ผ่า 3 ธุรกิจ ‘เฮียเก้า-ลูก’ ในไทย ก่อนดีเอสไอออกหมายจับ คดีตีนไก่สวมสิทธิ์

ผ่า 3 ธุรกิจ ‘เฮียเก้า-ลูก’ ในไทย ก่อนดีเอสไอออกหมายจับ คดีตีนไก่สวมสิทธิ์

ผ่า 3 ธุรกิจ ‘เฮียเก้า-ลูก’ ในไทย ก่อน ‘ดีเอสไอ’ แจ้งข้อกล่าวหา-ออกหมายจับคดี ‘ตีนไก่สวมสิทธิ์’ ส่อเข้าข่ายอั้งยี่ซ่องโจร พ่วงฟอกเงิน

เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่รัฐบาลสั่งเร่งปราบปรามทุกพื้นที่ สำหรับกรณี “หมูเถื่อน-สินค้าสวมสิทธิ์

ความคืบหน้าล่าสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษดีเอสไอ ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ เป็นประธานการประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อนและคดีตีนไก่สวมสิทธิ์ มี พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าพนักงานสอบสวน และคณะพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม 

มีวาระสำคัญเพื่อพิจารณาเตรียมเชิญข้าราชการระดับสูง และข้าราชการหน่วยงานของรัฐในการเข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการการนำเข้าสินค้าทางการเกษตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง เนื้อวัว ตีนไก่ ชิ้นส่วนไก่ เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 จนถึงปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การขยายผลหาผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดเพิ่มเติม

หลังการประชุมซึ่งใช้เวลา 1 ชั่วโมง  พ.ต.ต.ยุทธนา เปิดเผยว่า การประชุมวันนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 

กลุ่มแรกคือกรณีของตู้คอนเทนเนอร์ที่ค้างท่า จำนวน 161 ตู้ ซึ่งได้นำสำนวนส่ง ป.ป.ช.ไปบางส่วนแล้ว 

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มนำเข้าและผ่านไปยังห้องเย็น จำนวน 2,388 ตู้ ซึ่งรอหลักฐานจากกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินคดีต่อไป 

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มตีนไก่สวมสิทธิ์ ที่มีการออกหมายจับ 5 ราย คือ นายหลี่ เซิ่งเจียว หรือเจิ้ง เจียว ลี่ หรือรู้จักในชื่อ “เฮียเก้า” , นายหยาง ยา ซุง, นายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์, น.ส.นวพร เชาว์วัย และนายสมเกียรติ กอไพศาล ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560, พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ความผิดฐานอั้งยี่ซ่องโจร และข้อหาร่วมกันฟอกเงิน 

เบื้องต้นรับมอบตัวแล้ว 4 ราย เหลือเพียง นายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ (บุตรชายของเฮียเก้า) ที่ยังไม่ประสานขอมอบตัว ขณะนี้อยู่ที่ฮ่องกง

อย่างไรก็ดีนี่เป็นเพียงกระบวนการชั้นต้นเท่านั้น “เฮียเก้า” และกลุ่มผู้ถูกกล่าวหา ยังมีสิทธิ์มาชี้แจงความบริสุทธิ์อยู่

จากการตรวจสอบข้อมูลทางธุรกิจ พบว่า “เฮียเก้า” รวมถึง “กรินทร์ ปิยพรไพบูลย์” บุตรชาย เป็นกรรมการบริษัทรวมกันอย่างน้อย 3 แห่ง ได้แก่

  • บริษัท จงไท่ฮ๋วนเยี่ย จำกัด

จดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2565 ทุนปัจจุบัน 10 ล้านบาท วัตถุประสงค์ จำหน่ายสินค้าการเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมี เคมีการเกษตร ยาปราบศัตรูพืช และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ตั้งอยู่ที่ 981/101-102 ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร 

ปรากฏชื่อ นายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ เป็นกรรมการรายเดียว

นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นเมื่อ 21 ส.ค. 2565 นาย เฉิน เป่ยซิน สัญชาติจีน ถือหุ้นใหญ่สุด 33% นางสาวพนิดา กลิ่นขจร ถือ 26% นายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ ถือ 25% นายเฉิน เจียหมิง สัญชาติจีน ถือ 8% และนายหลิน หยวนซู สัญชาติจีน ถือ 8%

ยังมิได้แจ้งงบการเงิน

  • บริษัท อยู่เจริญสุข จำกัด

จดทะเบียนเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2563 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท วัตถุประสงค์ ให้บริการเช่าอาคารโกดัง ตั้งอยู่ที่ 859/26 ถนนอนามัยงามเจริญ แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร 

ปรากฎชื่อ นายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ นายเหว่ยหลิน ซู เป็นกรรมการ

นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 12 ม.ค. 2567 นางสาวศิริวรรณ ไซ ถือหุ้นใหญ่สุด 60% นายเหว่ยหลิน ซู สัญชาติจีน ถือ 40%

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2565 มีรายได้รวม 14,132,539 บาท กำไรสุทธิ 3,585,983 บาท

  • บริษัท โกลเด้น ชาวเวอร์ เทรดดิ้ง จำกัด

จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2554 ทุนปัจจุบัน 6 ล้านบาท วัตถุประสงค์ ผลิตและจำหน่ายผ้าอ้อมสำเร็จรูป ตั้งอยู่ที่ 981/101-102 ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร

ปรากฎชื่อ นายเจิ้งเจียว ลี่ นายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ เป็นกรรมการ

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 นาย เจิ้งเจียว ลี่ ถือ 45% นายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ ถือ 36.6667% นางสาวพลอย นำรวมวงศ์ ถือ 18.3333%

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2564 มีรายได้รวม 4,031,000 บาท ขาดทุนสุทธิ 281,000 บาท

อย่างไรก็ดีในส่วนความคืบหน้าทางคดี "เฮียเก้า" ที่เข้ามามอบตัวมาเมื่อวานนี้  ได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอนำเอกสารหลักฐานมาแก้ข้อกล่าวหาภายหลัง  พนักงานสอบสวนได้ให้ประกันตัวไปในวงเงิน 2 แสนบาท เนื่องจากเป็นการเข้ามามอบตัวเพื่อต่อสู้คดี  ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี  แต่ได้กำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรและห้ามยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน 

โดย "เฮียเก้า" ไม่ได้ให้การซัดทอดบุคคลใด  แต่ยอมรับว่ารู้จักกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้าราชการในสังกัดในกระทรวงฯ  แต่ไม่ได้เปิดเผยว่ารู้จักหรือสนิทกับบุคคลเหล่านี้ระดับไหน ซึ่งเป็นสิทธิ์ของผู้ต้องหาที่จะให้ปากคำ  อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของดีเอสไอ พบว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นๆ เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจำนวนกี่คน  ส่วนกรณีของนายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ ลูกชายของเฮียเก้า ผู้ต้องหาในคดีสวมสิทธิ์ส่งออกตีนไก่ พนักงานสอบสวนยังไม่ได้รับการติดต่อขอเข้ามอบตัวแต่อย่างใด