DSI ส่งเพิ่มสำนวนคดีลอบนำเข้า หมูเถื่อน ให้ ป.ป.ช. หลังพบจนท.รัฐเกี่ยวข้อง

DSI ส่งเพิ่มสำนวนคดีลอบนำเข้า หมูเถื่อน ให้ ป.ป.ช. หลังพบจนท.รัฐเกี่ยวข้อง

DSI ส่งสำนวนคดีลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็ง (หมูเถื่อน) ให้ ป.ป.ช. หลังพบเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดอีก

วันนี้ (19 มกราคม 2567) ร้อยตำรวจเอก ชาญณรงค์ ทับสาร รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ได้รับมอบหมายจาก พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้นำสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 101/2566 และคดีพิเศษที่ 104/2566 ทั้งสองคดี จำนวน 2 ลัง ไปส่งมอบให้สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 

 

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน กรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) หรือ หมูเถื่อน เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จากการตรวจสอบพบตู้สินค้าตกค้างในท่าเรือแหลมฉบัง พบเป็นขบวนการนำเข้าสินค้า ประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้รับสินค้าหรือตัวแทนแจ้งข้อมูลผ่านระบบของกรมศุลกากร โดยมีการแจ้งสำแดงเท็จเป็นอาหารแช่แข็ง ที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า จำนวน 161 ตู้ น้ำหนักประมาณ 4.9 ล้านกิโลกรัม มูลค่าความเสียหายประมาณ 460,105,947.38 บาท เป็นคดีพิเศษที่ 59/2566 ทางการสอบสวน พบเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้สอบสวนขยายผลและพบการกระทำความผิดเพิ่มเติม โดยรับเป็นคดีพิเศษอีกจำนวน 9 คดี รวมทั้งคดีพิเศษที่ 101/2566 และคดีพิเศษที่ 104/2566 ด้วย

 

DSI ส่งเพิ่มสำนวนคดีลอบนำเข้า หมูเถื่อน ให้ ป.ป.ช. หลังพบจนท.รัฐเกี่ยวข้อง

 

 

จากการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับคดีดังกล่าว พบข้อเท็จจริงว่ามีกลุ่มขบวนการผู้ค้าเนื้อสัตว์กลุ่มใหญ่ ได้มีการวางแผนร่วมกันกับข้าราชการบางราย สร้างกระบวนการทุจริตในการนำเข้าสุกรต่างประเทศ เนื่องจากเนื้อสุกรแปรรูปในต่างประเทศมีราคาถูกมาก เมื่อนำเข้ามาบวกราคาขนส่งและค่าใช้จ่ายทั้งปวงแล้ว ยังได้กำไรครึ่งหนึ่งของราคาที่จำหน่ายในประเทศไทย การดำเนินการเริ่มจากการจัดให้มีตัวแทนรับซื้อชิ้นส่วนสุกรที่ต่างประเทศรวบรวมไว้เป็นจำนวนมาก

 

ต่อมาให้บริษัทในเครือข่ายหรือบริษัทที่เป็นตัวแทนเชิดของกลุ่มผู้กระทำผิด สั่งซื้อนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยให้สำแดงสินค้าเป็นผลิตภัณฑ์ปลาหรือโพลิเมอร์ อันเป็นเท็จ เพื่อการหลีกเลี่ยงการชำระอากรที่ถูกต้องตามพิกัดอัตราภาษีศุลกากร รวมทั้งหลีกเลี่ยงการตรวจกักกันโรค โดยผู้ดำเนินพิธีการศุลกากรหรือชิปปิ้งจะแจ้งให้ผู้นำเข้าดำเนินการเป็นสินค้าที่ยกเว้นการตรวจ ผ่านช่องทางยกเว้นการตรวจ (Green Line) ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าสินค้าที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้านั้นเป็นสินค้าประเภทใด โดยจะมีการคิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ หรือที่เรียกว่า 'ค่าเคลียร์' และนำสินค้าออกจากท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อไปส่งห้องเย็นที่เตรียมไว้แล้ว ก่อนกระจายสู่ตลาดผู้บริโภค

 

ส่งผลให้ ผู้ประกอบการเลี้ยงสุกร และจำหน่ายสุกรภายในประเทศเกิดความเสียหายอย่างมาก ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 101/2566 และคดีพิเศษที่ 104/2566 ได้ประชุมพิจารณาพยานหลักฐานแล้วเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดดังกล่าวด้วย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นควรส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าว ไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป​

 

DSI ส่งเพิ่มสำนวนคดีลอบนำเข้า หมูเถื่อน ให้ ป.ป.ช. หลังพบจนท.รัฐเกี่ยวข้อง