อินไซด์ ‘บอร์ดดิจิทัล วอลเล็ต’ เบื้องลึก ‘นายกฯ’ ทุบโต๊ะแจก 5 แสนล้านบาท!

อินไซด์ ‘บอร์ดดิจิทัล วอลเล็ต’  เบื้องลึก ‘นายกฯ’ ทุบโต๊ะแจก 5 แสนล้านบาท!

เบื้องลึกก่อนนายกฯทุบโต๊ะแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท 50 ล้านคน หน่วยงานใช้สิทธิ์ค้านจำนวนคนร่วมโครงการ ไม่ตรงกับเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการเสนอ กฤษฎีกาชี้ พ.ร.บ.กู้เงินเพิ่มเรื่องใหญ่ ควรศึกษารอบคอบ ธปท.-สศช.ยันว่าควรให้เฉพาะกลุ่มเปราะบาง ห่วงผิด พ.ร.บ.การเงิน

การประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน วานนี้ (10 พ.ย.) ได้มีการแถลงรายละเอียดโครงการว่ารัฐบาลจะใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการกู้เงินตาม พ.ร.บ.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท และการใช้เงินงบประมาณอีก 1 แสนล้านบาท

โดยการใช้เงินกำหนดว่าจำนวน 5 แสนล้านบาทจะใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ขณะที่อีก 1 แสนล้านบาทจะใช้ในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New – S Curve)

สำหรับข้อสรุปในการแจกเงินดิจิทัลนายกรัฐมนตรีแถลงว่าจะมีการให้กลุ่มเป้าหมายประชากร 50 ล้านคน ที่มีรายได้ไม่เกิน 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินในบัญชีทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท

อินไซด์ ‘บอร์ดดิจิทัล วอลเล็ต’  เบื้องลึก ‘นายกฯ’ ทุบโต๊ะแจก 5 แสนล้านบาท!

ทั้งนี้แม้จะมีความชัดเจนจากนายกรัฐมนตรีในการแถลงเรื่องนี้ไปแล้วแต่ว่าจำนวนเงินที่ใช้ในโครงการซึ่งจะต้องมีการออก พ.ร.บ.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท และจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ 50 ล้านคน รวมทั้งแหล่งเงิน 5 แสนล้านบาทที่จะมีการออก พ.ร.บ.กู้เงินนั้นในการประชุมฯเมื่อวานนี้มีการถกเถียงกันอย่างมาก และแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง

ธปท.ห่วงผิด พ.ร.บ.เงินตรา-เงินเฟ้อ 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงรายละเอียดในเรื่องของจำนวนวงเงิน และกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ และแหล่งที่มาของเงินที่จะมีการออก พ.ร.บ.กู้เงินนั้นได้มีหน่วยงานที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดนี้ได้แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน โดยนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทักท้วงรายละเอียดของโครงการหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการออก พ.ร.บ.กู้เงิน โดยตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการในลักษณะนี้อาจจะเข้าข่ายขัดต่อ พรบ.เงินตรา พ.ศ.2501 หรือไม่ เพราะการเติมเงินในระบบต้องมีที่มาชัดเจนไม่ใช่อยู่ๆ จะเอาเงินเข้ามาใส่ โดยไม่มีสินทรัพย์ใดมารองรับได้

ขณะเดียวกันหากออกพรบ.กู้เงินมากถึง 5 แสนล้านบาท อาจจะทำให้ในปีหน้ามีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเงินเฟ้อกระทบกับระบบเศรษฐกิจขึ้นมาได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าว ธปท. ได้พยายามระมัดระวัง และแสดงความเป็นห่วงมาโดยตลอด

กฤษฎีกามองออก พ.ร.บ.กฎหมายกู้เงินต้องรอบคอบ

ขณะที่นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวในที่ประชุมว่าการออก พ.ร.บ.กู้เงินนั้น ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ในทางปฏิบัติการจะออกกฎหมายแบบนี้จะต้องมีการหารือกันให้ได้ข้อสรุปเสียก่อน เพื่อจะได้พิจารณา และรับฟ้องข้อคิดเห็น หรือข้อแนะนำต่าง ๆ แต่เมื่อทางฝ่ายนโยบายเลือกแนวทางนี้ออกมา ก็ได้เสนอแนะว่า อยากให้มีการไปหารืออีกครั้งให้เกิดความรอบคอบ และรัดกุมมากกว่านี้ เพื่อจะไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังเพราะตนเองมีหน้าที่ปกป้องทุกคนที่อยู่ในที่ประชุมนี้ไม่ให้ทำเรื่องที่อาจผิดกฎหมาย

“ได้มีการท้วงติงเรื่องการออกกฎหมายกู้เงินกันอย่างหนัก เพราะกรณีการออก พรบ.ขึ้นมานั้น ถือเป็นตัวเลือกสุดท้ายของการจัดหาแหล่งเงินมาใช้ในโครงการนี้ และฝ่ายกฎหมายคือคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ระบุว่าควรจะมีการคุยกันมาก่อนว่าจะออกกฎหมายลักษณะแบบนี้เพื่อที่จะได้ให้ข้อชี้แนะว่าทำได้หรือไม่”

 

อินไซด์ ‘บอร์ดดิจิทัล วอลเล็ต’  เบื้องลึก ‘นายกฯ’ ทุบโต๊ะแจก 5 แสนล้านบาท!

แหล่งข่าว ระบุด้วยว่า ในการหารือในที่ประชุมฯผู้ว่า ธปท. และหน่วยงานเศรษฐกิจอย่างสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังมีการทักท้วงเกี่ยวกับเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งได้ผ่านการหารือในคณะอนุกรรมการฯ มาแล้วหลายครั้ง เช่น เงื่อนไขที่แบ่งกลุ่มที่ควรได้รับเงินออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท และ/หรือ มีเงินฝากเกิน 500,000 บาท คนที่มีรายได้เกิน 25,000 บาทต่อเดือน และ/หรือ มีเงินฝากเกิน 100,000 บาท หรือให้เฉพาะกลุ่มเปราะบาง รายได้ต่ำมากที่มีอยู่เพียง 16 ล้านคน

แต่เมื่อฝ่ายนโยบายมีการนำตัวเลข 50 ล้านคนมาให้รับทราบในที่ประชุมฯก็เท่ากับว่าการทำงานแบบนี้ไม่ให้เกียรติกับคณะอนุกรรมการฯ ที่มีผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน ซึ่งนายกฯก็เป็นคนตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเองมากับมือด้วย

นอกจากนั้นในที่ประชุมครั้งนี้ ธปท. และ สศช. ยังได้หยิบยกขึ้นมาเสนอว่าการแจกเงินควรจะให้แบบเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีความเดือดร้อน ที่มีอยู่ประมาณ 16 ล้านคนเท่านั้น แต่ท้ายที่สุดนายกฯ ได้ตัดสินใจจะแจกเงินให้กับคนไทย 50 ล้านคน เพราะเชื่อว่าจะเกิดการใช้จ่ายและมีผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่า และเมื่อมีการตัดสินใจเลือกแนวทางนี้ ธปท. และสศช.จึงขอให้ที่ประชุมลงบันทึกไว้ในรายงานการประชุมด้วยว่า ทั้งสองหน่วยงานยืนยันหลักการว่าควรจ่ายให้กลุ่มเปราะบางเท่านั้น  

นอกจากนี้ผู้ว่าฯ ธปท. ยังกล่าวเสริมอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการครั้งนี้ได้มีการพิจารณาวาระต่าง ๆ เร็วมาก ใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที และเกรงว่า อาจจะทำให้บางเรื่องที่หารือไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างรัดกุมและรอบคอบเพียงพอ

อินไซด์ ‘บอร์ดดิจิทัล วอลเล็ต’  เบื้องลึก ‘นายกฯ’ ทุบโต๊ะแจก 5 แสนล้านบาท!

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าในการแถลงข่าวเรื่องดิจิทัล วอลเล็ตของรัฐบาลผู้ว่าธปท.นั้นไม่ได้ไปแถลงข่าวกับนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการอื่นๆที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดนี้ด้วย

นายกฯย้ำกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

สำหรับการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรีในโครงการนี้ย้ำว่าการตัดสินใจเดินหน้าโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และมีการปรับเปลี่ยนโครงการตามข้อเสนอธปท.และสศช.และนักเศรษฐศาสตร์แล้ว

ขณะที่การออก พรบ. เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งต้องผ่านกระบวนการการตีความโดยกฤษฎีกา เพื่อให้การออก พรบ. กู้เงินดังกล่าว เป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และไม่ขัดต่อหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องการออก พรบ. จะมีความโปร่งใส ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา มั่นใจว่า ในที่สุดแล้วกฎหมายจะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา 53 พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

พร้อมบอกอีกว่า พรบ.การกู้เงินดังกล่าวจะระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน  ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ในโครงการ Digital Wallet ให้เป็นไปด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และรัฐบาลจะทำการกู้เงิน ก็ต่อเมื่อ มีการนำเงินไปใช้และนำมาขึ้นเป็นเงินสด 

“ทุกท่านไม่ต้องห่วงเรื่องของการใช้เงินคืน รัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาเพื่อจ่ายคืนเงินส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี” นายกฯ ย้ำ