ดัชนีลำดับ หลักนิติธรรม ของไทยตกต่ำลง | สกล หาญสุทธิวารินทร์

ดัชนีลำดับ หลักนิติธรรม ของไทยตกต่ำลง | สกล  หาญสุทธิวารินทร์

ประเทศใดสังคมใดมีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง เศรษฐกิจของประเทศนั้นหรือสังคมนั้น ก็จะเจริญเติบโตเข้มแข็งด้วย  ประชาชนอยู่อย่างมีความสุขสงบ 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีบทบัญญัติที่ระบุถึงหลักนิติธรรม  คือ มาตรา 3 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า

                      “ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม  เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม”  

                    และ   มาตรา 26  วรรคหนึ่ง  ที่บัญญัติว่า

                     “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม

ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย”

ความหมายของหลักนิติธรรม

                  โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิได้มีบทบัญญัติให้ความหมายของหลักนิติธรรมไว้เป็นการเฉพาะ จึงอาศัยการพิจารณาจากความเห็นจากเลขาธิการสหประชาชาติ นักกฎหมาย นักวิชาการ ทั้งของไทยและต่างประเทศ 

ซึ่งอาจสรุปได้ คือ

             “หลักนิติธรรมคือ ระบบกฎหมาย บรรทัดฐาน ที่ใช้ในการปกครอง เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นด้วยความชอบธรรม โปร่งใส เป็นธรรม มีความชัดเจน และประกาศเผยแพร่ให้ทราบโดยทั่วไป ไม่มีผลย้อนหลังที่เป็นโทษ ใช้บังคับกับทุกคนโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองเท่าที่จำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม รัฐผู้ใช้อำนาจปกครองมีอำนาจจำกัดเท่าที่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ โดยมีศาลผู้ใช้อำนาจตุลาการที่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระ  เป็นองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยและระงับข้อพิพาท”

ทั้งนี้อาจสรุปอย่างสั้นได้ว่า

“หลักนิติธรรมคือ การปกครองโดยกฎหมายที่ตราขึ้นด้วยความชอบธรรม เป็นธรรม และประกอบด้วยบรรทัดฐานตามหลักธรรมาภิบาลที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป  ใช้บังคับกับทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ”

                ความสำคัญของหลักนิติธรรม

                ประเทศใดสังคมใดมีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง เศรษฐกิจของประเทศนั้นหรือสังคมนั้น ก็จะเจริญเติบโตเข้มแข็งด้วย  ประชาชนอยู่อย่างมีความสุขสงบ 

               ด้วยความสำคัญของหลักนิติธรรมดังกล่าว จึงมีเอกชนในต่างประเทศร่วมมือกัน จัดตั้งองค์กรเอกชน ที่เรียกว่า World Justice Project (WJP) ซึ่งเป็นองค์กรสหวิชาชีพอิสระไม่ขึ้นกับรัฐบาลใด เพื่อสร้างความรู้ ความตระหนักและกระตุ้นเพื่อพัฒนาหลักนิติธรรมทั่วโลก

ดัชนีลำดับ หลักนิติธรรม ของไทยตกต่ำลง | สกล  หาญสุทธิวารินทร์

             โครงการสำคัญที่ WJP ดำเนินการ คือการจัดทำดัชนีลำดับหลักนิติธรรมของประเทศต่างฯทั่วโลก คะแนนของแต่ละประเทศได้มาจากการประมวลผลข้อมูลและคำตอบจากประชาชนที่ถูกสุ่มเป็นตัวแทน  รวมทั้งจากนักกฎหมายและนักวิชาการ  โดยมีองค์ประกอบในเรื่องต่างๆ ที่สำคัญ 8 องค์ประกอบ ซึ่งประกอบด้วย 

               อำนาจของรัฐบาลที่มีขีดจำกัด  ไม่มีคอร์รัปชัน รัฐบาลที่เปิดกว้าง สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน  ความสงบเรียบร้อยของสังคม การบังคับใช้กฎหมาย ความยุติธรรมทางแพ่ง ความยุติธรรมทางอาญา แต่ละองค์ประกอบมีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้ คือ

              อำนาจของรัฐบาลที่มีขีดจำกัด  องค์ประกอบข้อนี้พิจารณาจากบริบทที่รัฐบาลต้องผูกพันภายใต้กฎหมาย ซึ่งอำนาจของรัฐบาล เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ มีอำนาจจำกัดตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น  

             ปราศจากคอร์รัปชัน ข้อนี้พิจารณาจากหน่วยงานของรัฐ จะต้องไม่มีการคอร์รัปชันในรูปแบบหลักสามรูปแบบคือ การรับสินบน การใช้อำนาจโดยมิชอบ การทุจริตต่องบประมาณและทรัพย์สินของรัฐ  

             รัฐบาลที่เปิดกว้าง ข้อนี้พิจารณาจากการที่รัฐบาลเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล ให้ประชาชนมีเครื่องมือตรวจสอบรัฐบาลได้ รวมทั้งการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณากำหนดนโยบายด้วย 

            สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน  ข้อนี้พิจารณาจาก การปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่เป็นที่ยอมรับกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ

             ความสงบเรียบร้อยของสังคม  ข้อนี้พิจารณาจากความสงบเรียบร้อยของสังคมอันเกิดความมั่นคงปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ข้อนี้พิจารณาจากการบังคับใช้กฎหมาย ที่รวมถึงบรรดากฎระเบียบ คำสั่งทางปกครอง ที่ออกบังคับใช้อย่างเป็นธรรมและเกิดประสิทธิผล 

               ความยุติธรรมทางแพ่ง     ข้อนี้พิจารณาว่าประชาชนธรรมดา สามารถแก้ปัญหาข้อขัดข้องในข้อพิพาททางแพ่งอย่างสงบสันติ มีประสิทธิผล สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งที่ใช้เวลาพอสมควร และค่าใช้จ่ายที่จุนเจือได้ อย่างเป็นธรรม                 

              ความยุติธรรมทางอาญา ข้อนี้พิจารณาจากระบบความยุติธรรมทางอาญาที่มีประสิทธิผล ประชาชนที่ได้รับผลจากอาชญากรรมได้รับการเยียวยาแก้ไข ผู้กระทำผิดที่ทำร้ายสังคมได้รับการลงโทษ การสอบสวนการดำเนินคดีทางอาญารวดเร็วมีประสิทธิภาพ ไม่มีการลำเอียงหรือเลือกปฏิบัติ  

ดัชนีลำดับ หลักนิติธรรม ของไทยตกต่ำลง | สกล  หาญสุทธิวารินทร์

              ดัชนีหลักนิติธรรมปี 2566

               ในปี2566 ที่ผ่านมา WJP ก็ได้จัดทำดัชนีลำดับหลักนิติธรรมของประเทศต่างฯทั่วโลก รวม142ประเทศ เกณฑ์ทีใช้พิจารณา เป็นเกณฑ์เดิมที่ใช้ในการจัดทำดัชนีของปีที่ผ่านมา และได้ประกาศผลไปแล้วเรียงตามลำดับคะแนนมากสุดจนถึงน้อยที่สุด

                ประเทศที่ได้ลำดับหนึ่งคือเดนมาร์ก ได้คะแนนน  0.90

                 คะแนนลำดับสุดท้าย คือเวเนซูเอลลา ได้คะแนน   0.26   

                 ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 82 คะแนน   0.49   เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 80 คะแนน 0.50   ปี2566 ลำดับของประเทศไทยลดลงจากเดิม

                  สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน มีการสำรวจ 8 ประเทศ รวมทั้งไทย ไม่มีประเทศบรูไน และลาว  คือ

                  สิงคโปร์ ลำดับที่ 40 คะแนน 0.67   มาเลเซีย ลำดับที่55 คะแนน0.57    อินโดนีเซีย ลำดับที่ 66 คะแนน0.53    เวียดนาม ลำดับที่  87 คะแนน 0.49   ฟิลิปปินส์ ลำดับที่ 100 คะแนน 0.46    เมียนมาร์ ลำดับที่135 คะแนน 0.35 และกัมพูชา ลำดับที่141 คะแนน 0.31

ดัชนีลำดับ หลักนิติธรรม ของไทยตกต่ำลง | สกล  หาญสุทธิวารินทร์

                 บทส่งท้าย 

                  การที่ดัชนีลำดับหลักนิติธรรมของประเทศปี 2566 ไทยลดต่ำลง ทำให้เกิดความกังวลว่า จะมีผลกระทบ ต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  คือ

                  ความเชื่อมั่นระหวางประเทศที่มีต่อประเทศไทย อาจลดดลง จะทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศชะลอการลงทุนในประเทศไทย หรืออาจชะลอการติดต่อค้าขายกับไทยด้วย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ  อันอาจจมีผลกระทบต่อการจ้างงานโดยรวม      

และ เมื่อหลักนิติธรรมของไทยเสื่อมถอยลง  ย่อมจะมีผลกระทบต่อสังคม  ความสงบสุขเรียบร้อยของสังคมและประชาชนย่อมถดถอยลงด้วย

                 จากสภาพการณ์ การบังคับใช้กฎหมายของรัฐที่ผ่านมา ที่เป็นที่ชัดแจ้งว่าหย่อนยาน มีการเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของ รัฐธรรนูญ กฎหมาย  และหลักนิติธรรม  

หากยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไข   ถ้ายังมีการจัดทำดัชนี ในปี2567  เชื่อว่าดัชนีลำดับหลักนิติธรรมของไทยปี 2567 ของไทยอาจลดลงอีกและจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยมากขึ้นไปอีก  

จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมต้องตระหนัก และช่วยกันผลักดันให้รัฐได้แก้ไขปรับปรุง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม

                                                                    -----------------