5 เดือน‘พท.’เร่งดันนโยบาย แจกหมื่นลุ้น ‘กฤษฎีกา’ – รถไฟฟ้า 20 บาท ทำได้ 2 สาย

5 เดือน‘พท.’เร่งดันนโยบาย แจกหมื่นลุ้น ‘กฤษฎีกา’ – รถไฟฟ้า 20 บาท ทำได้ 2 สาย

5 เดือน‘พท.’เร่งดันนโยบาย แจกหมื่นลุ้น ‘กฤษฎีกา’ – รถไฟฟ้า 20 บาท ทำได้ 2 สาย เงินเดือน ป.ตรี 25,000 - ทุกครอบครัวรายได้ 20,000 ไม่คืบ

พรรคเพื่อไทย-ตระกูลชินวัตร พ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งครั้งแรก ทำให้ต้องแก้สมการการเมืองช็อตต่อช็อต เริ่มต้นด้วยการจับมือกับพรรคก้าวไกล เพื่อจัดตั้งรัฐบาลขั้วประชาธิปไตย แต่หมากบังคับเดินกลับติดเงื่อนล็อก พ่วงปัจจัยแทรก “ทักษิณ ชินวัตร” ต้องการกลับไทย รัฐบาลในฝันจึงเดินไปไม่ถึงฝั่งฝัน

“เพื่อไทย-ชินวัตร” จำเป็นต้องเทหมดหน้าตัก ตระบัดสัตย์ทางการเมือง จับมือเครือข่ายพรรค 2 ลุง ผนึกกำลังกับ สว. โหวตชื่อ เศรษฐา ทวีสิน นั่งเก้าอี้นายกฯ เพื่อกุมอำนาจรัฐไว้ในมือ ซึ่งต้องแลกด้วยต้นทุนทางการเมืองที่สั่งสมมานาน

ทางรอดเดียวของ “เพื่อไทย-ชินวัตร” คือการพิสูจน์ฝีมือการบริหารประเทศ เพื่อฟื้นศรัทธาของ “เพื่อไทย” ศรัทธาของ “ชินวัตร” ให้ฟื้นกลับมา

กรุงเทพธุรกิจ พาไปเช็คลิสต์นโยบาย “เพื่อไทย” ในช่วงกว่า 5 เดือนที่ผ่านมา นโยบายไหนเดินหน้า จะนโยบายไหนมีแนวโน้มจะเดินต่อยาก เพื่อสะท้อนภาพการบริหารงานของ “รัฐบาลเศรษฐา” ในปี 2567

กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท : ออกเกณฑ์แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป เว้นคนมีรายได้เกิน 70,000 บาทต่อเดือน หรือเงินฝากมากกว่า 5 แสนบาท ครอบคลุมคนไทย 50 ล้านคน (จากเดิม 54 ล้านคน) เริ่มใช้เงินได้เดือนพฤษภาคม 2567

อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้สอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว สามารถออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ได้หรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างรอคำตอบ หากสามารถดำเนินการได้จะส่งร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน เข้าสู่การพิจารณาในสภาฯทันที

พักหนี้เกษตรกร 3 ปี ทั้งต้น ทั้งดอกทันที : กระทรวงคลัง ประสานไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อดำเนินการนโยบาย วางเกณฑ์พักหนี้ให้ลูกค้ารายย่อยที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท

โดยมีลูกค้า ธ.ก.ส. ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการกว่า 2 ล้านราย ยอดหนี้ทั้งหมด 283,000 ล้านบาท ซึ่งเปิดให้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566-31 ม.ค.2567

รถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย : กระทรวงคมนาคม ได้นำร่องรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง (สถานีคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน) และสายสีแดง (สถานีกลางบางซื่อ-สถานีรังสิต) พร้อมตั้งเป้าขยายไปเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีอื่น

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขสัมปทานระหว่างรัฐกับเอกชน อาจจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบาย โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเขียว

จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน : คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ แก้รัฐธรรมนูญ เตรียมเสนอให้ครม.ทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ 3 รอบ โดยคาดว่าประชาชนจะได้เข้าคูหาเลือกตั้งรอบแรกภายในเดือน เม.ย.-พ.ค. 2567

โดยการทำประชามติครั้งแรกจะใช้คำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”

จัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ ในจังหวัดนำร่อง : “เพื่อไทย” ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว อาจจะเป็นเพราะไม่ได้ดูแลกระทรวงมหาดไทยโดยตรง ที่สำคัญ อนุทิน ชาญวีรกุล รมว.มหาดไทย ในฐานะพรรคภูมิใจไทย ไม่มีนโยบายให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

กทม. ทั้ง 50 เขต มีโรงพยาบาลประจำเขต : กระทรวงสาธารณสุข กำหนดรูปแบบของโรงพยาบาลทั้ง 50 เขต จะเป็นโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง โดยบางเขตอาจจะสร้างขึ้นมาใหม่ หรือบางเขตจะใช้โรงพยาบาลที่มีอยู่เดิมทั้งในส่วนของ กทม. และโรงพยาบาลสังกัด สธ.

โดยนโยบายข้างต้น เคยมีผลสำรวจความเห็นประชาชนของ “นิด้าโพล” ระหว่างวันที่ 30 ส.ค. – 1 ก.ย. 2566 เกินร้อยละ 40 เชื่อว่า “เพื่อไทย” สามารถทำได้

ขณะเดียวกันนโยบายที่ผลสำรวจ “นิด้าโพล” เชื่อว่า “เพื่อไทย” ไม่สามารถทำได้เกินร้อยละ 40 ประกอบด้วย

ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 : ภายหลัง “บอร์ดไตรภาคี” (ลูกจ้าง นายจ้าง รัฐ) เคาะขึ้นค่าแรงตั้งแต่ +2 บาท จนถึง +16 บาท เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ออกมาแสดงความไม่พอใจ จน พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ต้องสั่งให้ทบทวนมติ ก่อนจะเสนอให้ครม.พิจารณาใหม่ในช่วงต้นเดือน ม.ค. 2567

อย่างไรก็ตาม “เพื่อไทย-เศรษฐา” อยากเห็นตัวเลขการขึ้นค่าแรงให้ถึง 400 บาทต่อวัน ก่อนจะทยอยปรับขึ้นให้ถึง 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 ตามที่ได้หาเสียงเอาไว้

เงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี 2570 : ยังไม่มีความคืบหน้า เหตุผลสำคัญอาจจะเป็นเพราะ “เพื่อไทย” ไม่ได้คุมกระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ

แก้ไขกฎหมาย เพื่อยกเลิกการเกณฑ์ทหาร : สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม วางเกณฑ์ให้กองทัพลดยอดความต้องการทหารเกณฑ์ลง 10,000 นาย จากยอด 100,000 - 90,000 นาย ทำให้กองทัพต้องการทหารเกณฑ์ราว 90,000 - 80,000 นาย อย่างไรก็ตามยอดผู้สมัครเข้าทหารเกณฑ์ต่อปีมีไม่เกิน 30,000 นาย ทำให้ความต้องการทหารเกณฑ์ยังคงมีอยู่

นอกจากนี้ “สุทิน” ยังนำใช้สวัสดิการ ค่าตอบแทน เงินเดือน 10,000 บาท/เดือน รักษาพยาบาลฟรี ส่งเสริมการศึกษาสูงขึ้น 1 ระดับ เป็นต้น มาช่วยล่อใจชายไทยมาสมัครทหาร โดยเชื่อว่าภายใน 1-2 ปี จะมีชายไทยทหารจนครบ โดยไม่ต้องเกณฑ์ทหารอีก

อย่างไรก็ตาม “บิ๊กเพื่อไทย” วางเป้าว่าในงบประมาณ 2568 จึงจะสามารถดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงเอาไว้ให้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากในงบประมาณปี 2567 สถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวย

ทั้งหมดคือความคืบหน้านโยบายของ “เพื่อไทย” บางนโยบายยังไปต่อได้ บางนโยบายยังนิ่ง แต่ด้วยเดิมพันอันสูงลิบของ “เพื่อไทย” จึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนให้สำเร็จในทุกนโยบายที่เคยให้สัญญาเอาไว้