ป.ป.ช.ยกกฎหมายยันอำนาจแนะรัฐบาล ชี้ปมแจกเงินดิจิทัล มีเวลาแก้ให้เหมาะสม

ป.ป.ช.ยกกฎหมายยันอำนาจแนะรัฐบาล ชี้ปมแจกเงินดิจิทัล มีเวลาแก้ให้เหมาะสม

ป.ป.ช.แพร่บทวิเคราะห์ยันอำนาจชงข้อเสนอแก่รัฐบาลได้ ยกตัวอย่างโครงการ 'แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต' ทำตามกฎหมายทุกประการ ปัดทำเกินหน้าที่ ชี้รัฐบาลยังมีเวลาดำเนินการให้เหมาะสม คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่บทวิเคราะห์ยืนยันการทำตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการให้มาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลได้

โดยหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช 2561  ในมาตรา 4 ได้บัญญัติไว้ “คณะกรรมการ ป.ป.ช.” หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งบุคคลที่จะมาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น ต้องมีคุณสมบัติดังความในมาตรา 9 ที่ได้บัญญัติไว้ว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วย กรรมการจำนวนเก้าคน  ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งได้รับการสรรหา โดยคณะกรรมการสรรหา ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย บัญชี เศรษฐศาสตร์ การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และต้องมีคุณสมบัติ อย่างหนึ่งอย่างใด (ข้อมูลเพิ่มเติม มาตรา 9 (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) มาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช 2561) เหล่านี้ คือคุณสมบัติของ “คณะกรรมการ ป.ป.ช.”

แล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่อะไรบ้าง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 นั้น ได้บัญญัติหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไว้ในหลายมาตรา (ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในหนังสือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2561 และระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวข้อง) 

แต่ที่จะพูดถึงคือมาตรา 32 ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

มาตรา 32 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการ ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) ปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือ
หน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

(2) จัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด

(3)เสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรการใดที่เป็นช่องทางให้มีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดีต่อราชการได้

ในการจัดทำมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในเรื่องที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

เมื่อองค์กรตามวรรคหนึ่งได้รับแจ้งมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว หากเป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินการได้ ให้แจ้งปัญหาและอุปสรรค ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบต่อไป ทั้งนี้ ไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.
 
ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น  มาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน  มาตรการเพื่อป้องกันการทุจริตในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบ กรณีปัญหาการบุกรุกและการใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าไม้ และข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินการอนุมัติการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.nacc.go.th) 

เป็นที่น่าสนใจไม่น้อยกับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการให้ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต เกี่ยวกับประเด็นการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาล ที่ต้องใช้งบประมาณสูง ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของประเทศ และที่สำคัญคือการสร้างภาระทางการคลังในระยะยาว เนื่องจากจะมีการกู้เงินจำนวนมากถึง 500,000 ล้านบาท 

โดยเมื่อวันที่ ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในประเด็นนี้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล จึงได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลในกรณีดังกล่าว เพื่อศึกษารายละเอียด ผลกระทบ และความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ โดยได้มีการศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง จากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ รวมถึงการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จากส่วนราชการและหน่วยงาน ตลอดจนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม 8 ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับประเด็นการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งไว้นั้น คือข้อเสนอแนะ ไม่ได้ทำเกินหน้าที่แต่อย่างใด หากแต่เป็นการทำงานด้านการป้องกันการทุจริตเชิงรุก ทำตามหน้าที่และอำนาจ ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่ได้บัญญัติไว้ หลังจากที่ได้รับข้อเสนอแนะ รัฐบาลยังมีเวลา และจะดำเนินการอย่างไรให้มีความเหมาะสม คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด