ขาดเครื่องชั่งคุณภาพ-คนไม่พอ! ป.ป.ช.ลุยสางปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน

ขาดเครื่องชั่งคุณภาพ-คนไม่พอ! ป.ป.ช.ลุยสางปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน

ป.ป.ช.ลงพื้นที่อุดรธานี 2 วัน ลุยขับเคลื่อนมาตรการป้องกันทุจริต ปมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ชี้ปัญหาสำคัญอัตรากำลังคนไม่เพียงพอ อำนาจหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไม่ชัด ขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องชั่งที่ดี เล็งรวบรวมข้อมูลไปจัดทำข้อเสนอแนะเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 - 28 ก.พ. 2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ดำเนินโครงการ “การขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อบรรลุเป้าหมายแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (21) ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (โครงการส่งเสริมและบูรณาการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการทุจริตของคณะกรรมการ ป.ป.ช.)” กิจกรรมการลงพื้นที่ เพื่อส่งเสริมและบูรณาการขับเคลื่อนมาตรการหรือข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่ เพื่อติดตามการดำเนินการตามข้อเสนอแนะข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี

ขาดเครื่องชั่งคุณภาพ-คนไม่พอ! ป.ป.ช.ลุยสางปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน

นางสาวลัดดา เดือนสว่าง ผู้อำนวยการสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอุดรธานี ลงพื้นที่เพื่อศึกษาสภาพปัญหา รับฟังความเห็น ปัญหาและอุปสรรค เพื่อขับเคลื่อนติดตามการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สถานีตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะอุดรธานี (ขาเข้า) ถนนหมายเลข 2 โนนสะอาด - อุดรธานี กม. 433+943 ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีนายปิยะพงษ์ ถึงแสง วิศวกรโยธาปฏิบัติการ สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง นายฤทธิรงค์ แก้วปัดชา หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักอุดรธานี (ขาเข้า) และนายชาตรี รักพงษ์ หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักหนองหาน (ขาออก) ร่วมให้ข้อมูลถึงปัญหาอุปสรรคการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ซึ่งปัญหาสำคัญที่พบคืออัตรากำลังคนไม่เพียงพอ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ยังไม่มีความชัดเจน ความเสี่ยงอันตรายของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ งบประมาณที่มีความล่าช้าและไม่เพียงพอ เป็นต้น

ขาดเครื่องชั่งคุณภาพ-คนไม่พอ! ป.ป.ช.ลุยสางปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน

โดยในวันนี้ (28 ก.พ.) เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อศึกษาสภาพปัญหา รับฟังความเห็น ปัญหาและอุปสรรค เพื่อขับเคลื่อน ติดตาม การดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยมีนายเทวฤทธิ์ ผกาแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอุดรธานี และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดหนองบัวลำภู เข้าประชุมร่วมกับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง ตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี ขนส่งจังหวัดอุดรธานี แขวงทางหลวงชนบท หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนัก ตำรวจทางหลวง 3 กองกำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจทางหลวง (อุดรธานี) และชมรม Strong จังหวัดอุดรธานี ได้ร่วมพูดคุยถึงการดำเนินการ และปัญหาอุปสรรค ณ ห้องประชุมพระราชธีราภรณ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ ดังนี้ ปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลัง ปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะเครื่องชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) ซึ่งต้องขอความร่วมมือหรือขอความอนุเคราะห์จากภาคเอกชนที่มีเครื่องชั่งชนิดนี้ เช่น โรงโม่ ทำให้การปฏิบัติงานเกิดความล่าช้า ปัญหาการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ตาม พรบ.ทางหลวง และความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน เป็นต้น นอกจากปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานแล้ว ยังมีประเด็นในส่วนของผู้ประกอบการที่ต้องนำมาพิจารณาในการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมต่อไป

ขาดเครื่องชั่งคุณภาพ-คนไม่พอ! ป.ป.ช.ลุยสางปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน

จากการดำเนินการลงพื้นที่ในครั้งนี้ สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม สำนักงาน ป.ป.ช. จะดำเนินการรวบรวมปัญหาอุปสรรค ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุม ไปดำเนินการพิจารณาแนวทางการจัดทำมาตรการหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในระยะต่อไปให้มีความครอบคลุมในทุกมิติมากขึ้น เพื่อให้หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรีในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน สามารถนำมาตรการหรือข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปดำเนินการ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป