ปรับลุค นายกฯ ‘เศรษฐา’ ใกล้ชิด สส. ปรองดองพรรคร่วมฯ

ปรับลุค นายกฯ ‘เศรษฐา’   ใกล้ชิด สส. ปรองดองพรรคร่วมฯ

ถึงเวลาที่ “เศรษฐา” พร้อมปรับลุค ลดความเป็นตัวของตัวเอง ลดข้อจำกัดต่างๆ ลดช่องว่างกับสส. สร้างความปรองดองกับ “หัวหน้าพรรคร่วม” แม้เป้าหมายหลักจะเพื่อเสถียรภาพรัฐบาล แต่ก็หมายถึงสถานะนายกรัฐมนตรี ย่อมมั่นคงเช่นกัน 

ความท้าทายของ "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี รมว.คลัง อยู่ที่งานด้านเศรษฐกิจของประเทศ แม้เจ้าตัวจะมีเพียงประสบการณ์บริหาร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) แต่การทำความเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ การบริหารจัดการงบประมาณ ย่อมไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ เหลือเพียงขับเคลื่อนให้กลไกราชการเดินหน้าอย่างราบรื่นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้าน ปฏิเสธไม่ได้ว่า "จุดอ่อน" ของ “นายกฯเศรษฐา” คือการบริหารคน บริหารอำนาจ บริหารความสัมพันธ์ทางการเมือง ซึ่งจะมีศาสตร์และศิลป์ที่แตกต่างจากการบริหารธุรกิจลิบลับ เพราะ “นักการเมือง”ไม่ใช่ลูกน้องใคร จะสั่งให้ทำได้ดั่งใจยิ่งยาก

ที่สำคัญหากใช้ "พระเดช"กับ “คนการเมือง”เยอะไป อาจเกิดผลเสียย้อนมาทิ่มแทงตัวเอง หรือหากใช้"พระคุณ"มากไป ก็อาจทำให้หลงระเริงในอำนาจ เสี่ยงจะมีผลกระทบด้านลบต่อรัฐบาล

“เศรษฐา” จึงต้องบาลานซ์ทั้ง พระเดช-พระคุณ ให้มีความสมดุลมากที่สุด เพื่อประคับประคองทั้งตัวเอง และรัฐบาลให้อยู่รอดปลอดภัย สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับตระกูล “ชินวัตร” ซึ่งหมายถึงความมั่นคงบนเก้าอี้นายกฯ ที่จะยาวนาน 

เนื่องจากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แม้ฉากหน้า “เศรษฐา” จะขยันลงพื้นที่บ่อยครั้ง ตามสโลแกน “ทำหน้าที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย” แต่ผลตอบรับจากประชาชน ยังไม่เข้าเป้าหมายที่ทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยกำหนดเอาไว้ จึงต้องขบคิดวางอีเวนต์ดึงจุดเด่นมาเสริมให้มากขึ้น

มีหลายครั้งที่บทของ “เศรษฐา” ต้องเสริมกับ สส. เพื่อไทยในแต่ละพื้นที่ โดยมีสคริปต์ต้องแนะนำ สส.ให้ประชาชนที่มารอต้อนรับได้รู้ได้เห็น เพื่อเป็นการเครดิตทางการเมือง สส. 

ทว่า เกือบทุกพื้นที่ นายกฯเศรษฐา กลับไม่มีซีนแนะนำตัว สส. ว่ากันว่า ไม่ใช่ลืมสคริปต์ แต่เป็นปัญหาที่นายกฯ จำชื่อ สส.ไม่ได้

นอกจากนี้ ยังมีบางครั้งที่ สส.หวังดี นำอาหารท้องถิ่นมารอต้อนรับ เพื่อช่วยโปรโมทความเป็นอยู่พื้นบ้านประจำถิ่น แต่นายกฯ เศรษฐา กลับปฏิเสธ เพราะไม่ชอบรับประทานอาหารพื้นบ้านบางจังหวัด ทำให้ สส.บางคน ออกอาการน้อยใจ

เหล่านี้ แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับนักการเมืองในท้องถิ่น ที่เป็นลูกพรรค ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่อาจมองข้ามไปได้  

การลงพื้นที่ที่นายกฯ โดดเด่นเพียงคนเดียว ส่งผลให้การลงพื้นที่ไม่สามารถกระตุ้นเรตติ้งให้ สส.และพรรคเพื่อไทยได้ ทำให้ทีมยุทธศาสตร์ ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน แม้บางเรื่องจะเป็นเรื่องเล็ก แต่หากผู้นำไม่ให้ความสำคัญ จะกลายเป็นเรื่องกินใจทั้งฝ่ายการเมือง จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในระยะยาว

 ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง ที่นายกฯเศรษฐาให้ความสำคัญ คือการเมืองระหว่างพรรค โดยได้เริ่มขยับสายสัมพันธ์กับพรรคร่วมรัฐบาล โดยการนัดดินเนอร์กับ “หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล” เพื่อทำความเข้าใจในการทำงานที่ต้องสอดประสานกัน เนื่องจากพรรคเพื่อไทยไม่ได้คุมกระทรวงหลักหลายกระทรวง

แม้การทำงานในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จะยังไม่มีสัญญาณของความขัดแย้งเกิดขึ้น แต่เริ่มมีเชื้อไฟออกมาให้เห็น อาทิ การแย่งกรม-หน่วยงาน ภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มี รมว.จากพรรคพลังประชารัฐ การออฟไซด์ของ “รมว.แรงงาน” จากพรรคภูมิใจไทย ที่ออกมาประกาศขึ้นค่าแรง จนทำให้ “เศรษฐา” ออกอาการไม่พอใจ แม้จะไม่ปรากฎต่อสาธารณะ เป็นต้น

ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวภายในเพื่อไทย นายกฯเศรษฐายอมรับการติวเข้มจากทีมยุทธศาสตร์ของพรรค ให้เปิดเกมเชื่อมสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาล เอาปัญหาการทำงานมาคุยกันแบบเปิดอก หากต้องต่อรองทางการเมืองก็ควรจบในโต๊ะพูดคุย ป้องกันไม่ให้ “พรรคร่วมรัฐบาล” ออกมาปฏิบัติการเล่นเกมใต้ดินสั่นสะเทือนรัฐบาลเอง

เพราะเริ่มมีบางพรรคขยับตัว “ปล่อยข่าว” เขย่าเก้าอี้นายกฯ เล่นแรงถึงขั้นปั่นกระแสเปลี่ยนตัวนายกฯ โดยมีทั้งชื่อ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร เตรียมเสียบแทน แม้กระทั่ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะคัมแบ็คนายกฯอีกรอบ จน“เศรษฐา” ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนายกฯ เฉพาะกิจ คั่นเวลารอ นายกฯ ตัวจริง

ฉะนั้น การสยบกระแสดิสเครดิตเหล่านี้ “เศรษฐา-เพื่อไทย” จึงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น ในฐานะนายกฯ และพรรคแกนนำรัฐบาล เพราะหากการเมืองไม่นิ่ง ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจไปด้วย

ถึงเวลาที่ “เศรษฐา” พร้อมปรับลุค ลดความเป็นตัวของตัวเอง ลดข้อจำกัดต่างๆ ลดช่องว่างกับสส. สร้างความปรองดองกับ “หัวหน้าพรรคร่วม” แม้เป้าหมายหลักจะเพื่อเสถียรภาพรัฐบาล แต่ก็หมายถึงสถานะนายกรัฐมนตรี ย่อมมั่นคงเช่นกัน