3 รมต.รัฐบาลเศรษฐาเล่านิยามสลายขัดแย้ง หนุนนิรโทษกรรม เว้นคดี ม.112

3 รมต.รัฐบาลเศรษฐาเล่านิยามสลายขัดแย้ง หนุนนิรโทษกรรม เว้นคดี ม.112

3 รัฐมนตรีรัฐบาล ‘เศรษฐา’ เล่านิยามรัฐบาลสลายความขัดแย้ง ยันทุกคนผ่านการเลือกตั้งมาหมดแล้ว ขออย่าด้อยค่ากัน เปิดใจยอมรับความเห็นต่าง ‘ภูมิธรรม - วราวุธ’ ประสานเสียงหนุนนิรโทษกรรมคดีการเมือง เว้นคดี มาตรา112

เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2566 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ “เนชั่น กรุ๊ป” จัดงานดินเนอร์ทอล์ก “อนาคตประเทศไทย 2024 Thailand’s Future 2024” โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ นอกจากนี้ยังมีการจัดเสวนาเรื่อง “รัฐบาลข้ามขั้ว ก้าวข้ามความขัดแย้ง” โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมเวที

โดยนายภูมิธรรม ให้คำนิยาม “รัฐบาลข้ามขั้ว” ว่า 50 ปีมาแล้ว ความขัดแย้งยังแบ่งเป็น 2 ขั้วคือ 2519 แบ่ง 2 ขั้วขัดแย้งรุนแรง จนเกิดเหตุ ขวาพิฆาตซ้าย จนเกิดเหตุความรุนแรง ปี 2535 เกิดการแบ่ง 2 ขั้ว พรรคเทพ พรรคมาร ต่อมาปี 2549 เกิดความขัดแย้งขึ้น เป็นสีเสื้อแดง กับเหลือง เป็นฝ่ายประชาธิปไตย กับฝ่ายเผด็จการ เกิดความรุนแรงขึ้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ในระหว่างนี้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น การมี 2 ขั้วเพราะว่าเราเข้าใจปัญหาแตกต่างกัน การมอง 2 ขั้วคือ การมองอะไรสุดไปข้างหนึ่ง ซ้ายสุด กับขวาสุด หรือเป็นการมองอะไรที่แยกออกจากกันโดยเด็ดขาด วันที่เราเข้ามาเลือกตั้ง เราเห็นแล้วว่า ถ้าสังคมไทยแบ่งขั้วแบบนั้น มันจัดตั้งรัฐบาลยากเหลือเกิน เราได้ทดลองทำ และพยายามจับมือจับไม้กับคนใกล้ชิด แต่แล้วในที่สุดความไม่เข้าใจกันในสังคม ทำให้เราไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ตรงนี้คือ สิ่งที่ทำให้วันนี้ เราอย่าเรียกข้ามขั้วเลย ถ้าเรียกข้ามขั้วแสดงว่ายังแบ่งขั้ว แตกต่างกัน

“ถ้าเราไม่จับมือกับฝ่ายเผด็จการ หรือเป็นนั่งร้านเผด็จการ มันไม่ใช่ ถ้าเข้าใจประชาธิปไตย ที่มีรัฐธรรมนูญแล้ว ทุกคนที่มา ในเมื่อเป็นคณาธิปไตย ถือว่าเป็นเผด็จการ แต่ถ้าเขาลงมาในกติกาเดียวกันที่สังคมยอมรับ เลือกตั้งได้แล้ว ก็ถือว่าผ่านกระบวนการประชาธิปไตย จะเรียกเขาเป็นเผด็จการได้อย่างไร ถ้าบอกว่าเราประชาธิปไตยมากสุด แล้วมองฝั่งตรงข้ามไม่ใช่ ต้องยอมรับว่า เขาก็มาจากตัวแทนประชาชนที่เลือกเขามา สังคมประชาธิปไตยเปิดบรรยากาศให้ทุกฝ่ายเข้ามาพูดคุย ประนีประนอม จัดการปัญหาในสังคมให้ได้ จึงเสนอรัฐบาลสลายขั้ว ยึดภาพรวม หาทางออกที่สามารถพูดคุยประนีประนอม และยอมรับกันได้” นายภูมิธรรม กล่าว 

ส่วนนายวราวุธ ให้คำนิยามว่า คำว่าสลายขั้วต้องถามก่อนว่า บางครั้งที่สื่อมวลชนตั้งขึ้นมา ขั้วคืออะไร ถ้าพูดถึงเรื่องรัฐบาล ฝ่ายค้าน มีปกติ ถ้าพูดถึงประชาธิปไตย หรือเผด็จการ ต้องยืมคำพูดของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.ภูมิใจไทย พรรคภูมิใจไทย และ รมช.มหาดไทย เวลาเลือกตั้งเข้ามาหาเสียงเหมือนกัน ไปเคาะประตูตามบ้าน ขอคะแนนเหมือนกัน แต่ทำไมเลือกตั้งเสร็จ ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายเผด็จการ ทำไมอีกฝ่ายเป็นประชาธิปไตย เชื่อว่าหลังเลือกตั้งแล้ว คำว่าขั้วจะเป็นเผด็จการ หรือประชาธิปไตยคงไม่ใช่ประเด็น คงเป็นขั้วทางการเมืองที่ว่า เห็นต่างกันอย่างไร และจับมือร่วมกันทำงานอย่างไรมากกว่า เพราะถึงเวลาสลาย ทุกครั้งเลือกตั้งก็เหมือนล้างไพ่หมด พอเลือกตั้งเสร็จก็ขึ้นอยู่กับสูตรคำนวณตัวเลข แล้วตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ เป็นการฟอร์มขั้วใหม่ นี่คือวัฏจักรของการเมืองไทย

ส่วนการเลือกตั้งที่ผ่านมา 2 ครั้งหลังสุด พรรคอันดับ 1 ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล แบบนี้จะสลายขั้วได้อย่างไร อธิบายให้ชัดคือ คนจำนวนมากที่เลือกพรรคก้าวไกล แต่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลชุดนี้ จะเรียกว่ารัฐบาลสลายขั้วได้อย่างไร นายภูมิธรรม กล่าวว่า เราพิจารณาเรื่องนี้ ต้องเริ่มต้นจากความเป็นจริงคือ การแบ่งเป็นขั้ว แบ่งเป็นสีมีอยู่แล้ว ยอมรับความเห็นท่านว่า ระบบประชาธิปไตย ความเห็นต่างเป็นเรื่องสวยงาม แต่ผ่านมา 20-30 ปีมองว่าฝ่ายนั้นถูก อีกฝ่ายผิด นำไปสู่การด้อยค่ากัน คิดว่าในสังคมนี้ มองถูกผิด มองเฉพาะหน้า สรรพสิ่งหลายอย่างไม่จำเป็นต้อง 2 ส่วน ความคิดเห็นของคนก็เป็นอย่างนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทางเลือกในการแก้ปัญหาแตกต่างกัน ระบบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้แสดงความเห็น เราอยู่ในปมนี้มาตลอด ไม่ว่ายอมรับหรือไม่ยอมรับก็ตาม สิ่งที่เห็นอยู่คือ ความแตกต่าง 2 ฝ่าย และทำให้สังคมนี้ ตั้งแต่ปี 49 จนถึงปัจจุบัน ยอมรับได้ว่า ความขัดแย้งรุนแรง และแตกแยกกันมันมี 

“เริ่มต้นจากระบบความคิด เรียนรู้เรื่องความแตกต่างหลากลายเป็นสิ่งสวยงาม ต้องไม่ด้อยค่าความเห็นต่างกัน ถ้าเปิดใจยอมรับสิ่งแตกต่างนี่ได้ ทำให้ระบบสามารถทำงานร่วมกัน และดำเนินไป” นายภูมิธรรม กล่าว

ส่วนประเด็นการนิรโทษกรรม ควรทำหรือไม่ และบุคคลที่โดนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ควรรวมด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการสลายความขัดแย้งได้ อยู่ในพื้นฐานที่ว่าคืนความยุติธรรมให้กับเขา ไปดูปัญหาอยู่ตรงไหน เกาให้ถูกที่คัน แต่ต้องยอมรับว่า 2 ขั้วความคิดแตกต่างกันมาก ถ้าทำแล้วจะดีขึ้นแค่ไหน ถ้าไม่ทำจะเป็นอย่างไร หาทางที่จะเดินไปได้อย่างเหมาะสมที่สุด ลดความขัดแย้งให้ถึงที่สุด ไม่ขึ้นอำเภอใจกับฝ่ายใด เห็นด้วยว่าเป็นทางออก แต่ต้องพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหาจุดร่วมกัน

“คิดว่าปัญหาที่เกิดความขัดแย้งขึ้นมา สังคมรู้แล้วว่ามีประเด็นไหนบ้าง เช่น ประเด็นที่เกี่ยวกับ มาตรา112 ประเด็นพระมหากษัตริย์ เราเห็นว่าไม่ควรแตะต้อง ในขณะบางคนเห็นว่าควรยกร่างทั้งฉบับ ไม่ควรพูดถึงมาตรา 112 ไม่มีใครถูกหรือผิด แต่มาตรา 112 เป็นเรื่องขัดแย้ง เลิกหรือไม่เลิก ก็มีคนขัดแย้งกัน อยากเห็นการแก้ปัญหาด้วยการดึงทุกฝ่ายมาพูดคุยให้มากขึ้น จัดเวทีให้พูดคุยกัน” นายภูมิธรรม กล่าว

ส่วนนายวราวุธ เห็นด้วยว่าควรมีการนิรโทษกรรม แต่ควรยกเว้นคนที่กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยระบุว่า  บุคคลก่อคดีอาญา หรือแม้แต่คดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 ตนรวมถึงพรรคชาติไทยพัฒนาคิดว่า ไม่ควรเข้าไปรวมด้วย เพราะท้ายที่สุดอย่าลืมว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้ พอผ่านสภาฯ ต้องนำทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย การเสนออะไรให้พระองค์ท่าน ไม่ควรทำอะไรให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ส่วนบุคคลที่โดนชักจูง ร่วมม็อบ อะไรต่างๆ ตกกระไดพลอยโจน ควรให้อภัย แต่คดีที่เห็นชัดเจน ผ่านมาแล้ว ไม่ควรเกี่ยวข้อง

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์