‘ก้าวไกล’ ชูธงรัฐธรรมนูญใหม่ ภารกิจสุดท้าย ถอนโคน 'อนุรักษนิยม'

‘ก้าวไกล’ ชูธงรัฐธรรมนูญใหม่ ภารกิจสุดท้าย ถอนโคน 'อนุรักษนิยม'

บทสรุปสุดท้ายประเทศไทย จะมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ใช้หรือไม่ และมีโฉมหน้าเป็นอย่างไร จะทัน “เส้นตาย” ภายใน 4 ปีตามคำประกาศของ “เพื่อไทย” หรือไม่ ต้องติดตามกัน

ครบรอบ 10 ธ.ค. วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉบับแรก เมื่อปี 2475 ปัจจุบันผ่านมาแล้ว 91 ปี ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 19 ฉบับ และมีทีท่าว่าอาจมีฉบับที่ 20 ในอีกไม่ช้า

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เพิ่งผ่านพ้นรัฐบาลจำแลง “คณะรัฐประหาร” ก้าวเข้าสู่ยุค “รัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว” ตามคำนิยามของ “ฝ่ายค้าน” อย่าง “พรรคก้าวไกล

ทำให้ “ก้าวไกล” จำเป็นต้องยื่นเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง โดยอ้างว่าเป็นฉบับจากการฟังเสียงเรียกร้องของ“ประชาชน” ภายหลังการประท้วงครั้งใหญ่ในประเทศช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมาภายหลัง “พรรคอนาคตใหม่” ถือกำเนิดขึ้น ก่อนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “ยุบพรรค” และจำแลงแปลงกายมาเป็น “พรรคก้าวไกล” นั้น มีการยื่นขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยโฟกัสหลักไปที่การ “แก้ทั้งฉบับ” และมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ “ส.ส.ร.” จากการเลือกตั้ง

หากนับรวม “องคาพยพสีส้ม” ทั้งพรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า และเครือข่าย พบว่ามีการล่ารายชื่อเสนอรัฐสภาเพื่อขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้งด้วย โดยครั้งสำคัญๆ เช่น เมื่อปี 2564 “ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และเลขาธิการคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย  ไอติม "พริษฐ์ วัชรสินธุ” เมื่อครั้งเป็นตัวแทนกลุ่มรีโซลูชั่น (Re-Solution) ยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดีที่ประชุมร่วมของรัฐสภามีมติไม่รับหลักการ ในวาระที่ 1 ด้วยคะแนนเสียง 473 ต่อ 206 งดออกเสียง 6

ต่อมาช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 พรรคก้าวไกล ใช้วิธีใหม่ด้วยการเสนอให้มีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ต้องมี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ อย่างไรก็ดีเมื่อเดือน ก.พ. 2566 ก็ถูกที่ประชุมวุฒิสภา(สว.) ตีตกญัตติดังกล่าวจากสภาฯไปอีก

แม้ว่าในช่วงภายหลัง การเลือกตั้ง 2566 เมื่อครั้ง “ก้าวไกล” ยังถือไม้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลอยู่ จะพยายามเขียนในบันทึกข้อตกลง (MOU) กับพรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้น โดยให้ความสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นลำดับแรกก็ตาม แต่สุดท้าย “ก้าวไกล” กระเด็นหลุดวงโคจรอำนาจ พลิกกลับไปเป็น “ฝ่ายค้าน” ส่งผลให้การสานฝันร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องดับลงไปด้วย

เพราะ “เพื่อไทย” ในฐานะแกนนำรัฐบาลใหม่ ยืนยันจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญชัดเจนคือ ไม่แก้ทั้งฉบับ โดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 

นอกจากนี้ยังตั้งคณะกรรมการหารือแนวทางประชามติ มี “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบ โดยประกาศ “เส้นตาย” ทำให้เสร็จภายใน 4 ปี หรือภายในสมัยของรัฐบาลชุดนี้

นอกจากนี้ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯคนที่ 30 ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทําประชามติ มี “ภูมิธรรม” เป็นประธาน โดยมีคณะกรรมการรวม 35 คน แต่ไร้เงาของ “ก้าวไกล”

โดยสาเหตุของการไม่ตอบรับเข้าร่วมเป็นกรรมการชุดนี้ เนื่องจากไม่มั่นใจว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญ “ทั้งฉบับ” หรือไม่ และจะมีการตั้ง ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งภาคประชาชนหรือไม่

อย่างไรก็ดี ล่าสุด พรรคก้าวไกลประกาศ “ภารกิจสุดท้าย” ชูธง “แก้รัฐธรรมนูญใหม่” ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของ “ขงเบ้งสีส้ม” ชัยธวัช ตุลาธน ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ แทน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่คดีความยังคาราคาซังในศาลรัฐธรรมนูญ

“ชัยธวัช” ระบุตอนหนึ่งในวันได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคว่า ขอเชิญชวนให้ร่วมกันผลักดันรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน จากนี้ ต่อไปขอให้ทุกคนช่วยกันรณรงค์ เรียกร้องให้มีการทำประชามติ ถามประชาชนว่าต้องการทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ และต้องทำ ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชนทั้งหมดไม่ต้องกั๊ก ไม่ต้องมีข้อยกเว้น เพราะประชาชนมีอำนาจสูงสุดในการสถาปนารัฐธรรมนูญ 

ดังนั้นการผลักดันการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมาจากประชาชน และการเมืองที่อนุญาตให้รัฐประหารได้ตลอดเวลา ถ้านายพล จะมายึด ไม่ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง แต่ถ้าโพสต์เฟชบุ๊ก หรือทวิตเตอร์แบบที่ผู้มีอำนาจไม่อยากเห็น ก็อาจจะต้องติดคุกเป็น 10 ปีหรือถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต

“การเมืองให้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้เป็นพัก ๆ แต่ไม่ยอมให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน จึงอยากเรียกมันว่า เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีประชาชนเป็นไม้ประดับ” ชัยธวัช ระบุ

ข้อเสนอสำคัญของ “ก้าวไกล” ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องมีเนื้อหาที่ครอบคลุมอย่างน้อย 3 ด้าน ปิดช่องรัฐประหาร เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกฉีกได้ง่าย เพิ่มสิทธิของประชาชนในการต่อต้านรัฐประหาร และกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร ห้ามศาลทั้งปวงรับรองรัฐประหาร และกำหนดให้ทุกสถาบันทางการเมืองมีหน้าที่ร่วมกันในการปกป้องประชาธิปไตย ห้ามนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร และเปิดช่องให้ประชาชนดำเนินคดีกับผู้ก่อรัฐประหารในความผิดฐานกบฎได้

รวมถึงปกป้องเสียงของประชาชน ผ่านการรื้อกลไกที่ถูกใช้ในการสืบทอดอำนาจ ยกเลิกวุฒิสภาของ คสช. ทำให้รัฐสภาเป็นของประชาชน อำนาจ-ที่มามีความชอบธรรม ยกเครื่องศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ทำให้เป็นกลาง มีระบบตรวจสอบที่ยึดโยงกับประชาชน ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้นโยบายเท่าทันโลก และกำจัดข้ออ้างในการไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อให้อำนาจในการกำหนดอนาคตของทุกพื้นที่ทุกจังหวัด อยู่ในมือของประชาชนผู้เกิด-ผู้อาศัย-ผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่ ไม่ใช่ส่วนกลาง

ที่สำคัญร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ขีดเขียนโดยประชาชน กล่าวคือรัฐธรรมนูญต้องร่างโดย ส.ส.ร.ที่มาจากเลือกตั้ง 100% และมีอำนาจพิจารณาแก้ไขทั้งฉบับ ทุกหมวดทุกมาตรา เพื่อโอบรับความฝันของทุกคนในประเทศอย่างแท้จริง

ทว่า ข้อเสนอดังกล่าว ยังคงไม่ได้รับการตอบรับจาก “คณะกรรมการฯ” ชุด “ภูมิธรรม” ทั้งหมด แต่อยู่ระหว่างการ “หารือ” เพียงเท่านั้น

บทสรุปสุดท้ายประเทศไทย จะมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ใช้หรือไม่ และมีโฉมหน้าเป็นอย่างไร จะทัน “เส้นตาย” ภายใน 4 ปีตามคำประกาศของ “เพื่อไทย” หรือไม่ ต้องติดตามกัน