'ศักดิ์สยาม' ไม่รอด! ศาล รธน.ข้างมาก 7:1 ฟันคดีซุกหุ้น พ้นเก้าอี้ รมต.

'ศักดิ์สยาม' ไม่รอด! ศาล รธน.ข้างมาก 7:1 ฟันคดีซุกหุ้น พ้นเก้าอี้ รมต.

ศาล รธน.เสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 วินิจฉัย ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ ซุกหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ พ้นเก้าอี้ รมต.ตั้งแต่ 3 มี.ค. 66 ชี้ 'ศุภวัฒน์' เป็นนอมินีถือหุ้นแทน

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาคดี และนัดฟังคำวินิจฉัย ในเวลา 14.00 น. เรื่องพิจารณาที่ 8/2566 กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบ มาตรา 187 หรือไม่ 

โดยศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า จากข้อพิรุธหลายประการ ประกอบพฤติการณ์แวดล้อมทั้งปวงแห่งคดี จึงฟังได้ว่า นายศักดิ์สยาม และนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ตกลงนำเงินของนายศักดิ์สยาม ทำธุรกรรมต่าง ๆ ในนามนายศุภวัฒน์ โดยขั้นตอนสุดท้ายนำเงินนั้นซื้อกองทุนต่าง ในชื่อนายศุภวัฒน์ แล้วขายกองทุนดังกล่าว ชำระค่าหุ้นแก่นายศักดิ์สยาม

เช่นนี้ เงิน 119.5 ล้านบาท ยังเป็นของนายศักดิ์สยาม จึงยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยมีนายศุภวัฒน์ ครอบครองหุ้นของ หจก.บุรีเจริญ และดูแล หจก.บุรีเจริญ แทนนายศักดิ์สยาม มาโดยตลอด อันเป็นการถือหุ้นของรัฐมนตรี อยู่ในความครอบครอง หรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางใด ๆ เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้าม มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของศักดิ์สยามจึงสิ้นสุดลงเฉพาะตัว มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า 3 มี.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายศักดิ์สยาม หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ศาลจึงต้องสั่งให้นายศักดิ์สยามพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของศักดิ์สยามจึงสิ้นสุดลงตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 นับแต่วันที่ 3 มี.ค. 2566 เป็นต้นไป

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยามสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบ มาตรา 82 นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือวันที่ 3 มี.ค. 2566 

โดยกรณีดังกล่าวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ผู้ถูกร้อง) ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่

ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยและสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

โดยศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนพยาน รวม 6 ปาก คือ นางวราภรณ์ เทศเซ็น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ (ผู้รับโอนหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ) นางสาววรางสิริ ระกิติ นางสาวฐิติมา เกลาพิมาย และนางสาวอัญชลี ปรุดรัมย์ โดยตอบข้อซักถามของศาลและของคู่กรณี คดีเป็นอันเสร็จการไต่สวน