การเมือง (ไม่) ฉันทามติ | กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์

การเลือกตั้งปี 2566 กลายเป็นหมุดหมายสำคัญทาง การเมือง ของไทย เนื่องจากแทบจะไม่มีใครคาดคิดว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาหน้านี้ โดยพรรคที่เคยเป็นฝ่ายค้านเดิมได้ที่นั่ง ส.ส. ถึงร้อยละ 61.5 (308 ที่นั่ง) นำโดยพรรคก้าวไกล 151 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยมาเป็นอันดับ 2 จำนวน 141 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเจรจาตกลงทางการเมืองอยู่ระยะเวลาหนึ่ง พรรคเพื่อไทยได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับขั้วรัฐบาลเดิม ในขณะที่พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเป็นธรรม กลายมาเป็นฝ่ายค้าน

สถานการณ์ทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้นนำมาสู่คำถามมากมาย เช่น ทำไมก้าวไกลได้คะแนนเสียงเป็นจำนวนมาก? ขั้วคู่ขัดแย้งทางการเมืองหลักในปัจจุบันคือใคร? และ ทิศทางการเมืองในอนาคตของไทยจะเป็นอย่างไร? 

เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ ผู้เขียนในฐานะที่เป็นผู้สังเกตการณ์ใกล้ชิด จะขอนำเนื้อหาบางส่วนจากงานสัมมนา “สำรวจภูมิทัศน์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม : ตอนที่ 1 ฉันทามติใหม่การเมืองไทย” (จัดโดย ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำฯ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567) มาช่วยทำให้ผู้อ่านเห็นภาพสถานการณ์ของทิศทางการเมืองไทยชัดเจนขึ้น

ภายใต้กรอบทิศทางการเมืองในระยะสั้น รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน เปลี่ยนจากการเมือง 2 ขั้ว คือขั้วเสื้อเหลืองและขั้วเสื้อแดง กลายเป็นการเมือง 3 ขั้ว ประกอบไปด้วย

ขั้วแรกกลุ่ม Royal Military Network (โดยมีพื้นฐานมาจากกลุ่มคนเสื้อเหลือง) ขั้วที่สองกลุ่มทักษิณและพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพลังทางการเมืองแบบใหม่ในยุคก่อน (โดยมีพื้นฐานมาจากกลุ่มคนเสื้อแดง)

และขั้วที่สามกลุ่มก้าวไกล ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ในทางการเมือง และขยายตัวจากการดึงมวลชนของ 2 กลุ่มแรก (โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อแดง) โดยการเติบโตของกลุ่มนี้เองที่กำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทยไปสู่สถานการณ์แบบใหม่

ทั้งนี้ รศ.ดร.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ได้สร้างคำอธิบายการเติบโตของมวลชนกลุ่มก้าวไกลได้อย่างน่าสนใจ ปกติในการเลือกตั้งความสัมพันธ์ของนักการเมืองพื้นที่กับประชาชนเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการเลือกตั้ง

กล่าวคือ นักการเมืองในระดับพื้นที่ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน จะได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมาก ซึ่งระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยต้องสร้างรากฐานให้ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชนในพื้นที่เข้มแข็ง 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรัฐประหาร กลุ่มชนชั้นนำผู้ยึดครองอำนาจพยายามทำลายสายสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองและประชาชนในท้องที่ เช่น ไม่ให้มีการเลือกตั้ง ดำเนินคดีนักการเมืองท้องถิ่น และพยายามแทนที่สายสัมพันธ์นี้ด้วยกลไกราชการ (ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน)

การเมือง (ไม่) ฉันทามติ | กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์

น้ำหนักในการเลือกตั้งด้วยสายสัมพันธ์ทางการเมืองในระดับท้องถิ่นจึงลดลง ประชาชนจึงหันไปเลือกตั้งด้วยเป้าหมายเชิงอุดมการณ์ (ต่อต้านชนชั้นนำ) มากขึ้น ประกอบกับกระแสโซเชียลมีเดียส่งผลให้การเมืองเชิงอุดมการณ์แพร่กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น

มวลชนของพรรคก้าวไกลจึงขยายตัวขึ้น เนื่องจากพรรคก้าวไกลเด่นในเรื่องอุดมการณ์มากกว่าพรรคอื่น (ในขณะที่อาจจะไม่เด่นเรื่องนักการเมืองในท้องถิ่นมากนักเมื่อเทียบกับพรรคอื่น) 

ทั้งนี้หากมองทิศทางการเมืองในระยะยาว รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย เสนอว่า การเมืองไทยกำลังเคลื่อนไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกับประชาชน โดยผลการเลือกตั้งในปี 2566 รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วสะท้อนให้เห็นว่า ความขัดแย้งระหว่าง ชนชั้นนำกลุ่มเล็ก กับ มวลชนที่ต่อต้านผู้มีอำนาจ กำลังจะกลายเป็นความขัดแย้งหลักในทางการเมืองของไทย

กล่าวคือภาพในระยะยาวความขัดแย้งทางการเมืองของไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจาก "ความขัดแย้งในแนวนอน" (ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มคนแต่ละขั้วการเมือง) กลายเป็น "ความขัดแย้งในแนวตั้ง" (ความขัดแย้งทางชนชั้น)

โดยความขัดแย้งในแนวตั้งเติบโตขึ้นจากการที่เครือข่ายอุปถัมภ์ระหว่างภาครัฐและกลุ่มทุนรวบอำนาจมากขึ้น โดยเครือข่ายอุปถัมภ์รัฐและทุนเริ่มรวบอำนาจตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย และภาพการรวบอำนาจผูกขาดเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในรัฐบาลหลังรัฐประหาร

ซึ่งความร่ำรวยเริ่มกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มทุนครอบครัวในเครือข่ายประชารัฐที่ใกล้ชิดกับผู้นำทางการเมือง ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงขึ้น อันนำมาสู่ความขัดแย้งทางชนชั้นมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น อาจารย์ประจักษ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อประเด็นการกระจุกตัวของทุนชั้นนำว่า ตั้งแต่หลังการรัฐประหารมา ทุนที่เข้ามาอยู่ในเครือข่ายใกล้ชิดชนชั้นนำนั้นอาจจะเข้ามาผ่านช่องทางสายสัมพันธ์ส่วนบุคคล เนื่องจากไม่มีเกณฑ์หรือระเบียบที่ชัดเจนในการจะกำหนดว่าทุนกลุ่มไหนจะเข้ามาได้

การเมือง (ไม่) ฉันทามติ | กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์

(แตกต่างจากในสมัยรัฐบาลทหารก่อนปี 2516 ที่กลุ่มทุนที่ใกล้ชิดรัฐมักเป็นกลุ่มทุนภาคธนาคาร เนื่องจากธนาคารไทยมีบทบาทสำคัญในการกระจายเงินทุนให้กับภาคธุรกิจสาขาต่าง ๆ ภาครัฐจึงสร้างสัมพันธ์เพื่อให้กลุ่มทุนธนาคารรับบทเป็นแกนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจไทย)

การที่ในปัจจุบันไม่มีเกณฑ์ที่แน่ชัดอาจสะท้อนถึงอำนาจของกลุ่มทุนที่เหนือกว่าผู้มีอำนาจรัฐ (หากรัฐมีอำนาจเหนือกว่าทุน รัฐจะสามารถกำหนดเกณฑ์ที่แน่ชัด เพื่อดึงกลุ่มทุนเป้าหมายมามีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ) และกลุ่มทุนอาจมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วตัวจริง

การคงอยู่ของระบบอำนาจทหารเดิม การตัดอำนาจการเมืองท้องถิ่น และการเติบโตขึ้นของเครือข่ายอุปถัมภ์ชนชั้นนำ ตามที่ทั้ง 3 นักวิชาการชั้นนำได้วิเคราะห์มานั้น อาจนำมาสู่หนึ่งในปัญหาต้นตอสำคัญของการเมืองไทย ที่ชนชั้นนำทางการเมืองสามารถยึดครองอำนาจรัฐด้วยแนวทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ดังนั้น การแสวงหาฉันทามติของสังคมภายใต้ความขัดแย้งใหม่ เพื่อตั้งมั่นระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย จึงเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญของการเมืองไทยในอนาคตอันใกล้.