ย้อนรอย ‘ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ’ คว่ำรัฐบาล ‘จุดเปลี่ยน’การเมือง

ย้อนรอย ‘ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ’ คว่ำรัฐบาล ‘จุดเปลี่ยน’การเมือง

48 ปีของ "สภาไทย" ที่ตั้งต้นมี "ผู้นำฝ่ายค้าน" ถึงปัจจุบัน มีมาแล้ว 10 คน แต่ละยุคพบบทบาทของ "ผู้นำฝ่ายค้าน" ที่สำคัญ และ ส่งผลให้ "การเมือง" เกิดจุดเปลี่ยน

“ชัยธวัช ตุลาธน”​ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็น “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” ถือเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ลำดับที่ 10 นับตั้งแต่ที่สภาฯ เริ่มมีตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านครั้งแรก เมื่อปี 2518

หากดูหน้าที่ของ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 จะพบว่า ถูกวางไว้ให้มีอำนาจตรวจสอบ ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน คือ สามารถขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา เพื่อปรึกษาหารือร่วมกับระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศ โดยเป็นการประชุมลับ โดยไม่ลงมติ

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 155 ซึ่งกำหนดบทบังคับให้ “ประธานรัฐสภา” ต้องจัดให้มีการประชุมภายใน 15 วัน นับจากที่ “ผู้นำฝ่ายค้าน” แจ้ง และบังคับให้ “ครม.” มีหน้าที่ต้องร่วมประชุมด้วย

และมีบทบาทคัดกรอง บุคคลที่จะแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 203 กำหนดให้ “ผู้นำฝ่ายค้าน” เป็นกรรมการสรรหาผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญด้วย รวมถึงตรวจสอบจริยธรรม สส. ในฐานะ 1 ในกรรมการจริยธรรม

ย้อนรอย ‘ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ’ คว่ำรัฐบาล ‘จุดเปลี่ยน’การเมือง

นอกจากนั้นแล้ว “ผู้นำฝ่ายค้าน” ยังมีบทบาทสำคัญ ต่อการ “ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล” และ “ยื่นอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติ” โดยรับบทนำเสนอปมปัญหา และไต่สวน รายละเอียด

หากเทียบในสมัยที่ผ่านมา การรับบทนำในสภาฯ ฐานะฝ่ายตรวจสอบ ด้วยการ “เปิดอภิปรายรัฐบาล” ถือเป็นบทบาทสำคัญของ “ผู้นำฝ่ายค้าน”

 เมื่อย้อนดูผลงานของผู้นำฝ่ายค้านที่ผ่านมา ตามที่คลังสารสนเทศสถาบันนิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎร รวบรวมและเผยแพร่ต่อสาธารณะ จะพบว่า “ผู้นำฝ่ายค้าน” แต่ละคน ล้วนมีบทบาท และความโดดเด่นแตกต่างกันไปตามยุคสมัยและความเข้มข้นทางการเมือง

เช่น ยุคสภาฯ ชุดที่ 25 ที่มีผู้นำฝ่ายค้าน 2 คน เรียงลำดับจาก “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ผู้นำฝ่ายค้านลำดับที่ 8 ต่อด้วย “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ผู้นำฝ่ายค้านลำดับที่ 9 โดยผลงานใน 4 เทอมที่เกิดขึ้น ได้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีในรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จำนวน 4 ครั้ง และยังมีขอเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ 3 ครั้ง

แม้เสียงโหวตจากฝ่ายค้านในสภาฯ ขณะนั้น ไม่สามารถเอาชนะ หรือคว่ำ “รัฐบาลประยุทธ์” ได้ แต่ในความพยายามที่เกิดขึ้นในช่วงสมัยประชุม ทำให้ผลการเลือกตั้งในปี 2566 “ขั้วรัฐบาลประยุทธ์” เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความพยายาม “หยดน้ำลงหิน คสช.” จนกร่อน

ย้อนรอย ‘ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ’ คว่ำรัฐบาล ‘จุดเปลี่ยน’การเมือง

หากไม่นับเฉพาะอีเวนต์ใหญ่อย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรืออภิปรายทั่วไป งานใน “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ผู้นำฝ่ายค้านพร้อมด้วยพลพรรคฝ่ายค้าน ยังมีวีรกรรม “สกัดดาวรุ่ง” ผลงานของรัฐบาล-พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลในขณะนั้นหลายเรื่อง 

เช่น ร่างกฎหมายกัญชง กัญชา การตั้งกระทู้ถามสด-ญัตติ ที่เกี่ยวกับเรื่องความไม่โปร่งใสในการทำงานของรัฐบาล ทั้งการจัดหาวัคซีนโควิด-ถุงมือยาง-การใช้สารเคมีอันตรายในภาคเกษตรกรรม-การออกกฎหมายกู้เงินที่ก่อหนี้มหาศาล-การจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่ชี้ตรงจุดว่า “รัฐบาล คสช.” ส่อเอื้อให้เอกชน มากกว่า คำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชาชนและแก้ปัญหาให้ลุล่วง

หรือก่อนหน้านั้น ในยุคของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ผู้นำฝ่ายค้าน ลำดับที่ 7 ดำรงตำแหน่ง 3 ช่วง คือ 23 เม.ย.2548- 23 ก.พ. 2549, 27 ก.พ. 2551-17 ธ.ค. 2551 และ 16 ก.ย. 2554 - 9 ธ.ค. 2556 โดยผลงานของ “อภิสิทธิ์” ในช่วงแรก คือ เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาล ผ่านการเปิดตู้ ปณ.44 รัฐสภา กรุงเทพฯ 10305 รวมถึงเป็นช่องทางรับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชน พร้อมจัดให้มีการสื่อสารไปยังประชาชน ผ่านทางวิทยุรายการ “ผู้นำฝ่ายค้านฯ คุยกับประชาชน”

นอกจากนั้น ยังมีการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ผ่านการเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเปิดปูมการบริหารราชการบกพร่อง ปล่อยให้เกิดสินบนข้ามชาติ ในโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ 

ย้อนรอย ‘ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ’ คว่ำรัฐบาล ‘จุดเปลี่ยน’การเมือง สร้างแรงสะเทือน “รัฐบาล” ไม่น้อย เพราะมีข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์จากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ที่ระบุว่า มีการจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่และนักการเมืองไทย ในการติดตั้งเครื่องตรวจระเบิด CTX9000

รวมถึงตั้งคณะกรรมการเพื่อแกะรอยการทุจริตของรัฐบาล เช่น การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ การแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เป็นเหมือนการจุดเชื้อให้ประชาชนได้ติดตามการทำงานและ รวมตัวขนานใหญ่เพื่อเรียกร้อง-ประท้วง-ปกป้องทรัพย์สมบัติชาติ

หรือในยุคของ “บัญญัติ บรรทัดฐาน”​ ผู้นำฝ่ายค้าน ลำดับที่ 6 ช่วง 23 พ.ค. 2546 -5 ม.ค. 2548 ซึ่งเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง ฟาดกับรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ก่อนเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2549  ซึ่ง “บัญญัติ” รับบทบาทนำในการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ จำนวน 2 ครั้ง โดยชี้ช่องให้เห็น “ปม-ต้นตอของการทุจริต” ในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคมต่อการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และไม่ยอมรับในการบริหารงานของรัฐบาลที่ส่อว่าไม่โปร่งใส

ย้อนรอย ‘ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ’ คว่ำรัฐบาล ‘จุดเปลี่ยน’การเมือง

ขณะที่ในยุคของ “ชวน หลีกภัย” ผู้นำฝ่ายค้าน ลำดับที่ 5 ดำรงตำแหน่ง 3 ช่วง คือ 4 ส.ค.2538 - 27 ก.ย.2539, 21 ธ.ค.2539 - 8 พ.ย. 2540, 11 มี.ค. 2544 - 3 พ.ค. 2546 ผลงานเมื่อครั้งยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ “บรรหาร ศิลปอาชา” เมื่อก.ย.2539 ในประเด็นการทุจริตต่อหน้าที่ ปลอมวุฒิการศึกษา การจัดซื้อที่ดินของตระกูล และโยกงบประมาณสิ่งแวดล้อมโดยผิดกฎหมาย

จนเกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง คือ แกนนำร่วมรัฐบาล 5 พรรค เสนอให้นายกฯ “บรรหาร” ลาออก เพื่อแลกโหวตไว้วางใจ 207 คะแนน 

ทว่า “บรรหาร" กลับเลือกจะยุบสภา เมื่อ 27 ก.ย.2539 เพื่อหวังผล คุมการเลือกตั้งทั่วไป จากเหตุการณ์นี้ทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญในครั้งถัดมา จึงกำหนด “ข้อห้ามนายกฯ ยุบสภาฯ” ระหว่างยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนกว่าจะมีการลงมติชี้ขาด

อย่างไรก็ดี บทบาทของผู้นำฝ่ายค้าน ที่สร้างจุดเปลี่ยนทางการเมือง ที่น่าสนใจ ยังมีเมื่อครั้ง “บรรหาร” พลิกไปเป็นผู้นำฝ่ายค้านใน ช่วง 27 พ.ค. 2537 - 19 พ.ค.2538 ได้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ “นายกฯชวน หลีกภัย” กรณีแจก ส.ป.ก.4-01 ที่ขัดต่อกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ถูกกล่าวหาว่านำที่ดินไปแจกให้คนรวย ญาติพี่น้อง และหัวคะแนน แทนเกษตรกรที่ยากไร้

ย้อนรอย ‘ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ’ คว่ำรัฐบาล ‘จุดเปลี่ยน’การเมือง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามมา คือ “พรรคพลังธรรม” ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล และงดออกเสียงไว้วางใจ ทำให้นายกฯ “ชวน หลีกภัย” ต้องยุบสภา

หน้าประวัติศาสตร์ของผู้นำฝ่ายค้านที่ผ่านมา ได้สะท้อนบทบาทสำคัญอันถือเป็นหัวใจสำคัญของผู้นำ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ในการตรวจสอบ “รัฐบาล” เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชน จนเกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง อย่างมีนัยสำคัญ  

สำหรับผู้นำฝ่ายค้านป้ายแดง ในยุค “ชัยธวัช ตุลาธน”จากพรรคก้าวไกล ได้ถูกตั้งความหวังไว้สูง จึงเป็นความท้าทายฝีมือฝ่ายค้านรุ่นใหม่ ในยุคที่การเมืองแรง และเปลี่ยนแปลงเร็ว.