บทเรียน ‘จำนำข้าว’ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ สู่ปมเสี่ยง ‘เงินดิจิทัล’ รัฐบาลเศรษฐา

บทเรียน ‘จำนำข้าว’ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ สู่ปมเสี่ยง ‘เงินดิจิทัล’ รัฐบาลเศรษฐา

"...นั่นหมายความว่า หากโครงการ “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” มีความสุ่มเสี่ยง เกิดความเสียหายต่อการเงินการคลัง และหากถึงขั้นเกิดการทุจริต “ซ้ำรอย” โครงการจำนำข้าวนั้น รัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งนำโดย “เศรษฐา” มิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้..."

กำลังเป็นที่ถกเถียงในทุกองคาพยพของสังคม กรณี “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” นโยบายหลักของ “เพื่อไทย” ที่กำลังจะคลอดออกมาผ่าน “รัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว” ตามคำนิยามของ “ก้าวไกล

เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 และบรรดา “บิ๊กเนม” ของเพื่อไทย ต่างออกมาดาหน้าปกป้อง-การันตีโครงการนี้ ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แม้จะต้องใช้เงินหลวงไปกว่า 5.6 แสนล้านบาท และอาจจะต้องกระทบกระเทือนต่อ “เงินคงคลัง” ของประเทศ

ส่งผลให้บรรดาอดีต “ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ” ร่วมกับนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง อาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ อย่างน้อย 99 คน ร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านนโยบายนี้ โดยมีใจความสำคัญระบุว่า เป็นนโยบายที่ “ได้ไม่คุ้มเสีย” โดยเฉพาะการใช้งบประมาณถึง 5.6 แสนล้านบาท ทำให้รัฐเสียโอกาสลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และบริหารจัดการน้ำ แต่กับเป็นการสร้างหนี้สาธารณะ ผลักภาระให้คนรุ่นต่อไป เสียโอกาสการสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน

สวนทางกับผลโพลจากหลายสำนักที่อ้างว่าสำรวจจากประชาชนทุกพื้นที่ ล้วนตอบสนอง “เห็นด้วย” กับนโยบายการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล ขณะที่นักวิชาการบางส่วนยังออกโรงหนุนนโยบายนี้ด้วยเช่นกัน เพราะเชื่อว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวราว 1-3% ต่อปีด้วย

อย่างไรก็ดีหากตัดเรื่องประเด็นการใช้งบประมาณออกไป โครงการนี้ถูกมองเรื่อง “ความคุ้มค่า” ในการใช้จ่ายเม็ดเงินจากภาษีประชาชนอย่างมาก และหลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการหว่านเม็ดเงินลงไป คล้ายคลึงกับโครงการ “จำนำข้าว” สมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ไม่ผิดเพี้ยน ช่องโหว่เยอะ ส่งผลให้เกิดการทุจริตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ที่จำคุก “อดีตนายกฯ” รวมถึงบรรดาอดีตรัฐมนตรีหลายคนไปแล้วก่อนหน้านี้

ไทม์ไลน์ของโครงการ “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” กับโครงการ “จำนำข้าว” ดูคล้ายคลึงกันแบบไม่ผิดเพี้ยน เริ่มต้นที่ “เพื่อไทย” ในฐานะแกนนำรัฐบาล หาเสียงนโยบายนี้เป็นหลัก ก่อนจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ยืนยันทำโครงการนี้

ย้อนไปสมัยโครงการจำนำข้าวก็เช่นเดียวกัน เกิดเสียงคัดค้านอย่างหนักจากนักวิชาการ รวมถึงองค์กรอิสระ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า โครงการนี้ได้ไม่คุ้มเสีย สุ่มเสี่ยงเกิดการทุจริต และสุดท้ายเกิดการทุจริตขึ้นจริง ทั้งการทุจริตยิบย่อย เช่น การสวมสิทธิชาวนา การนำข้าวจากต่างประเทศมาเข้าโครงการจำนำ ลุกลามไปถึงการทุจริตระดับชาติ คือโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) 8 สัญญาแรก ที่พยานหลักฐานปรากฏชัดว่า มีการนำข้าวมาเวียนขายในประเทศ มิได้มีการส่งออกไปต่างประเทศจริงตามที่อ้าง ทำรัฐเสียหายหลายหมื่นล้านบาท เป็นต้น

ผ่านมาราว 12 ปี “เพื่อไทย” ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง คลอดนโยบาย “ประชานิยม” อีกครา บรรดานักวิชาการหน้าเดิม ๆ ต่างดาหน้าออกมาคัดค้าน และขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้

ไม่เว้นแม้แต่ ป.ป.ช. ซึ่งเคยออกแถลงการณ์คัดค้านนโยบายจำนำข้าว มาคราวนี้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยให้เชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าวว่า มีข้อน่าห่วงใย หรือความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาการทุจริต หรือผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระยะยาวตามที่มีนักวิชาการ และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ท้วงติงมาหรือไม่

ทว่ารัฐบาลชุดนี้ซึ่งนำโดย “เพื่อไทย” ยังยืนยันเดินหน้านโยบายดังกล่าว โดยอ้างถึงผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ต่างอะไรกับเมื่อ 12 ปีก่อนที่ทำโครงการรับจำนำข้าว

ทำเอา “เมธี ครองแก้ว” อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า สมัยจำนำข้าวที่ตนเป็นกรรมการ ป.ป.ช.อยู่ เคยทำหนังสือเตือนไปหลายครั้ง แต่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ไม่ฟัง อ้างเป็นนโยบายที่แถลงต่อสภา ต้องทำตามที่หาเสียงไว้

“ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มันใช้ยาก เพราะต้องพิสูจน์เจตนาว่าคุณมีเจตนาจะทำแบบนี้จริง ๆ ไม่ได้ทำโดยไม่รู้ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือว่าโดยเหตุผลอื่นที่ไม่เข้าใจ แต่ตอนนั้นรู้อยู่แล้ว แต่ก็ยังทำ รับจำนำข้าว ก็รู้อยู่แล้วว่า จะเสียหาย แต่ก็ยังทำ เพราะฉะนั้นเมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้น ถึงไปไม่รอด ติดคุกกันเป็นแถว แล้วไม่ได้มีแค่นักการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงข้าราชการประจำที่เป็นเจ้ากี้เจ้าการ เพราะหากทำตามคำสั่งตามหน้าที่ไม่ผิด แต่หากแสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนหรือชี้นำรัฐบาลด้วยซ้ำ” เมธี ระบุ

นั่นหมายความว่า หากโครงการ “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” มีความสุ่มเสี่ยง เกิดความเสียหายต่อการเงินการคลัง และหากถึงขั้นเกิดการทุจริต “ซ้ำรอย” โครงการจำนำข้าวนั้น รัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งนำโดย “เศรษฐา” มิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้

ยังเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนที่โครงการนี้จะมีการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใช้งานจริง ต้องรอดูจนกว่าจะถึงวันนั้นว่า รัฐบาลชุดนี้จะรับฟังคำเตือน ปรับปรุงแก้ไขช่องโหว่ จนโครงการประสบความสำเร็จหรือไม่

หรือว่าสุดท้ายจะได้เห็นนักการเมืองบางคนต้องหลบหนีลี้ภัย บางคนติดคุกติดตะราง เพราะปล่อยปละละเลย แล้วอ้างทำเพื่อประชาชน ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลในอดีตกันแน่