ผู้นำฝ่ายค้านยื่นสภาตั้ง กมธ.ศึกษาเขตอำนาจศาล รธน.หวั่นล้ำแดนนิติบัญญัติ

ผู้นำฝ่ายค้านยื่นสภาตั้ง กมธ.ศึกษาเขตอำนาจศาล รธน.หวั่นล้ำแดนนิติบัญญัติ

'ผู้นำฝ่ายค้าน' ชงยื่นญัตติด่วนขอให้สภาฯ ตั้ง กมธ.ศึกษาขอบเขตอำนาจศาล รธน. หลังเกิดเหตุวินิจฉัย 'ก้าวไกล' ล้มล้างการปกครอง หวั่นล้ำแดนฝ่ายนิติบัญญัติ นำไปสู่ปัญหาการเมืองในอนาคต เผยพร้อมแจงข้อกล่าวหายุบพรรคต่อ กกต.

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (6 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อม สส.ก้าวไกล ยื่นหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอญัตติด่วนขอให้สภาฯ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติ สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 หรือคดีล้มล้างการปกครองของพรรคก้าวไกล ซึ่งมีคำวินิฉัยฉบับเต็มประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมา

นายชัยธวัช กล่าวถึงการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯนี้จะมีผลต่อฝ่ายต่าง ๆ ว่า อย่างน้อยที่สุดจะมีความชัดเจนในฝ่ายนิติบัญญัติ ว่าตกลงเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมีแค่ไหน และเราคาดหวังว่าผลการศึกษานี้ จะมีส่วนในนำไปพิจารณาการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในอนาคต ขณะนี้ เรื่องดังกล่าวยังเป็นปัญหาอยู่จนถึงทุกวันนี้ เช่นร่างของพรรคเพื่อไทยที่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้แก้ทั้งฉบับ แต่ละรัฐสภาเห็นว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จะขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แม้พรรคเพื่อไทยจะใช้อำนาจโดยชอบตามรัฐธรรมนูญก็ตาม ถ้าเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน ก็จะมีปัญหาต่อไปในอนาคต

นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า ผลการศึกษานี้ อาจนำไปสู่ข้อเสนอในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อให้มีความชัดเจนเกิดขึ้น เกี่ยวกับขอบเขตอำนาจของศาลธรรมนูญมากขึ้น ยกตัวอย่าง ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การเสนอร่างกฎหมาย เป็นอำนาจของรัฐสภาฝ่ายนิติบัญญัติ หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อยากตรวจสอบความชอบรัฐธรรมนูญ ก็ควรตรวจสอบความชอบรัฐธรรมนูญตามขั้นตอนที่รัฐรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว คือหลังจากที่ร่างกฎหมายผ่าน ก่อนที่จะประกาศใช้ ซึ่งอาจนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ให้มีความชัดเจนว่า ให้ยกเว้นอะไรบ้าง มากกว่านั้นอาจนำไปสู่การแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดการเสียสมดุลในการตรวจสอบถ่วงดุลกับสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ

เมื่อถามถึงกรณีที่สำเนาคดีล้มล้างการปกครองของพรรคก้าวไกลจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถือว่าเร่งรีบพิจารณาหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ยังสรุปไม่ได้ ตอนนี้ได้เตรียมตัวแล้ว เพราะทราบอยู่แล้ว ว่ามีคนไปร้อง ทางฝ่ายกฎหมายของพรรคได้เตรียมตัวที่จะต่อสู้คดี ขณะนี้แค่รอว่าเมื่อไหร่ที่ กกต. จะเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งตามกระบวนการควรต้องมีกระบวนการไต่สวน เพื่อเปิดโอกาสให้เราต่อสู้ชี้แจงข้อกล่าวหาให้เร็วที่สุด

เมื่อถามอีกว่า กรรมาธิการวิสามัญฯ ที่เสนอตั้งนั้น ไม่ได้มีผลเป็นรูปธรรมต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ถูกต้องแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ และเราไม่ประสงค์ให้กระทบต่อคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ รวมถึงปัญหาในอนาคต หากการศึกษาสามารถนำไปสู่ข้อเสนอแนะในการแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญที่ดีขึ้นได้ในอนาคตก็จะเป็นเรื่องที่ดี

นายชัยธวัช กล่าวด้วยว่า ปัญหาการตีความขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดมาก หากฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายรัฐธรรมนูญเช่นนี้ได้ เพราะเราเคยแก้ไขมาแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติรวมถึงสภาร่างรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขที่มาของวุฒิสภาได้ แต่มาถึงยุคหนึ่งปรากฎว่า ศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจในการตีความเรื่องดังกล่าว มาก้าวก่าย และล้ำแดนฝ่ายนิติบัญญัติ ก็จะเป็นปัญหาการเมืองได้ในอนาคต

เมื่อถามว่า มีการพูดคุยกับพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ได้แจ้งให้พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลทราบบ้างแล้ว แต่ท่าทีจะเป็นอย่างไร ไม่ทราบ เพราะขึ้นอยู่กับเอกสิทธิ์ของพรรค เมื่อช่วงเช้าภายหลังประชุมผู้นำฝ่ายค้าน ตนก็ได้แจ้งให้ทราบว่า จะมีการยื่นญัตติเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้ย้ำกับทุกพรรคว่า นี่ไม่ได้เป็นญัติญัติ ที่บอกว่าการใช้อำนาจ และการตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ถูกหรือผิด แต่เป็นการเสนอให้มีการศึกษาเพื่ออนาคตเท่านั้น