‘ก้าวไกล’ ปรับโครงสร้างเฉพาะกิจ รอ ‘พิธา’ หวนคืน ปูทางลุยเลือกตั้งท้องถิ่น

‘ก้าวไกล’ ปรับโครงสร้างเฉพาะกิจ รอ ‘พิธา’ หวนคืน ปูทางลุยเลือกตั้งท้องถิ่น

‘ชัยธวัช’ อธิบายทุกปมหลังปรับโครงสร้างพรรคใหม่ ขับ ‘ปดิพัทธ์’ ไม่ใช่การละคร แต่ทำไปเพื่อให้เป็น ‘ฝ่ายค้าน’ สมบูรณ์ตามเงื่อนไข รธน. แย้มเลือก กก.บห.ใหม่อีกที เม.ย. 67 เชื่อมั่น ‘พิธา’ หวนคืนเก้าอี้แน่ แบไต๋ทิ้ง ‘ก้าวหน้า’ ปูทาง ‘ก้าวไกล’ ลงเลือกตั้งท้องถิ่นเอง

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566 นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “คมชัดลึก” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์” เนชั่น” ดำเนินรายการโดยนายวราวิทย์ ฉิมมณี ถึงกรณีที่พรรคมีมติขับนายปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก เขต 1 และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นการเล่นละครหรือไม่

นายชัยธวัช อธิบายถึงเหตุผลในการขับนายปดิพัทธ์ ว่า ในคำแถลงการณ์ของพรรคเป็นเหตุผลที่ตรงไปตรงมาชัดเจนว่า พรรคมีความเห็นว่า เราควรต้องมีฐานะเป็นฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถมี สส.ท่านใดเป็นประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ ได้ เมื่อเป็นแบบนั้น พอมีกรรมการบริหารพรรคคนใหม่ขึ้นมา ตนเป็นคุยกับนายปดิพัทธ์อีกรอบว่า ตัดสินใจอย่างไรกันแน่ เพราะแม้กระทั่งในพรรคเองก็มีความเห็นหลากหลาย ไม่ได้เห็นตรงกันหมดทุกคน นายปดิพัทธ์ก็ลังเลเหมือนกัน คิดกลับไปกลับมาหลายรอบ เท่าที่แลกเปลี่ยนกันก่อนหน้านั้น สุดท้ายไปคุยอีกครั้งว่า เมื่อมีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จะต้องเดินหน้าเป็นฝ่ายค้านสมบูรณ์ นายปดิพัทธ์ชั่งน้ำหนักดูแล้ว อธิบายว่า เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า มีหลายงานเพิ่มเริ่มต้น และอยากจะดำเนินงานเหล่านั้นต่อ คือตามเป้าหมาย 3 ป.ที่ได้แถลงไว้ ประสิทธิภาพ โปร่งใส และประชาชน เมื่อยืนยันแบบนั้นว่า มีความประสงค์จะทำงานในฐานะรองประธานสภาฯต่อ พรรคไม่มีทางเลือก จึงต้องประชุมกันระหว่างกรรมการบริหารพรรค และ สส.เป็นไปตามข้อบังคับของพรรค นี่คือที่มาที่ไป ตรงไปตรงมาตามที่แถลงไว้เลย

‘ก้าวไกล’ ปรับโครงสร้างเฉพาะกิจ รอ ‘พิธา’ หวนคืน ปูทางลุยเลือกตั้งท้องถิ่น

“ไม่ใช่ ไปคุยว่า ตกลงพรรคตัดสินใจแบบนี้ ทราบอยู่แล้วก่อนจะมีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เหตุผลสำคัญที่นายพิธาได้แจ้งว่าจะลาออก เพื่อให้พรรคก้าวไกลทำหน้าที่ฝ่ายค้านสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ ตนเองไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ตอนนี้ เพราะถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เมื่อผมเป็นหัวหน้าพรรค ไปคุยกับนายปดิพัทธ์ ไม่ได้ไปคุยว่าให้ลาออก หรือบอกให้เป็นรองประธานสภาฯ แต่ถามว่าสุดท้ายตัดสินใจอย่างไร” นายชัยธวัช กล่าว

นายชัยธวัช กล่าวถึงกรณีถูกกล่าวหาว่า เป็นการเล่นละครทางการเมือง เหมือนฝากเลี้ยงนายปดิพัทธ์ไว้ เป็นการใช้เทคนิคในทางกฎหมาย ว่า การที่นายปดิพัทธ์จะกลับพรรคมาอีกครั้งหรือไม่คงเป็นเรื่องอนาคต แต่ปัจจุบันเมื่อนายปดิพัทธ์ตัดสินใจแบบนั้น ต่อให้เราไม่มีตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน เราต้องการเป็นฝ่ายค้านสมบูรณ์ มีอีกหลายเรื่องที่เป็นเงื่อนไขของการเป็นฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ เช่น เสียงในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ นับเสียงของฝ่ายค้านด้วย
    
เมื่อถามว่า มีคนไปขุดข้อบังคับพรรคก้าวไกล เรื่องการขับออกจากพรรคต้องผิดวินัยร้ายแรง มีเหตุร้ายแรงอย่างอื่น การที่นายปดิพัทธ์ไม่ลาออกรองประธานสภาฯ เข้าข้อไหนของข้อบังคับพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช กล่าวว่า มีอยู่ ยืนยันว่าทำไปตามข้อบังคับ ในวันที่ 3 ต.ค. ฝ่ายกฎหมายของพรรคจะทำหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งมติที่ประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรค กับ สส. โดยใช้เสียง 3 ใน 4 ด้วยในการขับออก

‘ก้าวไกล’ ปรับโครงสร้างเฉพาะกิจ รอ ‘พิธา’ หวนคืน ปูทางลุยเลือกตั้งท้องถิ่น

นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า เข้าใจว่าเมื่อพรรคทำหนังสือแจ้ง กกต. เมื่อตรวจสอบแล้ว คงต้องแจ้งไปยังประธานสภาฯ นี่คือเรื่องให้พ้นจากสมาชิกพรรค นายปดิพัทธ์ ต้องมีภาระตามรัฐธรรมนูญ คือไปหาพรรคใหม่สังกัด แต่อย่างน้อยประธานสภาฯจะทราบว่า รองประธานสภาฯคนที่ 1 ไม่ใช่สมาชิกพรรคก้าวไกลแล้ว ส่วนกระบวนการเป็นอย่างไรคงต้องหารือกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ อีกครั้ง

เมื่อถามว่า การที่นายปดิพัทธ์ เข้าข่ายความผิดอะไรในข้อบังคับพรรค นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องทำผิดอะไร แต่มีเงื่อนไขเข้าข้อบังคับได้อยู่ แต่พรรคจะอธิบายกับ กกต.เอง

“เหตุผลที่พรรคมีมติแบบนั้น คงไม่ได้เป็นเหตุผลเสียหายในทางส่วนตัวกับนายปดิพัทธ์แต่อย่างใด แต่เป็นเหตุผลเรื่องความจำเป็นต้องทำให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่แน่นอนว่านายปดิพัทธ์ และพรรคก้าวไกลเองถูกวิจารณ์เรื่องนี้ กับคนที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนี้ แม้ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลเอง มีความเห็นหลากหลายกันไป แต่พรรคก้าวไกล และนายปดิพัทธ์ มีภาระต้องพิสูจน์ตัวเองในเรื่องนี้ว่า การตัดสินใจครั้งนี้สมเหตุสมผล และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ” นายชัยธวัช กล่าว

ส่วนกรณีฝ่ายการเมืองจะมีการตรวจสอบ เช่น ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ไปสอบแล้ว เตรียมการไว้หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่ได้กังวลอะไรในการไปร้อง เพราะเป็นนักร้องหน้าเดิม ๆ แต่เตรียมการแน่นอนในแง่รู้อยู่แล้วว่าถูกวิจารณ์ได้ อย่าว่าแต่ข้างนอก ข้างในพรรคเองก็มีการถกเถียงเรื่องนี้เป็นรายสัปดาห์ มีความเห็นแตกต่างกันไป แต่สุดท้ายที่ประชุม สส.ก่อนหน้านี้บอกว่า สุดท้ายอยู่ที่การตัดสินใจของนายปดิพัทธ์ด้วยว่าจะตัดสินใจอย่างไร อย่าลืมว่า พรรคไม่สามารถมีมติพรรคให้ใคร หรือ สส.คนไหนลาออกจากตำแหน่งในสภาฯได้ อยู่ที่การตัดสินใจของนายปดิพัทธ์ เมื่อเขาตัดสินใจอย่างนี้ พรรคตัดสินใจอีกอย่าง ก็ไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้

เมื่อถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพรรคยึดติดกับตำแหน่งหรือไม่ สวนทางกับที่เคยบอกก่อนหน้านี้ว่าจะทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับตำแหน่ง นายชัยธวัช กล่าวว่า คิดว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการยึดติดกับตำแหน่ง แต่เป็นเงื่อนไขในเมื่อมาเป็นฝ่ายค้านแล้ว เราพิจารณาถี่ถ้วนแล้วว่า สุดท้ายตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน หรือสถานะฝ่ายค้านสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญยังจำเป็นอยู่ เพราะมีบทบาทสำคัญควบคุมทิศทางการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาฯ เมื่อพรรคก้าวไกลมีเสียงอันดับ 1 ของสภาฯ และฝ่ายค้าน หากผู้นำฝ่ายค้านมาจากพรรคอื่น คงทำงานลำบาก

เมื่อถามว่า เหมือนนำพาพรรคก้าวไกลเข้าไปเสี่ยงกับเกมนิติสงครามอีกหรือไม่ แต่เปิดช่องให้มีข้อท้วงติงวิพากษ์วิจารณ์ได้ รู้อยู่แล้วว่าสู้ในสนามนี้เราตกเป็นรองทุกที นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่ได้กังวล

เมื่อถามถึงกรณีการปรับโครงสร้างใหม่ภายในพรรค ทำไมถึงมาเป็นหัวหน้าพรรค นายชัยธวัช กล่าวว่า เป็นความจำเป็นของสถานการณ์ คิดว่ามันเป็นการตัดสินใจภายในพรรคที่ต้องทำอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งคือกรณีนายพิธาแสดงความประสงค์กับกรรมการบริหารพรรคมาด้วยเรื่องลาออก เดิมต้องบอกว่าพรรคก้าวไกลเราคุยกันในพรรค จะมีการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่คือ เม.ย. 2567 เพราะชุดปัจจุบันจะครบรอบ 4 ปีพอดี แต่ตอนนี้เมื่อสถานการณ์บังคับต้องเลือกชุดใหม่ จึงค่อนข้างรวดเร็ว จริง ๆ แคนดิเดตมีหลายคนไม่ใช่แค่ตน แต่พรรคต้องการปรับเล็ก เลยอยากให้มีการปรับเปลี่ยนกันให้น้อยสุด ไม่ให้กระทบกลไกการทำงานที่แต่ละคนรับผิดชอบอยู่แล้ว อีกส่วนต้องขอบคุณสมาชิกพรรคและ สส.หลายคนยอมรับว่า หลายส่วนที่ผ่านมามีบทบาทสำคัญในการทำงานตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่จนถึงปัจจุบัน โดยการปรับโครงสร้างพรรคครั้งใหญ่ในช่วงเดือน เม.ย. 2566 คิดว่าช่วงนั้นนายพิธา กลับมาทำหน้าที่ สส.ในสภาฯได้แล้วด้วย และยังมั่นใจว่าจะรอดคดีหุ้นสื่อ

เมื่อซักอีกว่า หากนายพิธาไม่รอดคดีหุ้นสื่อ จะดำเนินการอย่างไร จะถึงขั้นให้ สส.เขตลาออก เพื่อให้นายพิธา กลับเข้าสภาฯอีกหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า อย่าเพิ่งคิดไปไกล ต้องบอกว่ายังมั่นใจอยู่ว่ากรณีหุ้นไอทีวีมันชัดเจนมาก โดยปกติชอบทำงานหลังบ้าน แต่วันนี้ไม่ว่าใครจะถูกเลือกขึ้นมา ทุกคนต้องพร้อมรับบทบาทตรงนี้

ส่วนการปรับโครงสร้างพรรค เห็นว่ามีการปรับเปลี่ยนน้อยลงมา เป็นเพราะว่าป้องกันไม่ให้ผู้นำพรรครุ่นใหม่ ๆ สุ่มเสี่ยงกับการโดนตัดสิทธิทางการเมือง หากโดนยุบพรรคหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า เหตุผลคือภายในพรรค เนื่องจากเป็นเหตุจำเป็นที่ต้องเลือกกรรมการบริหารพรรคทั้งชุดกระชั้นชิด มีการคุยกันว่า คงจะเป็นการปรับเล็ก คือปรับให้น้อยที่สุด อย่างที่เรียนว่า ในการประชุมใหญ่สามัญปีหน้าเราต้องปรับใหญ่จริง ๆ ตอนนั้น เลยเป็นแนวทางที่ตัวแทนของพรรคแต่ละจังหวัดได้คุยกันว่า เราจะปรับเล็ก จริง ๆ เรียกว่า มีการปรับคนใหม่จริง ๆ แค่ 1 คน คือกรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคเหนือ แทนนายปดิพัทธ์ ที่ลาออกจากกรรมการบริหารพรรค เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งรองประธานสภาฯ

‘ก้าวไกล’ ปรับโครงสร้างเฉพาะกิจ รอ ‘พิธา’ หวนคืน ปูทางลุยเลือกตั้งท้องถิ่น

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตอนนี้พรรคมีการปรับโครงสร้างพื้นฐานใหม่อีกรอบหนึ่ง เรียกว่าปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานใหม่ มีนโยบายโฟกัสให้มีคณะกรรมการของพรรค ในระดับจังหวัด และอำเภอทั่วประเทศให้ได้ เพื่อทำให้สมาชิกพรรคขยายการมีส่วนร่วมมากขึ้น และมีโครงสร้างที่สมาชิกพรรคมีบทบาทจริง ๆ มากขึ้นในการบริหารพรรค ดังนั้นกระบวนการพวกนี้กำลังดำเนินการอยู่ เมื่อถึงการประชุมสามัญปีหน้า ตัวแทนพรรคระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล จะมีส่วนร่วมในการประชุมสามัญปีหน้าด้วย

เมื่อถามย้ำว่า เป็นการเซฟผู้นำรุ่นใหม่หรือไม่ หากถูกยุบพรรคจริง ๆ นายชัยธวัช กล่าวว่า คงมีหลายเหตุผล อีกเหตุผลหนึ่งจริง ๆ คือ บางตำแหน่ง เช่น รองหัวหน้าพรรค หรือรองเลขาธิการพรรค แม้แต่โฆษก อาจมีการโรเตชั่นบทบาทกันบ่อย หากใส่ในกรรมการบริหารพรรคกันบ่อย คงต้องเปลี่ยนในที่ประชุมใหญ่เท่านั้น ทีมรองเลขาฯมีการปรับหลายรอบ เช่น ฝ่ายนิเทศสัมพันธ์ ฝ่ายดูดิจิทัลแพลตฟอร์ม ฝ่ายยุทธศาสตร์เลือกตั้ง เป็นต้น โฆษกก็ไม่ควรเป็นกรรมการบริหารพรรค เพราะอาจปรับกันบ่อย เป็นต้น

เมื่อถามว่า ตอนพรรคอนาคตใหม่ เห็นว่า ตัวสำคัญอยู่กรรมการบริหารพรรคทั้งหมด แต่ตอนพรรคก้าวไกลเหมือนเก็บรุ่น 3 รุ่น 4 ไว้ มองไปถึงความเสี่ยงการถูกยุบพรรคในอนาคตหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า อย่าเพิ่งคิดไปไกล จะมีรุ่น 2, 3 ,4 เป็นงานที่พรรคต้องพัฒนาบุคลากรอยู่แล้ว จากเดิมคนที่มามีส่วนร่วมบริหารพรรคมีไม่กี่คน ได้ สส.มาเพิ่ม ได้ทีมงานมาเพิ่ม เราต้องค่อย ๆ ให้บทบาทคนใหม่มีส่วนร่วมในการบริหารพรรค ต่อให้ไม่มีปัญหาเรื่องนิติสงคราม เราก็ต้องพัฒนาแบบนี้อยู่แล้ว ต่อไปอนาคตใครบ้างที่ได้สั่งสมประสบการณ์บริหาร เข้าใจพรรค เข้าใจงานการเมืองทั้งในสภาฯ หรือมีบทบาทการเมืองในฝ่ายบริหาร ควรเติบโตเป็นลำดับ เป็นรุ่น ๆ นี่คือเรื่องปกติ

ทำไมถึงยังไม่เป็น น.ส.ศิริกัญญา นายชัยธวัช กล่าวว่า อาจเป็นเพราะอย่างที่บอกว่า ปรับเล็ก ปรับใหญ่ค่อยปรับเดือน เม.ย. 2567 ถ้านายพิธารอดพ้นกลับมา ก็อาจกลับมาเป็นอีกครั้ง ตนได้พูดไปแล้วว่า พร้อมที่จะลงจากเก้าอี้ หากนายพิธากลับมาทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่

เมื่อถามว่า มีการมองว่ากรรมการบริหารพรรคชุดนี้ เพราะต้องการคงกลุ่มก่อตั้ง ที่เขาเรียกกันว่า “กลุ่มเพื่อนเอก” นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่ใช่เหตุผลเลย คิดว่าจากอนาคตใหม่มาเป็นก้าวไกลในวันนี้ เราคงไว้ถึงแนวคิดแนวทางนโยบายหลักในการทำงาน ก็ยังไม่มีปัญหา ยังคงเส้นคงวา ก่อนหน้านี้ตนมีบทบาทเป็นเลขาธิการพรรค มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย ทิศทาง หรือเรื่องใหญ่ ๆ ของพรรค ไม่มีความจำเป็นต้องขยับขยายให้เป็นแบบนั้น ที่ผ่านมาอย่างที่บอกว่า เรามีความสืบเนื่องจากนโยบาย และอุดมการณ์ของพรรคอยู่แล้ว

“เหตุผลไม่มีอะไรมาก อย่าคิดซับซ้อน คุณพิธาตัดสินใจแบบนั้น พรรคคุยกัน ก็เห็นด้วย ต้องปรับ ต้องเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่กัน ด้วยความกระชั้นชิด เราก็ปรับเล็กไปก่อน” นายชัยธวัช กล่าว

‘ก้าวไกล’ ปรับโครงสร้างเฉพาะกิจ รอ ‘พิธา’ หวนคืน ปูทางลุยเลือกตั้งท้องถิ่น

เมื่อถามว่า บุคลิกไม่คล้ายคลึงกับนายพิธา และนายธนาธร มองตัวเองอย่างไร มีจุดอ่อนหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า แกนนำพรรคมีบุคลิกต่างกันไป คงไม่มีพิมพ์นิยมว่า เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น แต่คนที่ขึ้นมาเป็นผู้นำทางการเมือง ต้องมีความชัดเจนด้านความคิด เข้าใจพรรค มีบุคลิกโดดเด่นในแบบของตัวเอง ไม่ได้กังวลอะไร ถ้า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ “อุ๊งอิ๊ง” มาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจริง ๆ ก็ยินดี คิดว่าจะได้ส่งเสริมบรรยากาศในการแข่งกันพัฒนาการทำงานของพรรคการเมือง ไม่ได้กังวลตรงนั้น

เมื่อถามว่า การขึ้นมาตรงนี้มีเป้าหรือแผนปรับเปลี่ยนพรรคก้าวไกลให้เป็นฝ่ายค้านที่สมบูรณ์อย่างไร นายชัยธวัช กล่าวว่า มีแผนอยู่แล้ว ต่อให้ไม่มีการเปลี่ยนผู้บริหารพรรค แผนนี้ก็ยังดำรงอยู่ แน่นอนงานพื้นฐานสุดคืองานฝ่ายค้านในสภาฯ เพื่อตรวจสอบถ่วงดุล รวมถึงการเสนอกฎหมายในงานนิติบัญญัติ ต้องรักษามาตรฐานเดิมเอาไว้ ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ยึดถือผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง ต้องยึดถืออย่างแข็งแรง โดยขณะนี้มีการเซตทีมขึ้นมาชื่อว่า “Policy Watch” แบ่งเป็น 15 กลุ่มประเด็นทางนโยบายเพื่อทำงาน ไม่ได้ทำงานในสภาฯอย่างเดียว ทำงานเชื่อมโยงในสภาฯ สส. คณะกรรมาธิการ (กมธ.) และทีมงานพรรคข้างนอก และกับประชาชนด้วย 

ส่วนงานฝ่ายค้านเชิงรุก จริง ๆ พูดอย่างตรงไปตรงมา มันไม่ใช่การทำหน้าที่จ้องล้มรัฐบาล แต่เป้าหมายคือเตรียมพร้อมที่จะเป็นรัฐบาลที่ดีที่สุดในการเลือกตั้งคราวหน้า ระหว่างทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ต้องขับเคลื่อนวาระ หรือนโยบายสำคัญของพรรคกับประชาชนนอกสภาไปด้วย พร้อมกับการเตรียมพร้อมด้านนโยบาย ในการลงไปสู่การปฏิบัติให้ได้ว่า เมื่อไหร่มีโอกาส เมื่อเลือกตั้งหากประชาชนไว้วางใจมาเป็นฝ่ายบริหารครั้งหน้า เราพร้อมที่จะส่งมอบนโยบายระดับปฏิบัติได้ สร้างทีมที่พร้อมบริหารนโยบายนั้น ๆ ให้ได้ สร้างความเข้าใจกับสังคม กับประชาชนที่ขับเคลื่อนไปด้วยกันให้ได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการทำพรรคให้เติบโต แข็งแรง ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ต้องยอมรับว่าพรรคก้าวไกลในวันนี้ แม้ว่าเราจะชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 แต่ระบบภายใน ในสายตาของพวกเรา เช่นตนที่เริ่มก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่มา พรรคยังไม่เป็นระบบ หรือสถาบันการเมืองที่ดีพร้อมอย่างที่คาดหวัง คือดีขึ้นเยอะ แต่ยังดีไม่พอสำหรับเรา ยิ่งเราได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเยอะ และรวดเร็ว เราต้องทำพรรคให้โตทัน จึงมีอีกหลายเรื่องต้องผลักดัน อย่างสมาชิกพรรคต้องตั้งเป้าว่า มีสมาชิกอย่างน้อย 1 แสนคนในสิ้นปีนี้ ช้าสุดคือ เม.ย. 2567 เป็นต้น

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า สำหรับการเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่น จะลุยในนามพรรคก้าวไกล ไม่ใช้ในนามคณะก้าวหน้าแล้ว หากสร้างโครงสร้างพรรคระดับอำเภอ จังหวัด ให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมได้จริง ก็จะสามารถมีบทบาทจริง ๆ ในการสรรหา หรือพัฒนาทีมในการลงเลือกตั้งท้องถิ่นได้ คราวนี้ส่งในนามพรรค ถ้าโครงสร้างพื้นฐานพร้อม เพราะว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องส่งลงเลือกตั้งอย่างเดียว แต่การผลักดันนโยบายกระจายอำนาจในทางปฏิบัติ

ส่วนบทบาทในสภาฯ จะบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร ในเมื่อถูกมองว่าพรรคก้าวไกลทำงานกับพรรคอื่นลำบาก เช่น เรื่องการแบ่งประธาน กมธ. นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่จริงหรอกเรื่องไม่มีใครคบ ยกตัวอย่างในสภาฯชุดที่แล้ว การทำงานในสภาฯก็ปกติ แต่แน่นอนว่าเวลามีเรื่องใหญ่ ๆ ไม่ใช่การตัดสินใจส่วนตัวของ สส.แต่ละคน ต้องตัดสินใจในนามพรรค เรื่องนี้ก็ต้องแข็งกัน แต่เรื่องอื่นความสัมพันธ์ส่วนตัวในการทำงาน ก็ดีปกติ 

“เป็นเรื่องสถานการณ์การเมือง มากกว่าเรื่องไม่มีใครคบ อย่างผมหรือ สส.หลายคน เราต้องทำงานในสภาฯ ต้องมีพันธมิตร เพราะถ้าเราอยากผลักดันกฎหมายแต่ละฉบับ เราต้องใช้ สส.ก้าวไกล ไม่พอ ฝ่ายค้านอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีเพื่อน สส.จากฟากรัฐบาลมาสนับสนุนเราด้วย เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่ทำงานกับเพื่อนคนอื่น ๆ” นายชัยธวัช กล่าว

เมื่อถามว่า ด้วยท่าที สส.วิพากษ์วิจารณ์รุนแรง ไม่รักษามิตร ได้กำชับ สส.ใหม่อย่างไร นายชัยธวัช กล่าวว่า ก็มี แต่คิดว่าปัญหานี้น้อย ออกจะเกร็ง ๆ กันด้วยซ้ำว่า สส.ใหม่กลัวว่า ถ้าไปคุยกับพรรคอื่น หรือเจอแกนนำพรรคอื่นจะเข้าใจผิดหรือไม่ แต่ตนบอกว่าคุยได้ ทุกคนต้องคุย และการตั้ง กมธ.ขึ้นมา ก็เป็นกลไกที่ทำให้ สส.ข้ามพรรคทำงานใกล้ชิดมากขึ้นอยู่แล้ว เรื่องนี้ไม่มีปัญหา

ส่วนการผลักดันงานนอกพรรคจนโดนวิจารณ์ว่า ทำตามแฟนคลับมากเกินไป ขยับอะไรไม่ได้เลย เรียกว่าไหลตามกระแสแฟนคลับ จนไม่กล้ามีใครเตือนว่า ทิศทางถูกต้องคืออะไร นายชัยธวัช กล่าวว่า คงไม่ขนาดนั้น คิดว่าต้องแยกกันระหว่าง การไหลไปตามกระแส กับการที่พรรคจะตัดสินใจยึดโยงประชาชน แน่นอนมีเส้นบาง ๆ ว่า อะไรคือไหลตามกระแส อะไรคือการตัดสินใจยึงโยงกับประชาชน อย่างไรพรรคเราต้องการเป็นพรรคการเมืองที่ทำงาน และตัดสินใจโดยยึดโยงผลประโยชน์ประชาชน การรับฟังความเห็นประชาชนเป็นเรื่องปกติ แม้คนทำงานในพรรค แต่ละจังหวัด ต้องรับฟังกัน มีหลายครั้งผู้บริหารพรรคตัดสินใจเรื่องอะไรไป แต่ทีมทำงานแต่ละจังหวัด สส. หรือแม้แต่พนักงานสำนักงานไม่เห็นด้วย บางครั้งถกเถียง ทบทวนกันก็มี เราคงไม่ถึงกับไม่มีจุดยืน แต่ถ้าเป็นเรื่องถูกต้อง สมเหตุสมผล ยืนอยู่บนหลักการ คิดว่าพรรคก้าวไกลกล้าตัดสินใจ