สส.-ส.ก.ก้าวไกล แถลง 10 ข้อสังเกตผังเมืองใหม่ กทม. ชี้ ปชช.ไม่มีส่วนร่วม

สส.-ส.ก.ก้าวไกล แถลง 10 ข้อสังเกตผังเมืองใหม่ กทม. ชี้ ปชช.ไม่มีส่วนร่วม

สส.กทม.-ส.ก.ก้าวไกล แถลง 10 ข้อสังเกต ผังเมืองใหม่ กทม. สะท้อนปัญหาการพัฒนากระจุกความเจริญ ชี้ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมกำหนด

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2567 ที่รัฐสภา สส. และ ส.ก. พรรคก้าวไกล นำโดยนายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. และนายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สส.กทม. แถลงข้อเสนอและข้อสังเกต 10 ประการ กรณีการจัดทำผังเมืองฉบับใหม่ของกรุงเทพมหานคร ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน 

โดยนายศุภณัฐ กล่าวว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ที่จะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 6 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 นั้นสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งใหญ่ หลังจากมีการรับฟังย่อยเมื่อช่วงก่อนปีใหม่ที่ผ่านมา หากพี่น้องประชาชนไม่ได้เข้าร่วมหรือไม่ได้แสดงความคิดเห็น อาจจะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อีก โดยนายศุภณัฐได้ไล่เรียงข้อสังเกตและความกังวลดังนี้ 

ข้อเสนอข้อที่ 1 ในการรับฟังความคิดเห็นครั้งถัดไป (6 ม.ค. 2567) หากพี่น้องประชาชนไม่ได้เข้าร่วมหรือไม่ได้แสดงความคิดเห็นทางหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร จะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อีก และขณะเดียวกัน ร่างผังเมืองที่มีการนำเสนออยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ตัวที่เป็นตัวสมบูรณ์ จึงต้องร่วมกันสงวนสิทธิ์เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นในรอบถัดไป

ข้อเสนอข้อที่ 2 การกำหนดสีผังเมืองโดยที่ไม่มีคอนเซ็ปท์ ซึ่งการเปลี่ยนผังเมืองของกทม. ในครั้งที่ 4 ครั้งนี้ เป็นเพียงการอัปเดทโซนนิ่ง คือการเพิ่มความเข้มข้นของการใช้ประโยชน์ของที่ดิน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงตามแนวรถไฟฟ้าและการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่การวางผังเมืองเพื่อชี้นำความเจริญหรือกำหนดอนาคตของเมือง แต่เป็นการวางผังเมืองหลังจากที่เมืองได้มีการเจริญเติบโตไปก่อนแล้วค่อยปรับผังเมืองตามการเจริญเติบโตที่ไร้ทิศทางของเมือง

สส.-ส.ก.ก้าวไกล แถลง 10 ข้อสังเกตผังเมืองใหม่ กทม. ชี้ ปชช.ไม่มีส่วนร่วม

ข้อเสนอข้อที่ 3 การเปลี่ยนแปลงผังเมืองโซนสีเขียว ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและพื้นที่เกษตรกรรม ในฝั่งตะวันตก เช่น เขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน ที่เคยถูกวางไว้ว่าเป็นพื้นที่รับน้ำ จะมีการเปลี่ยนแปลง มีการปรับการใช้ประโยชน์ของที่ดินอย่างก้าวกระโดดกว่าในหลายพื้นที่ ขณะที่ในส่วนของฝั่งตะวันออกจะมีการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่ยังคงไว้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 

ข้อสังเกตข้อที่ 4 คือการไม่กำหนดยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด กำหนดการเมืองกรุงเทพฯ นั้นไม่ได้มีการวางแผนร่วมกันระหว่างกทม. กับปริมณฑลอย่างมียุทธศาสตร์ เช่น ช่วงรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ทำให้การพัฒนาไม่มีความต่อเนื่อง ทั้งที่พื้นที่ติดต่อกัน แต่กลับเจริญไม่เท่ากัน 

ข้อสังเกตข้อที่ 5 เรื่องของ FAR Bonus หรือสิทธิพิเศษในการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผังเมืองกำหนด ร่างผังเมืองปัจจุบันมีการกำหนดมาตรการจูงใจให้เอกชนในการแลกกับ FAR Bonus เพิ่มในรูปแบบต่างๆ เช่น การทำบ่อหน่วงน้ำเป็นพื้นที่รับน้ำ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การเพิ่มพื้นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (Afforable home) หรือการทำทางเชื่อมถนนสาธารณะ หรือการทำพื้นที่สำหรับเป็น Hawker Center เพิ่มพื้นที่สำหรับหาบเร่แผงลอยเพื่อแลกกับ FAR Bonus ที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้สิทธิในการสร้างอาคารที่ใหญ่ขึ้นสูงขึ้นหนาแน่นขึ้นได้ แต่ไม่ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์หรือผลประโยชน์ที่กรุงเทพฯ จะได้รับอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งพรรก้าวไกลมองว่า ควรกำหนด FAR เฉพาะในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา

สส.-ส.ก.ก้าวไกล แถลง 10 ข้อสังเกตผังเมืองใหม่ กทม. ชี้ ปชช.ไม่มีส่วนร่วม

ข้อสังเกตข้อที่ 6 ปัญหาความไม่สอดคล้องของการคมนาคมระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และผังเมืองกรุงเทพ การตัดถนนใหม่ ไม่ได้สอดคล้องกับแนวทางคมนาคมโดยรวมของภาครัฐ เนื่องจาก กทม. ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมระบบขนส่งมวลชนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เช่น กรณีของรถไฟฟ้า รถเมล์ กทม.ไม่ได้เป็นเจ้าของโดยตรง หรือกรณีของทางด่วน ถนน สะพานโครงการขนาดใหญ่ กทม. ก็ไม่ได้เป็นผู้สร้างด้วยเช่นกัน แต่สิ่งก่อสร้างอยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม อีกทั้งผังเมืองของ กทม. ก็ไม่ได้ส่งเสริมการวางผังระบบตาราง (Grid Pattern System) ที่สร้างเพื่อเชื่อมซอย แก้ปัญหารถติดอย่างจริงจัง
 
ข้อสังเกตข้อที่ 7 เรื่องอภิสิทธิ์ที่ดินทหาร ซึ่งเป็นผังสีขาว โดยในร่างผังเมืองฉบับนี้ยังคงไว้ซึ่งความเหลื่อมล้ำ ไม่มีข้อกำหนดในการใช้ที่ดินสำหรับหน่วยทหาร ยกตัวอย่างเช่น การใช้พื้นที่ผังสีขาวในการสร้างอาคารที่พักอาศัยให้แก่เหล่านายพล หรือเป็นบ้านพักของทหารชั้นสัญญาบัตร ซึ่งหากเอกชนต้องการพัฒนาพื้นที่ของตนเองกลับต้องเจอกับเงื่อนไขยุ่งยาก ขณะที่พื้นที่ทหารไม่มีข้อบังคับการใช้ที่ดินใด ๆ 

ข้อสังเกตข้อที่ 8 การกำหนดพื้นที่สีแดงที่ไม่มีหลักการ ร่างฉบับปัจจุบันมีการกำหนดพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่สำหรับการทำพาณิชย์ กระจายตัวอยู่ตามที่ดินของเหล่านายทุน และบางพื้นที่ผังสีแดงไม่สอดคล้องกับผังการพัฒนา sub-cbd หรือพื้นที่เศรษฐกิจขนาดย่อยกระจายตามพื้นที่ รวมถึงไม่มีหลักการและเหตุผลที่สามารถอธิบายถึงผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาผังเมืองว่าเหตุใดในบางพื้นที่ถึงกำหนดให้กลายเป็นพื้นที่สีแดงได้ 

ข้อสังเกตข้อที่ 9 ผังที่โล่ง ในการจัดทำร่างผังเมืองปัจจุบัน มีการจัดให้ผังที่โล่งและฝั่งสีเขียวของกรุงเทพเป็นพื้นที่เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่ในร่างผังเมืองปัจจุบันได้นับรวมกับพื้นที่ของเอกชน เช่นสนามกอล์ฟ เข้าไปด้วย ซึ่งขัดแย้งต่อเงื่อนไขของการเป็นที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด

ข้อสังเกตที่ 10 ร่างผังเมืองสะท้อนสภาพปัญหาของกรุงเทพได้ชัดเจน คือเรื่องของการกระจุกความเจริญ และไม่ได้ลดความแออัดในกรุงเทพฯ ชั้นใน ไม่มีการกระจายความเจริญโดยมีแผนรองรับอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้กรุงเทพฯ โตเฉพาะกรุงเทพชั้นใน เต็มไปด้วยการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ นำมาซึ่งความแออัดและปัญหารถติดเพิ่มขึ้นไปอีก ส่วนกรุงเทพฯ ตะวันออก และกรุงเทพฯ ตะวันตก กลับยังไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ด้านนายณัฐพล กล่าวว่า ต้องการเพิ่มการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนเข้าไปกับกระบวนการจัดทำของผังเมืองในฉบับนี้ให้มากที่สุด เริ่มจากวันพรุ่งนี้ (6 ม.ค.) ขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ หลังจากนั้น วันที่ 22 มกราคม สส. และ ส.ก. ของพรรคก้าวไกล จะรวบรวมข้อคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับเผังเมืองกรุงเทพฯ เพื่อที่จะนำเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรต่อไปยังสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง เพื่อให้ผังเมืองฉบับนี้สอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชนและเป็นผังเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง