นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล จำเป็นเร่งด่วนหรือไม่?

นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล จำเป็นเร่งด่วนหรือไม่?

โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้ข้อสรุปล่าสุดผ่านการแถลงข่าวโดยนายกฯ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญคือ “การกู้เงินมาแจกประชาชน” โดยแจกเงินให้กับผู้มีสิทธิอายุมากกว่า 16 ปี 50 ล้านคน ยกเว้นคนรวยประมาณ 4.8 ล้านคน

ทำให้ใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท และมีการเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 1 แสนล้านบาท รวมเป็น 6 แสนล้านบาท

แหล่งที่มาของงบประมาณ รัฐบาลตัดสินใจเลือกใช้การออกกฎหมาย พ.ร.บ.เงินกู้ ซึ่งต้องผ่านการตีความโดยกฤษฎีกา และดำเนินการในกระบวนการรัฐสภา ตั้งเป้าหมายว่าจะเริ่มแจกเงินได้ในเดือนพ.ค.ปีหน้า

การออกกฎหมายเพื่อกู้เงินของรัฐบาลทำได้ตามมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มีเงื่อนไขสำคัญคือ เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศโดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

จากความชัดเจนที่มีมากขึ้นพอสมควร แต่ยังมีความไม่แน่นอน (uncertainty) ของโครงการที่ผ่านกระบวนการออกกฎหมายเพื่อหาแหล่งเงิน ผู้เขียนเห็นว่ามี 2 ฉากทัศน์อนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้สำหรับโครงการนี้

ฉากทัศน์ที่ 1 พ.ร.บ.เงินกู้ไม่ผ่านในกระบวนการออกกฎหมาย ทำให้ไม่มีแหล่งเงินสำหรับโครงการ

ในฉากทัศน์แรกมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง โครงการอาจถูกยกเลิกด้วยกลไกใดกลไกหนึ่งในกระบวนการออกกฎหมาย เช่น จากการไม่เห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาของคณะรัฐมนตรี หรือจากการไม่ได้เสียงข้างมากในรัฐสภา ซึ่งอาจทำให้ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ ตกไป ทำให้ขาดแหล่งเงินเพื่อใช้ในโครงการ

ในฉากทัศน์นี้ สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางที่ระมัดระวังของผู้เชี่ยวชาญ และผู้ร่างกฎหมาย ที่ให้ความสำคัญกับวินัย และความรับผิดชอบทางการคลัง และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าการลุ้นผลกระทบการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยใช้เงินกู้จำนวนมาก ซึ่งสร้างความกังวลเกี่ยวกับการขาดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน

งานวิจัยส่วนใหญ่พบว่า ตัวคูณทวีทางการคลังในหลายกรณีที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำ และในทางเทคนิคก็ไม่สามารถใช้ตัวแปรการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เพิ่มขึ้นหนึ่งหน่วย (MPC) อย่างเดียวในการคำนวณตัวคูณทวีทางการคลังได้ 

เนื่องจากมีตัวรั่วไหล (leakage) อื่นๆ อีก ที่ทำให้เงินไม่หมุน โดยเฉพาะการออม การนำเข้า ภาษี และการทดแทนการบริโภคเดิมด้วยเงินใหม่

เช่น หากผู้รับเงินใช้วิธีประหยัดเงินเอาเงินใหม่มาแทนการบริโภคเดิม หาทางแลกเปลี่ยนกันนอกตลาด นำไปชำระหนี้นอกตลาด หรือใช้จ่ายในสินค้านำเข้าหรือสินค้าที่มีสัดส่วนวัตถุดิบนำเข้าสูง (import content) ก็ทำให้เงินไม่หมุนเวียนกลับเข้าสู่เศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ เงื่อนไขของเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน กำลังฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ไม่ได้กำลังอยู่ในวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งอาจไม่เข้าเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ

และในทางทฤษฎีก็ไม่เข้าตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของแนวทางเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์เซียน ซึ่งเป็นหลักเศรษฐศาสตร์ที่สนับสนุนนโยบายแจกเงินนี้แต่อย่างใด

เช่น เศรษฐกิจประเทศจะต้องตกต่ำ หรือมีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ มีอัตราการว่างงานสูง มีอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อต่ำ เกิดภาวะกับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap) เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เข้าข่ายเงื่อนไขเหล่านี้

แม้เศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์เซียนจะสนับสนุนการแทรกแซงของรัฐบาล ซึ่งต่างจากเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกที่ต้องการให้รัฐบาลแทรกแซงน้อยที่สุด แต่เคนส์เซียนก็เน้นย้ำถึงความสำคัญของความยั่งยืน การพึ่งพาเงินกู้จำนวนมากของโครงการจึงทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะในระยะยาว และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 

การอัดฉีดเงินสามารถกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้น แต่อาจไม่นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้ หากไม่แก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง เช่น ผลิตภาพ และความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นนโยบายด้านอุปทาน (supply side) และเห็นผลในระยะกลางถึงระยะยาว

หากหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือทางเครดิตของประเทศ อันจะนำไปสู่ต้นทุนการกู้ยืมเงินของประเทศที่สูงตามมา การพิสูจน์ว่าโครงการนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้วิกฤติของประเทศจนไม่อาจรอให้ตั้งงบประมาณประจำปีได้ทันจนต้องออก พ.ร.บ.กู้เงินนั้นมีความยากมาก จนอาจทำให้โครงการไม่ผ่านในกระบวนการออกกฎหมาย

ฉากทัศน์ที่ 2 พ.ร.บ.เงินกู้ ออกมาเป็นกฎหมายดำเนินโครงการได้ แต่อาจเปราะบางต่อการรับมือวิกฤติในอนาคต

ในฉากทัศน์นี้ รัฐบาลสามารถกู้เงินมาดำเนินโครงการได้ ทำให้ภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมากจากปัจจุบันที่มีหนี้สาธารณะที่ผูกพันอยู่สูงแล้ว เมื่อดำเนินโครงการไปพบว่าให้ผลการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ก็มีความเสี่ยงว่าอาจไม่ได้ผลตามที่รัฐบาลต้องการ

โดยในช่วงแรก การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถแปลงไปเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้ เพราะเศรษฐกิจที่เติบโตที่แท้จริงจะต้องแก้ “ด้านอุปทาน” เพื่อปลดล็อกข้อจำกัด และศักยภาพให้กับแรงงาน ทุน เทคโนโลยี และกฎระเบียบต่างๆ 

งบประมาณที่กู้มาเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสที่ประเทศจะลงทุนในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น โครงสร้างพื้นฐานและการศึกษา ซึ่งมักจะใช้เวลาเกินกว่าอายุขัยของรัฐบาล

นอกจากนี้ ในอนาคตอาจเกิดเหตุการณ์ เช่น โรคระบาด สงคราม วิกฤติการเงิน รัฐบาลซึ่งมีภาระผูกพันจากเงินกู้จำนวนมากจะพบว่าประเทศมีพื้นที่ทางการคลัง (fiscal space) จำกัดหรือขาดบัฟเฟอร์ทางการคลังที่กันไว้เพื่อนำไปแก้ไขวิกฤติได้

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์