ปธ.ศาลฎีกาคนใหม่ มอบนโยบาย 'ที่พึ่ง เที่ยงธรรม เท่าเทียม ทันโลก'

ปธ.ศาลฎีกาคนใหม่ มอบนโยบาย 'ที่พึ่ง เที่ยงธรรม เท่าเทียม ทันโลก'

'อโนชา ชีวิตโสภณ' ประธานศาลฎีกาคนที่ 49 แถลงนโยบายมอบให้แก่ ผู้พิพากษา-ข้าราชการศาลยุติธรรมทั่วประเทศ ชูม็อตโต้ 'ที่พึ่ง เที่ยงธรรม เท่าเทียม ทันโลก' หวังบุคลากรพร้อมใจสู่เป้าหมาย

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2566 นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา คนที่ 49 มอบนโยบายประธานศาลฎีกา ปี 2566 – 2567 “ที่พึ่ง เที่ยงธรรม เท่าเทียม ทันโลก” หรือ “Dependability Fairness Equality Modernization” แก่ผู้พิพากษาและข้าราชการศาลยุติธรรมทั่วประเทศ มีรายละเอียด ดังนี้

“ที่พึ่ง” ศาลยุติธรรมพร้อมเป็นที่พึ่งของประชาชนในโอกาสแรกที่ได้รับความเดือดร้อนหรือมีข้อพิพาท โดยมุ่งเน้นส่งเสริมกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก การพัฒนาช่องทางในการเข้าถึงความยุติธรรม รวมทั้งการปฏิรูประบบงานเพื่อขจัดขั้นตอนซ้ำซ้อน 

“เที่ยงธรรม” ศาลยุติธรรมยืนหยัดเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการด้วยความบริสุทธิ์และยุติธรรม เป็นหลักประกันแห่งสิทธิและเสรีภาพให้แก่ประชาชน พิจารณาพิพากษาอรรถคดีโดยบุคลากรที่มีความรู้เชี่ยวชาญพิเศษ
ในกฎหมายและสาขาวิทยาการต่าง ๆ 

“เท่าเทียม” ศาลยุติธรรมยึดมั่นในการอำนวยความยุติธรรมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน พัฒนามาตรฐาน การปล่อยชั่วคราว รวมทั้งการจัดหาทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ประชาชนในการต่อสู้คดีอย่างมีประสิทธิภาพ 

“ทันโลก” ศาลยุติธรรมเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่ทันสมัยในการบริหารงานคดี พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อประสิทธิภาพในการบริการประชาชน

ปธ.ศาลฎีกาคนใหม่ มอบนโยบาย \'ที่พึ่ง เที่ยงธรรม เท่าเทียม ทันโลก\'

ทั้งนี้ นางอโนชา ประธานศาลฎีกา เน้นย้ำให้ความสำคัญกับการอำนวยความยุติธรรม โดยมุ่งพัฒนาระบบยุติธรรมและหลักนิติธรรม ให้ตรงกับความต้องการของประชาชนส่วนรวมภายใต้วิสัยทัศน์ ต่อยอดอันได้แก่การสานต่อนโยบายเดิมที่ทำสำเร็จแล้วและที่ยังดำเนินการอยู่ให้สำเร็จ ขยายผลด้วยการระดมสรรพกำลัง นำผลงานที่ประสบความสำเร็จแล้วมาใช้อย่างเต็มที่และขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทั่วถึง 

นางอโนชา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ต้องสร้างสรรค์ความยุติธรรมที่ยั่งยืนโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ด้วยการคิดค้นนวัตกรรม หรือแผนงานใหม่ ๆ เพื่อให้ความยุติธรรมธำรงอย่างมั่นคง สามารถตอบสนองความต้องการและผลประโยชน์ของประชาชน โดยจะขับเคลื่อนและสานต่อนโยบายของประธานศาลฎีกาในอดีตนำมาผสมผสานกับนโยบายที่จัดทำขึ้นใหม่ เพื่อให้การดำเนินการในทุกยุคสมัยมีความต่อเนื่องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน