เงินดิจิทัล ชี้อนาคต “เศรษฐา”

เงินดิจิทัล ชี้อนาคต “เศรษฐา”

การจะผลักดันให้เศรษฐกิจปีหน้าโต 5% ไม่ใช่เรื่องยากหากจะทำให้โตจากการแจกเงิน เพราะในปี 2566 ฐานการเติบโตของเศรษฐกิจจะต่ำ แต่ในระยะยาวต้องคิดให้ดี และการใช้ในเรื่องของเทคโนโลยีก็ควรจะต้องศึกษาความเหมาะสมด้วยไม่ควรไปตื่นเต้นกับเทคโนโลยี

นโยบายการแจกเงินดิจิทัลผ่าน Digital Wallet คนละ 10,000 บาท ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ต้องการให้สร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ได้ตามเป้าหมายที่ประกาศให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวปีละ 5% ระหว่างปี 2567-2570 ถือเป็นภารกิจท้าทายของรัฐบาล โดยรัฐบาลจะเริ่มจ่ายเงินดิจิทัลในวันที่ 1 ก.พ.2567 เป็นการจ่ายให้กับผู้ที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป รวมวงเงินที่รัฐบาลตั้งประมาณการไว้ 560,000 ล้านบาท ถือเป็นวงเงินที่สูงมากเมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ตั้งไว้ 3.4 ล้านล้านบาท

กลไกการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัลได้ดำเนินการผ่านคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งมีการประชุมนัดแรกไปเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566 ซึ่งการประชุมนัดแรก นายกรัฐมนตรีต้องการให้กระทรวงการคลังสื่อสารออกไปอย่างถูกต้อง เนื่องจากนโยบายนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก โดยขอให้ทุกคนร่วมกันดำเนินงานอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง ให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงิน และการคลัง และกฎหมายอื่นๆ

ไม่แปลกใจที่รัฐบาลค่อนข้างระมัดระวังในการสื่อสารนโยบายเงินดิจิทัล เพราะเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยกระทรวงการคลังจะต้องเร่งสรุปที่มาของเงิน โดยที่ผ่านมาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินว่าการแจกเงินดิจิทัลจะทำให้เพิ่มจีดีพีได้ในปี 2567 ที่ใช้มาตรการจากนั้นพลังของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะหมดอย่างรวดเร็ว และรัฐบาลก็จะหมดกระสุนในการอัดฉีดเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากใช้เงินก้อนโตและใช้เงินลงไปอย่างที่ไม่ตรงจุดเท่าไหร่

รวมทั้งการจะผลักดันให้เศรษฐกิจปีหน้าโต 5% ไม่ใช่เรื่องยากหากจะทำให้โตจากการแจกเงิน เพราะในปี 2566 ฐานการเติบโตของเศรษฐกิจจะต่ำ แต่ในระยะยาวต้องคิดให้ดี และการใช้ในเรื่องของเทคโนโลยีก็ควรจะต้องศึกษาความเหมาะสมด้วยไม่ควรไปตื่นเต้นกับเทคโนโลยี แต่ต้องดูการใช้ประโยชน์ที่ทำได้จริงด้วย โดยการใช้เงิน 560,000 ล้านบาท มาใช้อาจนำมาช่วยคนยากจนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนที่มีจำนวน 4.4 ล้านคน จะช่วยได้หลายปี

การแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท จึงนับเป็นความท้าทายของรัฐบาลนายเศรษฐาอย่างมาก เพราะถ้างบประมาณ 560,000 ล้านบาท ไม่สามารถหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้ จะทำให้เกิดปัญหาการใช้งบประมาณได้ไม่เต็มศักยภาพ และรัฐบาลจะมีกระสุนไม่มากเพื่อรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคตที่ยังมีความเสี่ยง รวมทั้งรัฐบาลเศรษฐา คงไม่สามารถถอยหลังได้ ดังนั้นกระทรวงการคลังต้องกำหนดเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้มากที่สุด