"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" เบรคอปท.ทั่วปท. ดันเสาไฟฟ้าประติมากรรม ชี้เกินจำเป็น

"ผู้ตรวจการแผ่นดิน"  เบรคอปท.ทั่วปท. ดันเสาไฟฟ้าประติมากรรม ชี้เกินจำเป็น

"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" เบรคอปท.ทั่วประเทศเทศ ดันโครงการเสาไฟฟ้าประติมากรรมประดับเมือง เหตุ ไม่ตอบโจทย์ความคุ้มค่า สวนทางความจำเป็น เร่งรวบรวมข้อมูล-งบประมาณทุกจังหวัด

รองศาสตราจารย์อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่า ปัจจุบันเสาไฟฟ้าประติมากรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังเป็นกระแสวิพากษ์ วิจารณ์ในสังคมอย่างต่อเนื่องถึงความไม่เหมาะสมทั้งสถานที่ตั้ง และราคาที่สูงเกินจำเป็น สังคมมีทัศนะและมุมมองที่สะท้อนถึงปัญหาการใช้งบประมาณและความคุ้มค่าอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเสาไฟฟ้ากินรีขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะที่ปรากฏเป็นข่าว

โดยการนี้ได้มอบให้เจ้าหน้าที่สอบสวนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินขยายผลพบว่า มีอปท.อีกหลายแห่งกำลังดำเนินโครงการจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมโดยมีลักษณะการใช้งบประมาณที่สูงเกินความจำเป็น ขาดการคำนึงถึงความเหมาะสม ความคุ้มค่า จึง ได้เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กรมบัญชีกลาง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกระทรวงมหาดไทย ร่วมหารือพร้อมติดตามการแก้ไขปัญหาซึ่งพบข้อสังเกต 3 ประเด็น 

1. ยังไม่มีการกำหนดรายละเอียด คุณลักษณะเฉพาะ และราคากลางของเสาไฟฟ้าประติมากรรมสำหรับเป็นมาตรฐานอ้างอิงราคาประกอบการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งนี้กรมบัญชีกลางจะจัดทำฐานข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดซื้อจัดจ้าง 

โดยมุ่งว่าจะส่งผลต่อความคุ้มค่า โปร่งใส เกิดประสิทธิผล และตรวจสอบได้มากยิ่งขึ้น และต้องพัฒนาระบบให้มีการจัดหมวดหมู่ ประเภทของสินค้าและพัสดุให้ง่ายต่อการค้นหาและตรวจสอบได้สะดวก

\"ผู้ตรวจการแผ่นดิน\"  เบรคอปท.ทั่วปท. ดันเสาไฟฟ้าประติมากรรม ชี้เกินจำเป็น

2. ยังไม่มีแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แต่กรมบัญชีกลางจะกำลังเสนอมาตรการป้องปราม ต่อคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ โดยให้ส่วนขั้นตอนการประชาคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ควรต้องแจ้งวงเงินงบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละครั้ง เพื่อให้ทราบว่าการจัดซื้อจัดจ้างนั้นวงเงินเท่าไหร่ เพื่อประกอบการพิจารณาถึงความคุ้มค่าที่จะได้รับ ที่สำคัญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องแจ้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อทราบด้วย 

3. แนวทางและมาตรการเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำกับการใช้จ่ายงบประมาณในการติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้มีการหารือถึงเรื่องการกำกับการใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพโดยแยกเป็น 2 ส่วน คือเรื่องเสาไฟฟ้ากับเรื่องประติมากรรม โดยเสาไฟฟ้าเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ที่สามารถกำหนดราคากลางได้และต้องชัดเจนเรื่องความคุ้มค่า เช่น ความสูงของเสาไฟ ความสว่าง ระยะห่าง เป็นสิ่งต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจน

\"ผู้ตรวจการแผ่นดิน\"  เบรคอปท.ทั่วปท. ดันเสาไฟฟ้าประติมากรรม ชี้เกินจำเป็น

สำหรับเรื่องประติมากรรมนั้นเป็นเรื่องที่กล่าวกันมาโดยตลอดว่ามีราคาแพงและอาจไม่คุ้มค่า ซึ่งประเด็นนี้การกำหนดช่วงราคาและรายละเอียดวัสดุที่ใช้ เช่น ปูนปั้นหรือวัสดุอื่นใดจะชัดเจนมากขึ้น และสำคัญที่สุดคือพื้นที่ที่ในการติดตั้งเสาไฟฟ้าต้องมีความเหมาะสม หรือในบางพื้นที่ที่ต้องการความปลอดภัยต้องใช้แสงสว่างให้เพียงพอ การติดตั้งเสาไฟฟ้าธรรมดาก็สมประโยชน์แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลในการใช้งบประมาณ เมื่อได้กำหนดแนวทางไว้แล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดให้มากขึ้น 
รองศาสตราจารย์อิสสรีย์ กล่าวย้ำว่า เพื่อให้ปัญหานี้เกิดข้อยุติและมีแนวปฏิบัติที่ดีร่วมกันผู้ตรวจการแผ่นดินได้
มีข้อเสนอแนะให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการ กำชับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแจ้งแนวปฏิบัติไปยังแต่ละจังหวัดเพื่อให้ทุกจังหวัดแจ้ง อปท. ในพื้นที่ให้ทราบถึงแนวทางการก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมพร้อมอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าด้วย การดำเนินงานต้องแยกเรื่องเสาไฟฟ้ากับรูปทรงประติมากรรมออกจากกันและต้องยึดหลักความคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพประสิทธิผล และตรวจสอบได้ การติดตั้งเสาไฟฟ้าต้องมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นหลัก ส่วนรูปทรงประติมากรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นควรก่อสร้างในพื้นที่ชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเฉพาะจุดเพื่อสร้างสีสัน บรรยากาศ และความโดดเด่นของพื้นที่ 

กรมบัญชีกลางต้องเร่งรัดเสนอมาตรการป้องปรามในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุในภาครัฐต่อคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ โดยเร็ว

พร้อมกันนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินต้องเร่งรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบการจัดซื้อเสาไฟฟ้าประติมากรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมถึงแนวทางการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการจัดซื้อเสาไฟฟ้าประติมากรรมต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป 

นอกจากนี้ ย้ำให้จังหวัดและอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการรวบรวมข้อมูลเรื่องการก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมว่ามีรายละเอียดอย่างไร ทั้งโครงการ งบประมาณ และสถานที่ตั้ง  โดยขอให้มีการรายงานตามลำดับชั้นตั้งแต่จังหวัด ไปกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จนถึงกระทรวงมหาดไทยเพื่อทราบ

โดยให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นใช้เป็นฐานข้อมูลและแนวทางกำหนดนโยบายให้ทุก อปท.ได้ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิผล  และ ลงพื้นที่ตรวจสอบเกี่ยวกับความคุ้มค่าและการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟฟ้าประติมากรรม รวมถึงโครงการก่อสร้างอื่น ๆ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอมาด้วย เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่สุด 

“เป้าหมายหลักของการติดตั้งเสาไฟฟ้า คือ ‘แสงสว่าง’ เพื่อความปลอดภัย หากจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้แสงสว่างมากขึ้นต้องคำนึงเรื่องความประหยัดร่วมด้วย เช่น นำเทคโนโลยีช่วยตอบโจทย์ความคุ้มค่า  ในทางกลับกันประติมากรรมนั้นเป็นเรื่องสุนทรียศาสตร์จึงทำให้มูลค่านั้นสูงขึ้น ซึ่งไม่ตรงวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน 

 และเข้าใจถึงความประสงค์ของผู้ที่คิดเรื่องนี้อยากให้ทุกที่เต็มไปด้วยความสุนทรียภาพ ความมีเอกลักษณ์ แต่การนำความสุนทรียะไปบวกเข้ากับเสาไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ๆ อาจทำให้ความงามมันเจือจางลงไป ซ้ำยังทำให้เสียงบประมาณเพิ่มขึ้น ดังนั้น เรื่องนี้ต้องแยกกันเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และคุ้มค่าต่อการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างแท้จริง” รองศาสตราจารย์อิสสรีย์ กล่าวเพิ่มเติม