‘ถ้าเอาแต่ใจ สังคมไปไม่ได้’ 'ภูมิธรรม เวชยชัย' ขีดเส้น 4 ปี ใช้ รธน.ใหม่

‘ถ้าเอาแต่ใจ สังคมไปไม่ได้’  'ภูมิธรรม เวชยชัย' ขีดเส้น 4 ปี ใช้ รธน.ใหม่

"มันไม่มีอะไรได้มาก 100% ทันทีทันใด รัฐธรรมนูญในโลกประชาธิปไตยของทุกประเทศมีพัฒนาการทั้งนั้น กว่าจะผ่านมาถึงวันนี้มันผ่านมาเป็น 100 ปีหรือหลาย 100 ปีของแต่ละประเทศ"

เป็นคำกล่าวของ "ภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ "กรุงเทพธุรกิจ"ภายในโรงแรม THAMES VALLEY KHAO YAI ที่ จ.นครราชสีมา หลังเสร็จสิ้นสัมมนา “พรรคเพื่อไทย” ในวันที่รัฐธรรมนูญของไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเดินทางมาถึงปีที่ 91 เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2566

อีกบทบาทสำคัญที่ "ภูมิธรรม" ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีและ "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี  คือเป็นประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

"ถ้าเอาแต่ใจตัวเอง สังคมมันไปไม่ได้ ผมอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่มันผ่านให้ได้คราวนี้ มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าเดิม" รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายหลักของรัฐบาลภายใต้การนำของ "พรรคเพื่อไทย"  จะต้องผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จให้ได้ภายในกรอบเวลา 4 ปี ของรัฐบาล

นโยบายเร่งด่วนสุดท้ายของที่ ครม.เศรษฐาได้แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566  คือการแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยให้คำมั่นว่าจะทำให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ 

"รัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตยทันสมัย และเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภาเพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง" ถ้อยแถลงนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

"ถ้าเตะถ่วงหรือทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขล่าช้า เราที่เป็นรัฐบาลอยู่ก็ทำอะไรได้ยากภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้"

‘ถ้าเอาแต่ใจ สังคมไปไม่ได้’  \'ภูมิธรรม เวชยชัย\' ขีดเส้น 4 ปี ใช้ รธน.ใหม่

สอดคล้องกับนโยบายหลักของ "พรรคเพื่อไทย" ที่โหมแคมเปญในช่วงหาเสียงว่า จะจัดทำ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดยคงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและผ่านขั้นตอนการออกเสียงลงประชามติโดยประชาชน

ทั้งนี้ "ภูมิธรรม" ย้ำถึงหน้าตาของรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 21 ว่า "ผมอยากเห็นรัฐธรรมนูญเป็นไปตามกระบวนการให้มีพัฒนาการของมัน แล้วทำให้รัฐธรรมนูญเป็นวิถีชีวิต เป็น Way of Life  ของประชาชน"

"รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องคำนึงถึงคุณค่าวัฒนธรรม คุณค่าสังคมไทย ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปต้องฟังเสียงประชาชน ผมอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่เคารพสิทธิเสรีภาพของคน ผดุงความยุติธรรม ความเท่าเทียมกันดูแลคนทุกส่วนเท่าที่ทำได้"

"ผมอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่มันผ่านให้ได้คราวนี้ มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าเดิม"

"ถ้าทุกคนไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเสร็จแน่นอน  แต่ถ้าเอาตัวเองเป็นใหญ่เป็นศูนย์กลาง ทุกคนยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองอยากเห็นอยากเป็น ไม่คำนึงถึงความร่วมมือกันหลากหลาย มันยังไงก็ไม่เสร็จ เพราะฉะนั้นชั่งใจเอาว่าจะเอาแบบไหน เอาให้รัฐธรรมนูญเสร็จก็ยกเลิกความเป็นศูนย์กลางของตัวเอง แล้วมาช่วยกันแก้"

 

‘ถ้าเอาแต่ใจ สังคมไปไม่ได้’  \'ภูมิธรรม เวชยชัย\' ขีดเส้น 4 ปี ใช้ รธน.ใหม่

เป้าหมายของรัฐบาลนั้นแน่นอนว่า การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น จะไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 เพราะเกี่ยวข้องกับรูปแบบของรัฐ และอำนาจขององค์สถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง รัฐบาลจะไม่แตะต้องกับ 2 หมวดนี้

ทำให้ "ภูมิธรรม" มั่นใจว่า ถ้าไม่แก้ไข 2 หมวดนี้ จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าลุล่วงและจบลงด้วยดีเป็นผลสำเร็จ

"ประเทศที่เขาเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด อยู่ที่เขาปล่อยให้มีพัฒนาการของมันเอง พัฒนาของมันจะควบคู่ไปกับพัฒนาการการเรียนรู้ของพี่น้องประชาชน ถ้าเราปล่อยให้เป็นไปตามบทบาทและหน้าที่ของมันเอง ประชาชนจะค่อยๆ เรียนรู้ ถ้าทำให้รัฐธรรมนูญเป็นวิถีชีวิตจะได้เรียนรู้ บวก ลบ ต่างๆ ของรัฐธรรมนูญและนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยมากขึ้นจนถึงขั้นจิตสำนึก และวิสัยทัศน์ความคิดมันจะเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด"

 

‘ถ้าเอาแต่ใจ สังคมไปไม่ได้’  \'ภูมิธรรม เวชยชัย\' ขีดเส้น 4 ปี ใช้ รธน.ใหม่

ส่วนพัฒนาการของรัฐธรรมนูญฉบับประเทศไทยที่ผ่านมาถึงปีที่ 91 นั้น และมีเนื้อหาไม่ต่อเนื่องสะดุดหยุดลงไม่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ "ภูมิธรรม" มองสาเหตุหลักมาจากอำนาจนอกระบบ คือ รัฐประหารเข้ามาขัดขวาง

"กระบวนการรัฐประหารมันตัดตอนรัฐธรรมนูญให้สะดุดหยุดลง และทำให้ประชาธิปไตยมันเสียหาย เพราะว่า พอรัฐประหารเสร็จกลายเป็นการใช้อำนาจเป็นการปกครองที่เป็นคณะบุคคลมีอำนาจในการจัดการ หลายครั้งการเป็นประชาธิปไตย มันเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมและดึงเอาความสามารถของประชาชนทั้งหมดมาใช้ได้"

นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิไตย มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศตั้งแต่ปี 2475 มีเพียง 1 ครั้งที่รัฐธรรมนูญสามารถเอื้อให้ฝ่ายบริหารทำงานครบเทอม 4 ปีเต็ม คือ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2544-2548

"สิ่งที่น่าเสียใจรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเรามีรัฐบาลได้ไม่ต่อเนื่อง จากการเลือกตั้ง มีแค่รัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้นที่อยู่ครบ 4 ปีครบวาระ นอกนั้นไม่เคยครบวาระ มีรัฐบาลทหารเท่านั้นอยู่ครบวาระ เพราะใช้อำนาจในการกดประชาชนอยู่"

รองนายกรัฐมนตรีในวัย 70 ปีเต็ม มองว่า การเรียกร้องในหลายครั้งมีความสุดโต่งและเกินไป ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดการรัฐประหารได้อยู่ตลอด แต่การทำให้สังคมมีความเป็นประชาธิปไตยได้นั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับพัฒนาการของสังคมนั้นๆด้วย

"เริ่มต้นจากการใช้ชีวิตทุกอย่างให้เอาความเป็นประชาธิปไตย เอาความยุติธรรมเข้ามา เอาความเสมอภาคเข้ามาทุุกอย่างจะเป็นกระบวนการเรียนรู้ แล้วเป็นจิตวิญญาณที่รักประชาธิปไตยของประชาชนทั้งสังคม มันจะยกระดับสังคมทั้งสังคมให้ลุกขึ้นมาได้"

ยิ่งปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ที่เกิดจากการยกร่างภายใต้อำนาจของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ที่มาจากการรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. 2557 ทำให้เป็นข้อผูกรัดข้อจำกัด จนส่งผลให้ประเทศที่เกิดภาวะวิกฤต เพราะรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย บังคับใช้ต่อเนื่อง 10 ปี

"ถ้ามัวขัดแย้งกันมากแล้วไม่แล้วเสร็จเราก็ต้องกลับไปใช้รัฐธรรมนูญเดิม มีชีวิตอยู่แบบเดิมๆ เพราะฉะนั้นเราถึงเรียกร้องว่าต้องเอาให้เสร็จ ทุกฝ่ายต้องยอมรับ"

รองนายกรัฐมนตรี ย้ำอีกว่า เราสามารถเป็นรัฐบาลได้ด้วยการแยกสลายความขัดแย้งเดิมที่เป็นความขัดแย้งสีเสื้อ จึงไม่อยากเห็นความขัดแย้งใหม่เกิดขึ้น เพราะความขัดแย้งทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ และทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสหยุดพัฒนาไป 10 กว่าปี 

สำหรับขั้นตอนความคืบหน้าในการหาข้อยุติการออกเสียงประชามติเพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า คณะแรกเรารับฟังความเห็น เราตั้งเป้าอันดับหนึ่งรัฐสภา เพราะรัฐสภามีอำนาจแก้ไขปรับปรุง เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนี้ได้ เราได้ทำแบบสอบถามถาม สส.ทั้งหมด 500คน ถาม สว.ทั้งหมด 250 คน ตอนนี้เรารวบรวมมาได้หมดแล้ว ก็รอเปิดสมัยประชุมรัฐสภาในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ เราจะจัดเวทีให้รัฐสภาคุยกันแล้วถก เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันให้ได้ ซึ่งเป็นด่านแรก ถ้ามีทิศทางก็ทำให้เราเห็นได้ว่า ถ้าไประดับไหนผ่านแน่นอน ถ้าไปต่างระดับมันก็ต้องลุ้นกันต่อ

ถามย้ำว่า ควรออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกี่ครั้ง "ภูมิธรม" ระบุว่า "จะทำประชามติ 2 ครั้งหรือ 3 ครั้งก็ต้องพิจารณาเรื่องนี้ เพราะทำแต่ละครั้งใช้เงินจำนวนมาก 3,000 กว่าล้านบาท ถ้าทำ2 ครั้งก็เหลือ 6,000 ล้านบาท ถ้าทำ3 ครั้งก็ 9,000 ล้านบาท หรือหมื่นล้านบาท  เพราะเงินเหล่านี้เป็นเงินสำคัญ"

"ถ้าเราตัดสินใจทำประชามติ 2 ครั้ง แล้วศาลรัฐธรรมนูญบอกต้องทำ 3 ครั้ง กฎหมายฉบับนี้ก็เสียหายตกไป เพราะฉะนั้นเราถึงพยายามถาม บางทีก็ได้คำตอบไม่ชัดเจนหรือยืนยันได้ว่าเป็นแนวทางถูกต้องที่ต้องเดิน เป็นเพียงความคิดเห็น เราต้องใช้ดุลพินิจมากเหมือนกัน"

รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า ล่าสุดเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นแนวทางการจัดออกเสียงประชามติ แต่ยังไม่ใช่องค์คณะที่เป็น กกต. ทำให้ตนเองต้องทำหนังสือเรียนไปถึงประธาน กกต.ว่าขอให้ความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย เพราะการที่ ครม.อนุมัติให้ทำประชามติจะต้องทำกี่ครั้งถึงจะเหมาะสม 

"เงินไม่สำคัญเท่ากับรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน อาจจะต้องจ่ายมาก ถ้าเป็นช่องทางผ่านได้ แล้วเป็นช่องทางที่ยอมรับกันได้ มันก็จะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์"

ส่วนข้อครหาตั้งคณะกรรมการมาศึกษาประชามติ เพื่อซื้อเวลาหรือเตะถ่วงแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น "ภูมิธรรม"  ปฏิเสธว่า "ถ้าตัดสินใจผลีผลาม มันมีแนวโน้มที่ทำให้เราผิดพลาดได้ เราไม่อยากผิดพลาดอีกในขณะนี้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย เราถึงอยากให้ผลักดันออกมาให้เป็นประชาธิปไตยที่สุด ไม่มีใครอยากจะออกกติกาที่พันธนาการตัวเอง จนทำงานไม่ได้"

"รัฐบาลนี้ไม่มีความประสงค์จะเตะถ่วงให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า เพราะว่าถึงแม้รัฐธรรมนูญนี้อยู่ในอำนาจรัฐบาล ถ้าเตะถ่วงหรือทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขล่าช้า เราที่เป็นรัฐบาลอยู่ก็ทำอะไรได้ยากภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราอยากทำอะไรได้สะดวกขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้มากขึ้น ดังนั้น ไม่มีแน่นอน การจะเตะถ่วง มีแต่ว่าทำอย่างไรให้มันเร็วที่สุด"

‘ถ้าเอาแต่ใจ สังคมไปไม่ได้’  \'ภูมิธรรม เวชยชัย\' ขีดเส้น 4 ปี ใช้ รธน.ใหม่

"เราจะทำให้มันเสร็จภายในรัฐบาลเรา 4 ปีนี้พร้อมกฎหมายลูก หวังว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นการเลือกตั้งที่ใช้รัฐธรรมนูญและกติกาใหม่ทั้งหมด ถ้ารัฐธรรมนูญเริ่มมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มันก็จจะคลายวิกฤตได้ลง ถ้ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยมันจะก็รักษาให้วิกฤตการณ์นี้ดำรงอยู่และเพิ่มมากขึ้น"

เมื่อถามว่า ต้นปี 2567 คนไทยจะได้ออกเสียงประชามตินับหนึ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ รองนายกฯ ระบุว่า ภายในสิ้นปี 2566 น่าจะมีบทสรุปได้เห็นเป็นอย่างไร อาจเป็นข้อสรุปที่ชัดเจนหรือหลายทางแล้วมีความเห็นเสนอให้ ครม.พิจารณา ซึ่งภายในสิ้นปีนี้คณะกรรมการศึกษาจะจบ

"เราจะเสนอ ครม.ในประมาณไตรมาสแรกก่อน เพราะเดี๋ยวหาว่าเราพูดไม่ตรงมีปัญหาอีก แต่คาดว่าภายใน ม.ค. 2567 จะทำให้ได้ ถ้าเราทำได้และมีมติ ครม.ชัดเจนจะถูกส่งไปที่ กกต. เพราะ กกต.ต้องทำกระบวนการต่างๆ ผมเชื่อว่าภายในเดือน ม.ค.อย่างช้าไม่เกิน มี.ค. 2567 กระบวนการจากครม.หรือเป็นกฎหมาย ครม.ออกประชามติไปน่าจะเสร็จ ส่วนกระบวนการต่างๆก็ดำเนินไปตามวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ"

ถามย้ำว่า กลางปี 2567 คนไทยจะได้ออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกหรือไม่ "ภูมิธรรม"  กล่าวว่า  มีความเป็นไปได้ แต่ถ้ามีกระบวนการไปศาลรัฐธรรมนูญก็จะล่าช่าได้ แต่เชื่อว่าเป้าหมายของรัฐบาลจะทำให้เสร็จภายใน 4 ปีของรัฐบาล

"ได้เตรียมการป้องกันไว้ คือ เราจะให้พรรคการเมืองคุยกัน ถ้าพรรคการเมืองไหนมีอำนาจขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ รัฐบาลไม่มีอำนาจนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าพรรคการเมืองเสนอเป็นวาระเข้ามาคุยกัน ถ้าไม่มีข้อยุติก็สามารถให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ว่าอย่างไรถึงจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด จะเป็นทางคู่ขนานที่เราทำคู่กันไป"

ส่วนโมเดล สสร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นจริงใน 4 ปีนี้หรือไม่ "ภูมิธรรม"  ชี้แจงว่า ยังเป็นประเด็นที่มีข้อเห็นแตกต่างอยู่ เพราะบางกลุ่มวิชาชีพเห็นว่าถ้าให้ สสร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดก็จะทำให้ตัวแทนวิชาชีพลงไปสู้ไม่ได้ เพราะไม่มีเงินทองพอจะชนะเลือกตั้ง ดังนั้น ที่มาของ สสร.จะต้องมาหาข้อสรุปอีกครั้ง เพราะประชาธิปไตยเป็นเรื่องเสียงข้างมากต้องเคารพเสียงข้างน้อยด้วย

“อยากให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นก็ต้องร่วมกันผ่านให้ได้ ร่วมกันทำให้ผ่านให้ได้ต้องไม่ยึดความต้องการตัวเองเป็นหลัก เอาความต้องการของตัวเองไปร่วมกับคนอื่นแล้วเอาจุดที่ร่วมกันก็จะผ่านได้”

"ถ้าเรายังคุยไม่จบตรงนี้ ยังถือทิฐิ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็เกิดขึ้นได้ยาก ถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่สมบูรณ์ไหม ผมเชื่อว่าไม่สมบูรณ์หรอก แต่ถามว่าประชาธิปไตยมากขึ้นไหม ผมว่าเราทำได้"