'วันนอร์'หวังใช้งบ 67 เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เล็ง ตั้งงบบริหารรัฐสภา

'วันนอร์'หวังใช้งบ 67 เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เล็ง ตั้งงบบริหารรัฐสภา

“วันนอร์” หวังใช้จ่ายงบ 67 เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เล็ง ตั้งงบบริหารรัฐสภา เหมือนต่างประเทศ ควบคุมแต่ต้องขอเงินรัฐบาล ชี้คนถือเงินมักจะใหญ่เสมอ หวั่นใครคุมใครกันแน่

28 ธ.ค.2566 วันนอร์ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาวิชาการ สำนักงบประมาณของรัฐสภา เรื่อง “วิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 และบรรยาย เกี่ยวกับ “การเพิ่มขีดความสามารถของรัฐสภา ในกระบวนการงบประมาณ”  

โดยประธานรัฐสภา ชื่นชมการจัดทำเอกสารงบประมาณของสำนักงบประมาณของรัฐสภา หรือPBO ที่มีคุณภาพ วิเคราะห์ข้อมูลประกอบทุกด้าน ให้แก่สมาชิกรัฐสภา สื่อมวลชน และผู้สนใจงบประมาณของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความเข้าใจงบประมาณที่รัฐบาลทำ เพราะสมาชิกรัฐสภา มีหน้าที่ควบคุมงบประมาณของรัฐบาล เหมือนแม่บ้าน ที่จะคุมงบประมาณประจำบ้าน ถ้าแม่บ้านไม่รู้ว่าเอางบไปทำอะไรก็อาจจะมีปัญหา หรือนำเงินไปใช้สุรุ่ยสุร่าย ไม่ถูกต้องก็ควบคุมไม่ได้ อีกทั้งหน่วยงานเล็กๆ อย่างรัฐสภา ถ้าผู้บริหารไม่รู้ที่มาที่ไป จะใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพก็จะไม่เกิดผลต่อประชาชนผู้เสียภาษีให้มีประสิทธิภาพ 

นายวันมูหะมัดนอร์ ยังระบุว่า เป็น สส. มาหลายปี สมัยก่อนไม่มีสำนักงบประมาณ เพิ่งมีเมื่อปี 2557 แต่ถือว่าทำงานได้ผล เป็นที่พึ่งพิงของสมาชิก เวลาอ้างอิง กรรมาธิการงบประมาณ  กว่า 70 % เชื่อว่าได้ใช้บทวิเคราะห์ของสำนักงบประมาณรัฐสภาไปพิจารณา เพราะเอกสารงบประมาณที่ให้มา 10 กว่าเล่มหนัก 20 กิโลกรัม แค่แบกกลับก็ไม่ไหว อีกทั้งเอกสารเป็นตัวเลขย้อนไปมา ถ้าจะให้เข้าใจต้องดูกฎหมาย พ.ร.บ. งบประมาณ พ.ร.บ. งบคงคลัง พ.ร.บ. การใช้หนี้ และกฎหมายหลายฉบับจึงจะวิจารณ์ได้ถูก  แต่สำนักงบฯไปอ่านและหลอมรวมมา ซึ่งเปรียบเหมือนเวลารับประทานอาหาร ที่สำนักงบ เป็นคนเอาอาหารไปปรุงใส่สมองของผู้อยากรู้อยากเห็น เพราะถ้าอ่านเอกสาร 20 กิโลกรัม คงต้องใช้เวลานับปี  และคงไม่รู้ทั้งหมด 

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวอีกว่า ได้มีการแจกเอกสารงบประมาณ 2567 ตั้งแต่วานนี้(27 ธ.ค.) จึงอยากจะเชิญชวนสมาชิก ให้มารับไปด้วย หากพิจารณาไม่ทันให้เอาบทวิเคราะห์ของสำนักงบประมาณของรัฐสภาไปดู เพราะบางคนอาจให้ความสำคัญกับงบประมาณน้อย บางคนไม่มารับเอกสารเป็นปี เลยเวลาพิจารณาไปแล้วยังไม่มาเอา ซึ่งมีการติดชื่อ สส. ไว้ด้วย ดังนั้นขอให้กรุณาเอาไป อ่านหรือไม่อ่าน ก็ให้เอาไปด้วย 

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ต่อไปในอนาคต ตนจะพยายามตั้งงบประมาณของรัฐสภาเอง โดยเอาเงินจำนวนหนึ่ง เช่น 5,000 7,000 หรือ10,000 ล้านบาท มาและให้สำนักงบประมาณของรัฐสภา กับหัวหน้าหน่วยงานต่างๆร่วมจัดตั้ง วิเคราะห์แต่ละหน่วยงานว่าต้องใช้งบใด เช่น งบประมาณประชุม งบดูงานต่างประเทศ งบประชาสัมพันธ์ วิเคราะห์อย่างละเอียด ไม่ใช่รัฐให้มา ได้มาไม่ตรงกับผู้ใช้ และที่สำคัญรัฐสภาฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ควบคุมรัฐบาล แต่ถ้าต้องไปขอรัฐบาล จะคุมได้อย่างไร ใครคุมใครกันแน่ คนถือเงินมักจะใหญ่เสมอ เช่นในครอบครัวใครถือเงินคนนั้นใหญ่ เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ หรือรัฐสภาในต่างประเทศ ที่เมื่อได้เงินมาถ้าเงินไม่พอต้องบริหารกันเอง ถ้าเงินเหลือไม่ต้องส่งคืนคลัง รัฐสภาอยากให้เป็นหน่วยยงานอย่างนั้น และแม้สภาจะตั้งงบเอง แต่ประธานที่จะพิจารณางบ นั้นจะให้รัฐมนตรีว่ากรกระทรวงการคลัง และให้ฝ่ายงบมาร่วมวิเคราะห์งบที่จะใช้ทั้งปี เราอาจมีกรรมาธิการติดตามงบประมาณ ซึ่งสิ่งที่พูดไว้เพื่อพัฒนารัฐสภาของเราในอนาคต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนใช้จ่ายงบประมาณของรัฐสภาอย่างมีประสิทธิภาพ  เนื่องจากภารกิจของรัฐสภานั้นมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนของบ้านเมือง 
ประธานรัฐสภายังคาดหวังว่าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 และการใช้จ่ายงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาทในครั้งนี้จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ