุกรุกและการใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าไม้โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดปัญหาและความเสี่ยงต่อการทุจริตเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบกรณีปัญหาการบุกรุกและการใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าไม้ ได้แก่ ปัญหานโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในเขาที่ดินป่าไม้ปัญหาการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ ปัญหาด้านการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกที่ดินป่าไม้ ปัญหาด้านการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ที่ดินป่าไม้ และปัญหาการขาดความโปร่งใสในการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นต้น

ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ที่ดินป่าไม้และที่ดินของรัฐถูกบุกรุกและใช้ประโยชน์โดยมิชอบมากขึ้นเกิดการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรมรวมทั้งเป็นความเสี่ยงต่อการเปิดช่องและเอื้อประโยชน์ให้นายทุนใช้ช่องว่างในการบุกรุกที่ดินของรัฐ โดยอาจมีเจ้าหน้าที่ของรัฐให้การสนับสนุน หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่มีเจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบร่วมกันทุจริต

4.มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการจัดเก็บเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ เป็นอีกหนึ่งประเด็นปัญหาที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตซึ่งประเด็นปัญหาความเสี่ยงต่อการทุจริตในกระบวนการจัดเก็บเงินรายได้และการใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติมีช่องทางในการทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์จากการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมในส่วนของบัตรค่าบริการนักท่องเที่ยวผลการศึกษาการจัดเก็บเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติทั้งระบบพบว่ายังคงใช้ระบบการจัดเก็บรูปแบบเดิมและเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น กระบวนการจัดเก็บเงินรายได้ยังคงมีช่องทางให้เจ้าหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

ในขณะที่ต่างประเทศมีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการป้องกันการทุจริต นอกจากนี้ยังพบประเด็นปัญหาด้านการพิจารณาและอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติว่า ช่องทางการพิจารณาให้ใช้จ่ายเงินรายได้ขาดการมีส่วนร่วม และการขออนุมัติในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่อาจขาดความโปร่งใส

ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่าในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีสภาพป่าไม้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศไทย หรือคิดเป็น 102,135,974.96 ไร่ ซึ่งลดลงจากปี 2564 ประมาณร้อยละ 0.02 คิดเป็น 76,459.41 ไร่ อย่างไรก็ตาม จากรายงานสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 – 2565 พบว่า มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ค่อนข้างจะคงที่ และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ของไทยมีการลดลงต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) การเกิดจากปัญหาไฟป่า (Forest Fire) หรือการบุกรุกทำลายป่า เป็นต้น 

เมื่อหันกลับมาดูสถานการณ์สภาพอากาศในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศที่เกิดจากอากาศที่ไม่สะอาดและมีสิ่งสกปรกหรือสารพิษเจือปนจนเกินค่ามาตรฐานหรือสารสังเคราะห์ที่ถูกปล่อยเข้าสู่อากาศที่ก่อให้เกิดผลกระทบที่ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และทำให้คุณภาพอากาศลดลงจนกลายเป็นพิษต่อสุขภาพ มลพิษทางอากาศมักเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นการเผาไหม้เชื้อเพลิงฝุ่น หรือฝุ่น PM เป็นต้น ดังนั้นเราควรมีความตื่นตัวและหันมาใส่ใจ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้น เราจะต้องไม่มองว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติในสังคมมาร่วมกันสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตโดยการบูรณาการและเสริมพลังการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการผลักดันให้เกิดสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต