‘เศรษฐา’ ลงพื้นที่ดูทำเลสร้าง ‘แลนด์บริดจ์’ ฝั่งระนอง คาดต้องถมทะเล

‘เศรษฐา’ ลงพื้นที่ดูทำเลสร้าง ‘แลนด์บริดจ์’ ฝั่งระนอง คาดต้องถมทะเล

"เศรษฐา" ลงพื้นที่ติตตาม "โครงการแลนด์บริดจ์" ฝั่งระนอง คาดถมทะเล สร้างสะพานตอม่อ ชี้ โครงการใหญ่ คนเห็นด้วย - ไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา รัฐบาลต้องรับฟัง อธิบาย ประชาชนว่าประเทศไม่มีเมกะโปรเจกต์มาตั้งแต่สมัยทักษิณ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (22 มกราคม 2567) เวลา 13.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่ติดตามโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย - อันดามัน (Landbridge ชุมพร - ระนอง) ณ อุทยานแห่งชาติแหลมสน อ.กะเปอร์ จ.ระนอง โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมด้วย

ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุปโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย - อันดามัน (Landbridge ชุมพร - ระนอง) จากทางสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม นายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ลงพื้นที่บริเวณนี้ พร้อมได้รับฟังการนำเสนอถึงวิธีการโดยภาพรวม รวมทั้งการคาดการณ์ว่า จะมีการถมทะเลเท่าไร มีระยะห่างออกไปเท่าไร และยังมีการสร้างสะพานที่มีตอม่อ ทำให้เรือประมงของพี่น้องประชาชนยังคงสามารถประกอบอาชีพได้ 

‘เศรษฐา’ ลงพื้นที่ดูทำเลสร้าง ‘แลนด์บริดจ์’ ฝั่งระนอง คาดต้องถมทะเล

ทั้งนี้ ในการริเริ่มโครงการใหญ่ๆ เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย รัฐบาลมีหน้าที่ต้องรับฟังความเห็น และชี้แจงประชาชนทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ ซึ่งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีโครงการใหญ่เมกะโปรเจกต์เลย โดยในช่วงอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร มีโครงการขนาดใหญ่ที่สำเร็จ และสร้างประโยชน์ให้ประเทศมหาศาลคือ สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศทำให้ไทยพัฒนาถึงทุกวันนี้ได้ 

‘เศรษฐา’ ลงพื้นที่ดูทำเลสร้าง ‘แลนด์บริดจ์’ ฝั่งระนอง คาดต้องถมทะเล

ทั้งนี้ โครงการ Landbridge เป็นโครงการเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอันดามัน บริเวณแหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และอ่าวไทย บริเวณแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร ด้วยเส้นทางมอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังระบบรถไฟในประเทศได้ เพิ่มศักยภาพการขนส่งของไทย ร่นระยะเวลาขนส่งข้ามช่องแคบมะละกาที่แออัด รองรับปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และสามารถขยายท่าเรือ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ โครงการนี้จึงถือว่าสำคัญ เพราะจะนำความเจริญมาสู่ประเทศ สร้างแรงจูงใจให้บริษัทขนาดใหญ่ระหว่างประเทศมาตั้งฐานผลิตรถยนต์ เครื่องจักรกล อุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ ในไทย สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ประเทศ

อย่างไรก็ดี สำหรับข้อกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจะมีการศึกษาถึงผลกระทบในขั้นต้น และต่อไปจะเริ่มศึกษาลงไปที่แหล่งน้ำพุร้อน แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ต่อไป ในส่วนของการจ้างงาน ให้มองว่าเป็นเรื่องของโอกาส โดยท่าเรือที่สร้างขึ้นมาไม่ใช่แค่ท่าเรือขนสินค้าเท่านั้น แต่รวมถึงเรือสำราญ ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญทั้งเป็นของชาวระนองและจังหวัดแถบอันดามัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาภาคใต้ทั้งภูมิภาค ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ในการทำ Mega Project นี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำการศึกษาอย่างละเอียดในทุกมิติควบคู่กันไป

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์