Decentralization แท้จริงแล้ว ไม่ใช่การกระจายอำนาจ

Decentralization  แท้จริงแล้ว ไม่ใช่การกระจายอำนาจ

เมื่อราว 30 ปีก่อนแม้จะมีคำศัพท์ว่า Decentralization ใช้กันอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้มีการใช้คำนี้อย่างเป็นทางการในแวดวงราชการไทย และมีคำภาษาอังกฤษอีกคำที่มาในเวลาไล่เลี่ยกันรวมทั้งฮิตติดปากผู้คนไม่แพ้กัน

คือคำว่า public participation หรือการมีส่วนร่วมของประชาชน  ในช่วงนั้นมีการเข้าใจผิดกันด้วยว่า decentralization คือ public participation  และ public participation คือ decentralization  จนต้องมีการถกกันและสรุปกันว่า  decentralization เป็นกระบวนการของภาครัฐ    ส่วน public participation เป็นกระบวนการทางสังคมของภาคประชาชน

เมื่อตกลงกันว่า decentralization เป็นกระบวนการของภาครัฐ  ก็ต้องมีการให้นิยามหรือคำจำกัดความ เพื่อจะได้สื่อความหมายให้เป็นที่เข้าใจตรงกันในทางนิตินัย  ไม่ทราบว่าเป็นผลงานของนักปกครองหรือนักภาษาศาสตร์ ที่สรุปออกมาว่าให้บัญญัติศัพท์ของคำ decentralization นี้ว่า ‘การกระจายอำนาจ’ นี่เป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆทางสังคมที่ตามมาในภายหลัง

เป็นธรรมดาอยู่เองที่นักปกครองเมื่อถูกกำหนดให้ต้อง decentralize ก็มักมองไปที่สิ่งที่ตนเองปฏิบัติอยู่ทุกวันเป็นประจำ ซึ่งนั่นก็คือการใช้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็น อำนาจในการอนุมัติ การขึ้นทะเบียน การปรับ การสั่งการ การจับกุม การผ่อนปรน การสั่งฟ้อง ฯลฯ  ดังนั้น ในแง่คิดของเขา decentralization ก็คือ‘การกระจายอำนาจ’ให้ท้องถิ่นเป็นคนทำแทน

แต่หากเรามองไปที่รัฐวิสาหกิจของรัฐที่เป็นองค์กรที่รัฐตั้งขี้นมาในลักษณะ authority เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงานบางอย่างเป็นการเฉพาะแก่หน่วยงานราชการเดิม  เช่น การไฟฟ้าฯ การประปาฯ การท่าอากาศยานฯ การท่าเรือฯ การทางพิเศษฯ การนิคมฯ การท่องเที่ยวฯ 

หน่วยงาน authority เหล่านี้ไม่ได้มีเฉพาะอำนาจเท่านั้น  แต่มี ‘หน้าที่’ ที่ต้องทำงานให้บรรลุผลสำเร็จด้วย 

ดังนั้น decentralization ที่ถูกต้องจึงมิใช่เพียงการกระจายอำนาจ  แต่ต้องเป็น ‘การกระจายอำนาจและหน้าที่’  หรือจะเรียกให้สั้นเป็น ‘การกระจายอำนาจหน้าที่’ ก็ย่อมได้

นามนั้นสำคัญไฉน  บางคนอาจแย้งว่านามนั้นไม่สำคัญนักหรอกตราบที่เข้าใจตรงกันว่าต้องการอะไร และควรทำอะไรอย่างไร  ข้อโต้แย้งนี้อาจฟังได้ในเชิงตรรกะหรือปรัชญา 

แต่ในทางปฏิบัติจริงถ้าเราหันไปมองรอบๆ แล้วสังเกตดูง่ายๆว่าในการเลือกตั้งทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องที่ ท้องถิ่น ไปจนถึงระดับจังหวัดและระดับประเทศ  ผู้ที่สมัครมาลงรับเลือกตั้งนั้น เขาประสงค์จะได้อำนาจหรือเขาประสงค์อยากจะอาสามาทำหน้าที่เพื่อบ้านเมืองเพื่อประเทศชาติ  

Decentralization  แท้จริงแล้ว ไม่ใช่การกระจายอำนาจ

ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาตั้งแต่หลังยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยเฉพาะในช่วงหลังที่เป็นยุคแห่งธนาธิปไตย  ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าเป็นความประสงค์ประการแรกมากกว่าประการหลังอย่างเทียบกันไม่ได้  เพราะอำนาจนั้นมันล่อใจ มันมาพร้อมกับผลประโยชน์อันเป็นสาเหตุของปัญหาใหญ่ของประเทศ ซี่งก็คือคอร์รัปชัน

ถ้าจะบอกว่า  ถ้าเช่นนั้นเราก็เปลี่ยนเสียใหม่  เปลี่ยนการบัญญัติศัพท์ของคำว่า decentralization   จากการกระจายอำนาจ  เป็นการกระจายอำนาจหน้าที่ หรือแม้กระทั่งเน้นไปที่ 'การกระจายหน้าที่' โดดๆเลยก็ได้  ก็คงมีคนแย้งอีกเช่นกันว่ามันง่ายไป  ไม่สำเร็จดอก

โดยเฉพาะเมื่อนักการเมืองไทยเป็นศิษย์ของศรีธนญชัยกันอยู่มาก  ดังนั้น เราจึงต้องไม่เพียงเปลี่ยนแค่คำศัพท์บัญญัติเท่านั้น  แต่ต้องก้าวไปให้ถึงการเปลี่ยนนัยและปรัชญาของวิธีการนี้โดยไปเปลี่ยนถ้อยคำในพระราชบัญญัติที่ว่าด้วย decentralization ให้สะท้อนถึงหน้าที่ที่ต้องทำ มากกว่าอำนาจที่จะมีไว้ให้ใช้

เมื่อถึงจุดนั้น ทั้งภาษาและนัย รวมถึงสาระและภาพลักษณ์ตลอดจนความเข้าใจของประชาชน  จะตรงกันว่า ใครก็ตามที่มาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนของเรา ให้ตระหนักให้ดีว่าคุณกำลังสมัครและอาสามาทำงานให้บ้านเมือง  มิใช่มาแสวงหาอำนาจดังที่เคยๆ ทำกันมา จะได้ไม่ผิดหวังทั้งในส่วนของประชาชนและนักการเมืองเอง 

และเมื่อวันนั้นมาถึงประเทศไทยของเรา จะได้เดินได้ตรงทางและมุ่งไปสู่วิถีที่ควรเป็นเสียที  ยกตัวอย่าง เช่น ปัญหาเรื่องขยะ น้ำเน่า ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 สารพิษ ป่าถูกบุกรุก

จะต้องถือเป็นหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่นที่ต้องแก้ให้สำเร็จ   ไม่ใช่ไปสร้างแต่ถนนหรืออาคารทำการใหญ่โต หรือแม้กระทั่งเสาไฟกินรี อย่างที่บางคนนิยมทำกันอยู่ในปัจจุบัน