‘ปิยบุตร’ แพร่ตอนแรกข้อเขียนถึง ‘ก้าวไกล’ ยก 5 เหตุผล หมดเวลาฮันนีมูน

‘ปิยบุตร’ แพร่ตอนแรกข้อเขียนถึง ‘ก้าวไกล’ ยก 5 เหตุผล หมดเวลาฮันนีมูน

‘ปิยบุตร’ แพร่ข้อเขียนถึง ‘ก้าวไกล’ ก่อนโบกมือลาตอนที่ 1 ปัญหาที่พรรคต้องเผชิญในระยะเวลาอันใกล้ ในฐานะ ‘คนนอก’ ขอทำตัวเป็น ‘เอสเพรสโซ่ 2 ช็อต’ ยก 5 เหตุผล ระวังพ่ายแพ้ด้าน IO-ช่วงเวลาฮันนีมูนกำลังหมดลง-นิติสงครามเดินหน้าบดขยี้-กลุ่มทุนรุมขย้ำ-ความขัดแย้งในพรรค

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สื่อสารข้อเขียนถึงพรรคก้าวไกล ตอนที่ 1 ภายหลังประกาศยุติบทบาททางการเมือง และจะเลิกเอ่ยถึงพรรคก้าวไกล ว่า ดังที่กล่าวไว้เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า มีข้อเขียนเกี่ยวกับพรรคก้าวไกลที่เตรียมเอาไว้นานแล้ว 2 ตอนสุดท้าย ก่อนที่จะหยุดการวิจารณ์เสนอแนะพรรคก้าวไกล หลายประเด็นในข้อเขียนสองตอนนี้ อาจปรากฏในการสัมภาษณ์สื่อก่อนหน้านั้น เรียบเรียงไว้เป็นข้อเขียนและตั้งใจเผยแพร่ “ทิ้งทวน” เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อสมาชิก ผู้ลงคะแนน ทีมงาน และ ส.ส. 

นายปิยบุตร ระบุว่า คาดการณ์ว่า ภายในพรรค คงไม่มีใครหรือคณะนำคนใดพูดกันอย่างตรงไปตรงมาแบบนี้ ด้วยเหตุผลจากตำแหน่งหน้าที่ การปิดลับ หรือความเกรงอกเกรงใจต่อกันและกัน ไม่ว่า คณะนำเกรงใจ ส.ส. หรือ ส.ส.เกรงใจคณะนำ คงหลงเหลือแต่การคุยบ่นตัดพ้อกันในวงข้าววงเหล้าอยู่บ้าง ดังนั้นในฐานะ “คนนอก” จึงขอใช้โอกาสสุดท้าย ทำหน้าที่เป็น “เอสเพรสโซ่ 2 ช็อต” รสอาจขม แต่ช่วยให้ตื่นและสดชื่นได้ หวังว่า ผู้สนับสนุนพรรค สมาชิก พนักงาน ส.ส. และคณะนำของพรรคก้าวไกล จะเข้าใจในเจตนาของตน โดยข้อเขียน 2 ตอนสุดท้าย ได้แก่ 
    

  • ตอนที่ 1 ปัญหาที่พรรคก้าวไกลต้องเผชิญในระยะเวลาอันใกล้ 
  • ตอนที่ 2 ข้อเสนอถึง ส.ส. คณะนำ และหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่

ในวันนี้ จะเผยแพร่ตอนที่ 1 ก่อน คือปัญหาที่พรรคก้าวไกลต้องเผชิญในระยะเวลาอันใกล้
    
ภายหลังจากการสนธิกำลังของชนชั้นนำดั้งเดิม ชนชั้นนำทางการเมือง และชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ เพื่อโดดเดี่ยวพรรคก้าวไกล ได้เริ่มต้นขึ้น เป็นที่แน่ชัดว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีของสภาผู้แทนราษฎรสมัยนี้ พรรคก้าวไกลจะต้องเผชิญกับความท้าทายจำนวนมาก ขอสรุปไล่เรียงเป็นข้อๆดังนี้ 

  • ประการที่หนึ่ง

การตรวจสอบและปฏิบัติการข่าวสารอย่างเข้มข้น ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่มาจนถึงพรรคก้าวไกล ประสบความสำเร็จได้ เพราะ ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่ง คือ การสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสื่อสารผ่านทางโลกออนไลน์ ฝ่ายตรงข้ามกับพรรคก้าวไกลเล็งเห็นถึงข้อนี้ พวกเขาจึงใช้เครื่องมือการสื่อสารในการตอบโต้กลับไป เมื่อ ส.ส.หรือพรรคก้าวไกล สื่อสารบ่อย ก็ย่อมมีโอกาสที่จะสื่อสารพลาด เมื่อ ส.ส.หรือพรรคก้าวไกล สื่อสารบ่อย ก็เป็นธรรมดาที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามนำบางท่อนบางตอนไปขยายความ ตีความ ใส่ความ เพื่อสู้กับพรรคก้าวไกล 

ดังนั้น นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ส.ส.พรรคก้าวไกล ควรระมัดระวังและรอบคอบในการสื่อสารมากยิ่งขึ้น และคณะนำต้องยึดกุมทิศทางการสื่อสารของคนในพรรคทุกคนให้ไปในทิศทางเดียวกัน แบ่งภารกิจกลุ่มงานตามความเชี่ยวชาญรายประเด็น เรื่องใด ให้ ส.ส.คนใดสื่อสาร มิใช่ปล่อยให้ ส.ส.สื่อสารกันได้ทุกประเด็นตามใจชอบอย่างไม่มีทิศทาง เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ที่ ส.ส.คนหนึ่งจะรู้ทุกเรื่อง เชี่ยวชาญสารพัดเรื่อง การเกาะกระแส “ดราม่า” “เป็นข่าว” แสดงความเห็นทุกประเด็น โดยตนเองอาจไม่เชี่ยวชาญมากนัก ย่อมนำมาซึ่งความผิดพลาด และต้องไม่ลืมว่า เมื่อสื่อและฝ่ายตรงข้ามจับจ้องอยู่เสมอ ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็อาจถูกนำไปขยายผลได้ 

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลพยายามยกระดับการเมืองไทยใหม่ ด้วยการสร้างมาตรฐานของนักการเมืองให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการครองตน เรื่องการยึดถือคุณค่าพื้นฐานร่วมกัน อ่อนน้อม ไม่กร่าง ไม่เบ่ง ไม่มีการปฏิบัติที่เป็นไปในทางคุกคามทางเพศ การเคารพความแตกต่างหลากหลายทางเพศ หรือไปจนถึงยึดเรื่อง PC 

เมื่อไรก็ตาม คนของพรรคก้าวไกลมีกรณีละเมิดเรื่องเหล่านี้ - ทั้งเรื่องเล็กแต่ถูกตีฟูขยายใหญ่ ทั้งเรื่องใหญ่ที่พรรคไม่อาจคุมคนของตนได้ถ้วนทั่ว - ก็จะถูกปฏิบัติการข่าวสารของฝ่ายตรงข้ามขยายผล พร้อมกับเรียกร้องมาตรฐานตามที่พรรคตนเองได้โฆษณาเอาไว้

เมื่อยกระดับมาตรฐานเอาไว้สูง จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะถูกสังคมเรียกร้องมากเป็นพิเศษ ดังนั้น ส.ส.ของพรรคก้าวไกลจึงจำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องการครองตนมากกว่า ส.ส.พรรคอื่นๆ บุคลิกภาพของ ส.ส.และความใหม่ของ ส.ส. ก็เช่นเดียวกัน จะกลายเป็นจุดที่พวกเขานำไปใช้โจมตี 

จากเดิม “ความใหม่ ความสด การไม่เป็นนักการเมืองมาก่อน ไม่ได้อยู่ในตระกูลการเมือง การมีจุดยืนชัดเจน” ที่เป็นจุดเด่น จะค่อยๆถูกทำให้เป็น “หัวร้อน อ่อนประสบการณ์ บริหารไม่เป็น ทำงานกับคนอื่นไม่ได้ คิดว่าตนเองวิเศษคนเดียว ไม่มีเพื่อน ไม่คิดคบใครและไม่มีใครคบ” จนกลายเป็นจุดอ่อนไป 

พรรคก้าวไกลต้องต่อสู้กับการยึดกุมความคิดความเชื่อของสังคมไว้ให้ได้ มิใช่ปล่อยเละเทะจนบานปลายไปถึงขนาดที่คนเริ่มบ่นตัดพ้อว่า “รู้แบบนี้ ไม่น่าเลือกเลย ขอคะแนนคืนได้มั้ย”ถ้ามาถึงวันนั้นเมื่อไร คะแนนนิยมของพรรคก็จะเริ่มลดน้อยถอยลง ต้องไม่ลืมว่า เมื่อกระแสสูงได้เพราะโลกโซเชียล กระแสก็ตกได้ด้วยโลกโซเชียลเช่นกัน

  • ประการที่สอง 

ช่วงเวลา “Honeymoon” กำลังหายไป ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้การยอมรับและเอาใจช่วยจากหลากหลายแวดวง อยากเห็นพรรคก้าวไกลได้มีโอกาสบริหารประเทศ เราจะเห็นได้ว่า แวดวงวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม บันเทิง ไปจนถึงสื่อมวลชน ต่างก็มีใจปฏิพัทธ์ให้แก่พรรคก้าวไกล 

เมื่อไรก็ตามที่คนของพรรคก้าวไกลถูกโจมตี ทั้งจากปฏิบัติการข่าวสาร ทั้งจากนิติสงคราม จะมีคนจากหลากหลายแวดงพร้อมออกมาอธิบาย โต้แย้งแสดงเหตุผล ช่วยพรรคก้าวไกลเสมอ ยังไม่นับรวมว่าได้ช่วงเวลาออกอากาศจากสื่อสำนักสำคัญๆอยู่เป็นประจำ 

ประกอบกับ เมื่อพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับที่หนึ่ง แต่กลับไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและไม่ได้ร่วมรัฐบาล ก็ยิ่งทำให้เกิดแรงแค้นผสมระคนกับแรงสงสาร เข้าไปอีก แต่ทั้งหมดนี้คือช่วงเวลา Honeymoon 

เมื่อรัฐบาลเข้ารับหน้าที่ พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ผ่านไปสักระยะ บรรยากาศน้ำผึ้งพระจันทร์ที่แวดวงท้้งหลายมีให้แก่พรรคก้าวไกล ก็จะทยอยบรรเบาบางลงไปตามลำดับ ต่อไป โอกาสแก้ตัว ที่พรรคก้าวไกลได้รับอย่างสม่ำเสมอ จะค่อยๆหายไป จากเดิม เรื่องหนึ่ง มีคนให้อภัย มีคนพร้อมเข้าใจ มีคนช่วยแก้ต่าง ต่อไป เรื่องเดียวกัน คนจะเริ่มถาม “อีหยังวะ” คนจะสงสัย “อะไรกันนักกันหนา อีกแระ ไม่ระวังกันเลย” 

นับตั้งแต่เลือกตั้งจบลงจนถึงวันนี้ มีหลายกรณีที่เริ่มเดินไปในทิศทางนี้แล้ว ผมคงไม่ต้องยกมาอธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรม ทุกคนคงพิจารณาและนึกออกได้เอง 

  • ประการที่สาม

นิติสงคราม เดินหน้าบดขยี้ บรรดาคดีความที่ ส.ส.พรรคและพรรคก้าวไกล ถูกเล่นงาน ยังคงอยู่ในเงื้อมมือขององค์กรอิสระและศาล และน่าจะมีอีกหลายคดีที่บรรดา “นักร้อง” เตรียมปฏิบัติการต่อเนื่อง ตลอด 4 ปีนี้ ปฏิบัติการนิติสงครามต่อพรรคก้าวไกลจะทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ดอกผลอาจไม่ออกช่วงนี้ แต่ก็สร้างความรำคาญและเป็นภาระดอกผลจะเบ่งบานบานปลาย หากเข้าใกล้เทศกาลการเลือกตั้งและพรรคก้าวไกลยังกระแสสูง

  • ประการที่สี่ 

พรรคการเมือง/กลุ่มการเมือง ทุกกลุ่ม รุมขย้ำ เมื่อพรรคก้าวไกลถูกโดดเดี่ยว ก็จะถูกพรรคอื่นๆปิดล้อมตามลำดับ รอบนี้จะหนักหนาสาหัสมากขึ้น เพราะ พรรคเพื่อไทย พรรคขนาดใหญ่ที่เคยอยู่ขั้วเดียวกันมา กลับเปลี่ยนไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามกันเสียแล้ว เมื่อผนวกกำลังเข้ากับพรรคอื่นๆที่ “จองกฐิน” พรรคก้าวไกลมาโดยตลอด ก็จะยิ่งทำให้พรรคก้าวไกลเหนื่อยมากขึ้นการแบ่งสรรตำแหน่งประธานกรรมาธิการตามโควต้าพรรค เมื่อไม่นานมานี้ เป็นเพียง “หนังตัวอย่าง” เท่านั้น ประเดี๋ยวคงมีอีกหลายเรื่องตามมา 

  • ประการที่ห้า 

ความขัดแย้งภายในพรรค เป็นเรื่องปกติของทุกพรรคการเมือง การบริหารความคาดหวังของคนในพรรค และการขจัดหรือลดทอนความขัดแย้งภายในพรรค จึงเป็นศิลปะและความท้ายทายของผู้บริหารพรรคในระยะ 4 ปีนี้ พรรคก้าวไกลจะเจอปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคอยู่ 3 กรณีใหญ่ 

กรณีแรก ความขัดแย้งเรื่องตำแหน่ง พรรคก้าวไกลถูกเตะให้เป็น “ฝ่ายค้าน” ทำให้ตำแหน่งทางการเมืองต่างๆมีน้อย ในขณะที่โอกาสการบริหารและใช้งบประมาณแผ่นดินก็ไม่มี 

เมื่อตำแหน่งเหลือน้อยลง ไม่มีงบ ไม่มีอำนาจ แต่มี ส.ส.ถึง 151 คน มีพนักงาน มีอาสาสมัคร มีคณะทำงานทั่วประเทศ รวมอีกหลายร้อยคน มีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญที่พรรคอยากดึงตัวมาช่วยงานในอนาคตอีก เช่นนี้ การแบ่งสรรปันส่วนตำแหน่งให้ได้อย่างถ้วนทั่ว สมตามความพอใจของแต่ละคน ย่อมเป็นไปได้ยาก

เมื่อมีคนไม่ได้ตำแหน่งที่ตนเองต้องการ ก็ตามมาด้วยความผิดหวัง เมื่อผิดหวัง ก็ไม่พอใจ โกรธ และในท้ายที่สุด ก็จะขยายผลไปไม่พอใจในเรื่องอื่นอีก จากเดิม เรื่องเล็กๆน้อยๆ ทนๆกันไปได้ หยวนๆกันไปได้ แต่เมื่อผิดหวังใหญ่จากเรื่องตำแหน่ง ต่อไป เรื่องเล็กน้อยที่ไม่เป็นประเด็น ก็อาจกลายเป็นประเด็นได้เสมอ 

แล้วถ้ามีหลายๆคนไม่พอใจในเรื่องตำแหน่ง ก็จะตามมาด้วยการจับกลุ่มของคนที่ไม่พอใจ และขยายตัวเป็นความบัดแย้งภายในพรรค เช่นเดียวกัน พรรคก้าวไกลประกาศว่า จะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นในรอบหน้า จุดนี้เป็นชนวนของความขัดแย้งในพื้นที่ได้อีก 

ประสบการณ์ของพรรคอื่นๆบอกเราไว้ว่า การเมืองท้องถิ่นอาจส่งผลสะเทือนภายในพรรคได้จากกรณีที่ ส.ส.หรือผู้สมัคร ส.ส.ในเขตเลือกตั้งหนึ่ง ในจังหวัดหนึ่ง ต้องการส่งคนของตนเองลงสมัครสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือนายกท้องถิ่น แต่พรรคหรือคณะนำของพรรคต้องการส่งอีกคนลง ทำให้เกิดความขัดแย้งกัน ผลลัพธ์ที่ตามมา ก็คือ ต่างคนต่างส่งกันเอง แข่งกันเอง ขัดแย้งกันเอง หรือไม่ก็ อดทนยอมคณะนำพรรคไป แต่ก็สร้างความไม่พอใจเก็บเอาไว้ เรื่องทำนองนี้ ย่อมมีโอกาสเกิดกับพรรคก้าวไกลเช่นเดียวกัน

กรณีสอง ความขัดแย้งเรื่องการไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ยามเมื่อพรรคพึ่งตั้งใหม่ ยังไม่มีใครรู้จัก และยังไม่รู้จักกันเองเท่าที่ควร คณะนำของพรรคอาจยังไม่ไว้เนื้อเชื่อใจคนในพรรคอย่างถ้วนหน้า การตัดสินใจในเรื่องต่างๆอาจมาจาก “วงปิด” ของคณะนำไม่กี่คน ในขณะที่ ส.ส.คนอื่นๆอาจคิดว่าต้องยอมสภาพเช่นนี้ไปก่อนในระยะแรก อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคเติบโตขึ้น คนมากขึ้น ส.ส.มากขึ้น เรื่องที่ต้องตัดสินใจส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้างมากขึ้น ส.ส.และทีมงานของพรรคย่อมต้องการมีส่วนร่วมมากขึ้น 

ยิ่งพรรคก้าวไกลโฆษณาเรื่อง พรรคมวลชน พรรคที่ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ พรรคที่มีประชาธิปไตยกันภายในพรรค ก็จะยิ่งถูกคนในพรรคเรียกร้องการมีส่วนร่วมเข้าไปอีก มิพักต้องกล่าวถึง ผู้ลงคะแนนและผู้สนับสนุนจำนวนมากที่สามารถกดดันเรียกร้องพรรคได้เช่นกัน

ปัญหาเหล่านี้จะทยอยๆเกิดขึ้น ไล่ไปตั้งแต่ เรื่องใดให้อำนาจคณะนำตัดสินใจ แล้วให้ที่ประชุม ส.ส.รับทราบ เรื่องใดให้คณะนำและที่ประชุม ส.ส.ร่วมกันตัดสินใจ หรือคณะนำไม่กี่คนรวบอำนาจการตัดสินใจทั้งหมด แล้วให้ ส.ส.ยกมือพอเป็นพิธี คณะนำตัดสินใจแต่ผู้สนับสนุนพรรคไม่พอใจรวมตัวกันกดดัน คณะกรรมการบริหารพรรคมาจากการจัดตั้งคนไว้ก่อนแล้วจัดประชุมเป็นพิธียกมือให้ตามระเบียบ หรือจะเปิดให้มีการแข่งขันกันภายในพรรคอย่างจริงจัง เป็นต้น

กรณีสาม ความขัดแย้งเรื่องความคิดและแนวทางของพรรค พรรคก้าวไกลรวมคนจากหลากหลายกลุ่ม มีหลายเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน แต่ยอมกันไปเพื่อการณ์ใหญ่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป พรรคเติบใหญ่ขึ้น ความเห็นแตกต่างกันภายในพรรคในเรื่องความคิด แนวทาง นโยบายพรรค จะเริ่มปรากฏชัดมากขึ้น เรื่องแบบนี้ เป็นธรรมดาของพรรคการเมือง หากในอนาคต เปิดให้มีการแข่งขันภายในพรรค ก็จะเกิดกลุ่มขั้วต่างๆ แข่งกันภายในว่า แนวคิดไหนจะชนะและได้บริหารชี้นำพรรค ปัญหามีอยู่ว่า ในช่วงเริ่มต้นแบบนี้ จะประคองไม่ให้ประเด็นแบบนี้กลายเป็นความขัดแย้งจนสั่นคลอนพรรคได้อย่างไร

อ่านข้อเขียนฉบับเต็ม คลิกที่นี่