มองการแก้ความยากจนบนเวทีคริปโต | ไสว บุญมา

มองการแก้ความยากจนบนเวทีคริปโต | ไสว บุญมา

มาตรการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้แก่คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป เป็นประเด็นใหญ่ที่สร้างความสนใจอย่างทั่วถึง แต่เงินนั้นจะมาจากไหนยังไม่มีความกระจ่าง ท่ามกลางการต่อต้านจากนักวิชาการจำนวนมาก และการถกกันอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับผลของมาตรการนี้

มีเหตุการณ์น่าสนใจ ซึ่งไม่เป็นข่าวรายวัน นั่นคือ สัปดาห์นี้ศาลในนครนิวยอร์กเริ่มพิจารณาคดีที่ “แซม แบงก์มัน-ฟรีด” ถูกกล่าวหาว่าทำประทุษกรรมและโกงเงินนักลงทุน 7 กรณี คดีอาจมีผลทำให้เขาติดคุกหลายทศวรรษ

เขาอ้างว่าต้องการหารายได้ ซึ่งเขามั่นใจว่าจะเป็นจำนวนมากจากการทำกิจการด้านเงินดิจิทัล เพื่อนำไปใช้ในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ตามแนวคิดใหม่ที่เขาเรียกว่า “การกุศลแบบมีประสิทธิผล”

เงินดิจิทัลซึ่งมักรู้จักกันในนามของ “คริปโต” ในขณะนี้มีเกิน 2 หมื่นสกุล นำโดย “บิตคอยน์” ดังเป็นที่ทราบกันดี “เงิน” ในที่นี้เป็นสมมติชนิดหนึ่งซึ่งมนุษย์ทำขึ้นมาเพื่อใช้ในกิจการต่างๆ โดยเฉพาะการเป็นตัวกลางในการค้าขาย

ย้อนไปในสมัยโบราณ มีการสมมติ หรือการตกลงกันระหว่างผู้คนในชุมชนให้ใช้วัสดุบางอย่างเป็นตัวกลางในการค้าขาย เช่น เปลือกหอย ต่อมาแร่หลายชนิดถูกนำมาใช้โดยเฉพาะแร่เงินและแร่ทองคำ 

การสมมติวิวัฒน์ต่อเนื่อง มาพร้อมกับการค้าขายที่ขยายกว้างขึ้นและเทคโนโลยีที่มีอานุภาพสูงขึ้น เหรียญทำจากโลหะบางชนิด ธนบัตรทำด้วยกระดาษและตัวเลขในบัญชี ซึ่งล้วนมีรัฐบาลค้ำประกันและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ เงินดิจิทัลเป็นวิวัฒนาการล่าสุด

คริปโตสกุลต่างๆ เป็นสมมติของเอกชน บนฐานของการใช้เทคโนโลยีสร้างบัญชีขึ้นมาตามเงื่อนไข โดยไม่มีใครค้ำประกัน ไม่ว่ารัฐบาล หรือเอกชน

ในช่วงเวลา 15 ปีที่คริปโตถูกสร้างขึ้น มันถูกนำไปใช้เก็งกำไรอย่างกว้างขวาง ทั้งที่มีการต่อต้านจากรัฐบาลจำนวนมาก และจากองค์กรทางการเงิน โดยเฉพาะกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ 

ณ วันนี้ มีรัฐบาลของ 2 ประเทศนำบิตคอยน์ไปใช้เป็นเงินตราในประเทศ ได้แก่ เอลซัลวาดอร์และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง สองประเทศนี้มีคนยากจนจำนวนมากจากปัญหาสาหัสทางเศรษฐกิจ จึงคิดว่าบิตคอยน์จะช่วยได้

อย่างไรก็ดี การที่ค่าของบิตคอยน์ผันผวนสูงมาก โดยตกจากกว่า 6.5 หมื่นดอลลาร์ลงมากว่าครึ่งในช่วงนี้ มีผลร้ายมากกว่าผลดีต่อประเทศทั้งสอง

มองการแก้ความยากจนบนเวทีคริปโต | ไสว บุญมา

การเก็งกำไรส่งผลให้ผู้สร้างคริปโตพร้อมทั้งผู้มีทุน ความกล้าและความสามารถ บางคนร่ำรวยมหาศาล นายแบงก์มัน-ฟรีดไม่มีทุนมาก หากมีความกล้าและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีร่วมสมัย เขาจึงตั้งกิจการบริการด้านการเก็งกำไรและตลาด หรือเวทีค้าขายคริปโต ขึ้นมา เขาสามารถระดมทุนจำนวนมากจากผู้มีทุนที่หวังจะสร้างกำไรได้มากในเวลาอันสั้น 

เพียงไม่นาน กิจการของเขาฉายภาพความสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งดันให้มูลค่าของกิจการพุ่งขึ้นไปถึง 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ คาดกันว่าเขาน่าจะได้รับค่าตอบแทนจำนวนมากจากภาพของความสำเร็จนั้น โดยเฉพาะเมื่อเขานำเงินก้อนใหญ่ๆ ไปบริจาคให้แก่ทั้งกิจการด้านการช่วยเหลือคนยากจน และด้านการสนับสนุนนักการเมือง ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ลงทุนและใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตแบบหรูหรา

 แต่เวลาผ่านไปไม่นาน การดำเนินกิจการแบบไม่ชอบมาพากลจากความฉ้อฉลของเขาเริ่มแพร่ออกมา ยังผลให้กิจการเดินเข้าภาวะล้มละลายและเขาถูกจับกุม 

ข้อมูลที่เผยแพร่ออกมายืนยันว่า เงินที่นายแบงก์มัน-ฟรีดใช้จ่าย มิใช่รายได้ในกิจการของตน หากมาจากกองเงินของนักลงทุนและนักเก็งกำไร ซึ่งหายไปเกินหมื่นล้านดอลลาร์

ส่วนเรื่องการบริจาคเพื่อช่วยคนยากจนแบบมีประสิทธิผลนั้น เป็นการมุ่งสร้างภาพโดยเจตนามากกว่าการช่วยเหลือแบบจริงใจ

ในช่วงเวลา 15 ปี ผู้มีปัญญา หรือความสามารถด้านการใช้เทคโนโลยีชั้นแนวหน้า และความกล้าสามารถทำรายได้มหาศาล จากการสร้างและดำเนินกิจการด้านเก็งกำไรในคริปโท ในขณะเดียวกัน การขาดสัมมาเจตนาอาจสร้างปัญหาสาหัสได้ 

การจะแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล วางอยู่บนฐานของการใช้ปัญญากระตุ้นเศรษฐกิจและลดความยากจนด้วยความจริงใจ หรือเพื่อเกื้อหนุนนายกรัฐมนตรีผู้มีกิจการด้านคริปโต จึงเป็นปริศนาที่กำลังแสวงหาคำตอบ.