'ก้าวไกล' แนะรัฐบาลบรรจุ 5 แสนล้าน ทำ 'เงินดิจิทัล' ใน พ.ร.บ.งบฯ 67 ทัน

'ก้าวไกล' แนะรัฐบาลบรรจุ 5 แสนล้าน ทำ 'เงินดิจิทัล' ใน พ.ร.บ.งบฯ 67 ทัน

'ก้าวไกล' แนะรัฐบาลมีเวลาทำงบ 5 แสนล้าน 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ใน พ.ร.บ.งบฯปี 67 ย้ำออกเป็น พ.ร.ฎ.กู้เงินฯ ไม่เข้าเงื่อนไขกฎหมายการเงิน ชี้นโยบายแก้หนี้นอกระบบล้มเหลว แนะนิรโทษกรรมเจ้าหนี้ ให้ความร่วมมือรัฐไกล่เกลี่ย

เมื่อวันที่  7 ธ.ค. 2566 ที่รัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงว่า เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาในการให้ความเห็นทางกฎหมาย ในการตอบคำถามของกระทรวงการคลัง ในการออก พ.ร.ฎ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยตามปฏิทินการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่สำนักงบประมาณได้จัดทำและครม. ได้อนุมัติก่อนหน้านี้ ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเวลาที่สำนักงบประมาณรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 12 ธ.ค. และขั้นตอนต่อไปคือการจัดพิมพ์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณและเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบในวันที่ 26 ธ.ค. 2566 และจะเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวให้สภาพิจารณาในวันที่ 3-4 ม.ค.2567 

นายจุลพงศ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงเรื่องโครงการดิจิทัลวอลล็อต ไปจนถึงวันที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2567 จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระแรก รัฐบาลมีเวลาที่จะนำเงินกู้ 5 แสนล้านบาทเข้าไปใส่ไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ได้ทัน โดยเงื่อนไขตามมาตรา 53 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561  มีเงื่อนไขสำคัญคือเงื่อนไขความจำเป็นเร่งด่วน เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ  และไม่สามารถตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน ต้องครบองค์ประกอบทั้ง 2 ข้อนี้จึงจะเป็นการกู้เงินตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินคลัง  ดังนั้นการเสนอ พ.ร.ฎ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่แยกต่างหากจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 53 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

นายจุลพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามตนไม่ได้ให้ความเห็นในเรื่องของความจำเป็นเร่งด่วนวิกฤตของเศรษฐกิจ เพราะตนเห็นด้วยกับเลขาธิการกฤษฎีกาว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีหน้าที่บอกรัฐบาลว่าจำเป็นต้องกู้เงิน 5 แสนล้านบาทหรือไม่ และตนจะติดตามเรื่องนี้กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป

ส่วนเรื่องโครงการแก้หนี้นอกระบบที่นายเศรษฐาได้ประกาศไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น นายจุลพงศ์ กล่าวว่า ตนขอแสดงความชื่นชมในความตั้งใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่จะให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจเป็นตัวกลางในการเจรจาหนี้นอกระบบ แต่การให้ลงทะเบียนลูกหนี้โดยเปิดเผยเจ้าหนี้ในทางปฏิบัติไม่เกิดผลสำเร็จได้แน่ เพราะหนี้นอกระบบทั้งหมดจะเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งผิดกฎหมายอาญาและมีโทษจำคุกถึง 2 ปี หากเจ้าหนี้นอกระบบเปิดเผยตนเองเท่ากับยอมรับผิด ลูกหนี้จะกลายเป็นผู้เสียหาย และเจ้าหนี้ก็จะเป็นจำเลย ไม่รวมถึงการเกรงอิทธิพลของเจ้าหนี้ในพื้นที่ ตนจึงคิดว่าการลงทะเบียนจะไม่ได้ผล

"จากการติดตามข่าวทราบว่าตลอด 7 วันที่ผ่านมามีการลงทะเบียนรวมทั้งสิ้นประมาณ 3,300 ล้านบาท แต่จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติหนี้ครัวเรือนมีมากกว่า 3 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้นใน 7 วันที่ผ่านมาถือว่าเป็นการลงทะเบียนที่น้อยมาก อีกปัญหาหนึ่งหากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจในท้องที่เป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้นอกระบบเสียเอง ก็จะเกิดการขัดกันของผลประโยชน์ จึงอยากตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่าจะแก้อย่างไร ขอเสนอให้รัฐบาลทำควบคู่ไปกับการลงทะเบียนคือการไกล่เกลี่ยหนี้ รวมถึงพิจารณานิรโทษกรรมเจ้าหนี้นอกระบบที่ให้ความร่วมมือและสามารถเจรจาหนี้โดยผ่านกลไกของรัฐ โดยการนิรโทษกรรมนี้ทำเฉพาะเจ้าหนี้นอกระบบที่ให้ความร่วมมือเท่านั้น" นายจุลพงศ์ กล่าว 

นายจุลพงศ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนเรื่องการลงทะเบียนหนี้นอกระบบที่รัฐบาลกำหนดระยะเวลาไว้ 3 เดือน จากวันที่ 1 ธ.ค.นั้น ลูกหนี้นอกระบบยังต้องแบกรับดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 เดือน ยังไม่รวมถึงขั้นตอนทางราชการและยังไม่ทราบว่าจะสามารถไกล่เกลี่ยหนี้ได้เมื่อไร แน่นอนว่าในระยะ 3 เดือนดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบจะมากกว่าเงินต้น ตนขอเสนอการแก้ไขหนี้นอกระบบในภาพรวมอย่างยั่งยืนคือรัฐบาลควรต้องใช้กลไกธนาคารของรัฐ หรือกองทุนกำหนดดอกเบี้ยต่ำ โดยประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนรายย่อยง่ายขึ้น และรัฐบาลต้องเข้ามาค้ำประกันหนี้ให้ อีกข้อเสนอคือรัฐบาลต้องสร้างช่องทางการหารายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างทักษะแรงงานใหม่ๆ หรือการเสนอให้มีการจ้างงานโดยมีค่าแรงรายชั่วโมง เพื่อให้คนทำงานประจำสามารถหารายได้ในเวลาเลิกงานหรือวันหยุดโดยไม่กระทบกับงานประจำ เช่น งานร้านสะดวกซื้อ งานดูแลผู้สูงอายุ หรืองานร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งตนจะติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้ต่อไป