'ดิเรกฤทธิ์' ย้ำ 'สว.' เปิดอภิปรายทั่วไป เป็นผลดีกับ 'รัฐบาล'

'ดิเรกฤทธิ์' ย้ำ 'สว.' เปิดอภิปรายทั่วไป เป็นผลดีกับ 'รัฐบาล'

"ดิเรกฤทธิ์" มั่นใจ สว.เข้าชื่อยื่นอภิปรายทั่วไปได้แน่ ประเมินเป็นผลดีกับรัฐบาลมากกว่า เมินใช้ช่องทางตั้งกระทู้ เหตุ นายกฯ-รมต. เลี่ยงมาตอบ

ที่ วุฒิสภา นายดิเรกฤทธิ์  เจนครองธรรม สว. ฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ก่อนการเข้าร่วมประชุมกมธ. ซึ่งมีวาระพิจารณาเรื่องยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ว่า  เป็นการใช้สิทธิของสว. ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้วุฒิสภาเชิญรัฐบาลสอบถามและชี้แจงเรื่องต่างๆ ที่ได้ดำเนินการ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะกับรัฐบาล ตนมองว่าการอภิปรายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่มีข้อสงสัยและเป็นประโยชน์กับรัฐบาล ที่จะใช้พื้นที่อธิบาย ส่วนตัวมองว่ามีประเด็นที่จะยกมาอภิปรายคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีปัญหาหลายประเด็น เช่น ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ วิธีการ ความจำเป็น เนื้อหา ขอบเขต ที่จะแก้ รวมถึงสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย เรื่องกระบวนการยุติธรรม ที่มีความไม่โปร่งใส รวดเร็ว  เช่น กระบวนการบริหารโทษในกรมราชทัณฑ์ว่า ทำไมถึงมีบางคนถูกเลือกปฏิบัติต่างจากประชาชนทั่วไป

เมื่อถามถึงกลไกตรวจสอบของวุฒิสภาผ่านการตั้งกระทู้ถาม นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า บางทีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ไม่มาตอบถือเป็นผลเสียของรัฐบาลที่มีเวทีแล้วไม่มาชี้แจง และเป็นผลเสียต่อประชาชนที่ไม่เข้าใจการทำงานของรัฐบาล ดังนั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 153 จึงเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย  และรัฐมนตรีต้องมาชี้แจง

"จากที่พูดคุยกับ สว. นอกรอบพบว่า คนที่เห็นด้วยกับการอภิปรายแบบไม่ลงมติ มีมากกว่าจำนวน 1 ใน 3 ที่ต้องเข้าชื่อแน่นอน ทั้งนี้การทำหน้าที่ของสว.ไม่อยากให้มองเฉพาะตัวบุคคล แต่อยากให้มองตัวของรัฐบาล ว่าสถานการณ์เวลานี้มีประเด็นที่มากพอ มีประโยชน์หรือไม่"นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว

เมื่อถามถึงเหตุผลในการที่ตัดสินใจเปิดการอภิปรายแบบไม่ลงมติรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ทำงานไปแค่ 4 เดือน นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถทำหน้าที่ได้เป็นช่วงๆ ตอนรัฐบาลชุดที่แล้ว ก็มีการมารายงานทุก 3 เดือน ในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงมีการทำงานร่วมกับกมธ. ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแตกต่างกับรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากประชาชน พันธะกรณี ข้อผูกพัน กับสิ่งที่หาเสียง หรือประกาศเป็นนโยบายไว้ เมื่อมีการให้พันธะสัญญาก็จะต้องขับเคลื่อน และมีความคาดหวังจากประชาชน.