'ชัยชนะ' เชื่อ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' มีช่องทุจริต ตั้งแต่ ต้นน้ำยันปลายน้ำ

'ชัยชนะ' เชื่อ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' มีช่องทุจริต ตั้งแต่ ต้นน้ำยันปลายน้ำ

"ชัยชนะ" ชี้ "พท." ดัน "ดิจิทัลวอลเล็ต" หวังผลเลือกตั้งครั้งหน้า เผย บิ๊กขรก. ใน ก.คลัง ต่างไม่หนุน ปชช. ไม่มั่นใจ กระตุ้นศก.ได้จริง เหมือนวัดดวงไปตายดาบหน้า แนะ แจกเงินสด ไม่ใช่เงินในอากาศ เชื่อมีช่องทุจริต ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

นายชัยชนะ เดชเดโช  ส.ส.นครศรีธรรมราช และรักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวถึงกรณีนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่หลายฝ่ายมีการวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ว่านโยบายดังกล่าว ถือเป็นการเทหน้าตักอีกเรื่องของพรรคเพื่อไทยในช่วงของการจัดตั้งรัฐบาลเพราะต้องการจะดันให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อหวังคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อๆไป โดยหวังว่าจะสามารถสร้างภาพจำให้กับประชาชนในเรื่องของประชานิยม ซึ่งตลอดมาถือว่าถ้านึกถึงพรรคเพื่อไทย ก็ต้องนึกถึงนโยบายทำนองนี้ รวมทั้ง ยังเป็นการทุ่มหมดหน้าตักทางด้านตัวบุคคล โดยนายเศรษฐา ตั้งใจที่จะมาควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ด้วยตนเองมีการส่งขุนพลคู่ใจอย่าง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ และ เอาข้าราชการประจำที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจอย่าง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง มาเป็นมือไม้ โดยหวังเกลี้ยกล่อมให้ข้าราชการประจำคล้อยตามนโยบายดังกล่าว แต่ปรากฏว่า มาจนถึงวันนี้ ก็ไม่มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ แสดงท่าทีว่าจะสนับสนุนนโยบายนี้ 

รวมทั้ง เท่าที่มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ก็ไม่มั่นใจว่า นโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง เหมือนกับการนำเงินที่ไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่ มาใช้ดำเนินนโยบายโดยวัดดวงแบบไปตายเอาดาบหน้า และก็ได้สะท้อนกลับมาอย่างจริงจังว่า ขอเป็นเงินสดที่ใช้ได้จริง ณ วันนี้ ไม่ใช่เงินสกุลในอากาศที่เขาต้องรอกระบวนการต่างๆ มากมาย ซึ่งเชื่อว่ามีช่องทางในการทุจริตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ 

เพราะฉะนั้น ขณะนี้ ตนเชื่อว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท นั้น เข้าทำนองที่ว่า กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง เพราะก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยก็โฆษณาหาเสียงว่า จะดำเนินนโยบายโดยไม่มีการกู้เงินมาอย่างแน่นอน แต่ปรากฏว่า สุดท้ายก็ต้องหาทางลงแบบไม่ให้เสียหน้ามาก โดยเปิดช่องให้มีการตราเป็นพระราชบัญญัติ เพื่อที่ต้องการให้ สส. ที่ไม่เห็นด้วย ลงมติไม่เห็นชอบ และหวังจะโยนบาปว่า ที่ทำนโยบายไม่ได้ เพราะ สส.ที่ลงมติไม่เห็นชอบ จะได้มาเป็นข้ออ้างเพื่อเรียกร้องความสงสารจากประชาชน 

ดังนั้น ตนจึงอยากให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ควรนำเสียงจากประชาชนมาปรับปรุงนโยบายดังกล่าว ซึ่งถือว่ายังมีเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางในการทำนโยบาย โดยยึดถือประโยชน์ที่ประชาชนจะได้เป็นสำคัญ มากกว่าจะดันทุรังเพื่อให้คนไม่กี่คนได้ประโยชน์บนความทุกข์ของประชาชนและลูกหลานในอนาคตด้วย 

"ผมเข้าใจว่า พรรคเพื่อไทยต้องการรักษาแนวทางประชานิยมที่ทำให้ตนเองได้คะแนนนิยมมาตลอดในการเลือกตั้ง และนโยบายนี้ถือเป็นการเทหมดหน้าตักของจริง ซึ่งผมเห็นว่าน่าจะเป็นเที่ยวสุดท้าย เพราะก่อนหน้านี้ เรื่องนโยบายจำนำข้าว ก็มีการดำเนินการไปจนสุดซอย แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาปรากฏว่า ประเทศติดหนี้โครงการดังกล่าวมหาศาล จนต้องมีการตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลังมาตลอดหลายปี และเชื่อว่ารัฐบาลนี้ก็จะต้องตั้งงบประมาณชดใช้โครงการที่พรรคเพื่อไทยเอง เป็นผู้ก่ออีกด้วย ซึ่งนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท นั้น ผมเกรงว่า หากดึงดันทำไปแล้ว จะส่งผลเสียต่อประเทศในระยะยาว เพราะไม่สามารถคาดเดาไว้ว่าอัตราเงินดิจิทัลจะมีอัตราแลกเปลี่ยนเท่าใดในช่วงเวลาที่ดำเนินโครงการ ซึ่งมีความเสี่ยงมาก เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ต้องการอยากจะกระตุ้นเศรษฐกิจของประชาชนจริงๆก็ต้องหานโยบายที่มีความเหมาะสม เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีความสบายใจ และเต็มใจที่จะช่วยเหลือและเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามที่ผู้วางนโยบายคาดหวังเอาไว้" นายชัยชนะกล่าว