มอง ‘สุทิน’ ย้อนดู ‘ชวน’ กลยุทธ์คุมกองทัพ ทหารทั้งรัก ทั้งชัง

มอง ‘สุทิน’ ย้อนดู ‘ชวน’  กลยุทธ์คุมกองทัพ ทหารทั้งรัก ทั้งชัง

ความไม่ประมาทที่ “สุทิน คลังแสง” ใช้เป็นแนวทางทำงานร่วมกับกองทัพ และผนึกกำลัง นายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” เซ็ตทีมให้ดี ย่อมประคับประคองการทำงานได้ราบรื่น ไม่ตกหลุมพรางที่ขุดดักรอไว้

เพราะมีเสียงปรามาสไว้เยอะ “สุทิน คลังแสง” จึงอยากสร้างมาตรฐาน เป็นพลเรือนก็คุม “กระทรวงกลาโหม”ได้ ดังนั้นการเฟ้นหามือดีมาช่วยงาน จึงต้องคัดอย่างพิถีพิถัน

ที่ชัดเจน “บิ๊กแป๊ะ” พล.อ. นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม นั่งเป็นผู้ช่วย รมว.กลาโหม ปัจจุบันทำหน้าที่ติดต่อประสานงาน ล็อกคิวอดีตบิ๊กทหารให้ “สุทิน” พบปะ ขอความรู้ จากการถ่ายทอดประสบการณ์ทำงานในกองทัพ เช่น บิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร พล.อ.วิชิต ยาทิพย์

ส่วนตำแหน่งอื่นๆ อาทิ คณะที่ปรึกษา เลขานุการ รมว.กลาโหม แม้ยังไม่ปรากฎชื่อ แต่ “สุทิน”แย้มว่า มีทั้งบิ๊กทหารนอกราชการ ในราชการ นักวิชาการ และทั้งหมดนี้จะลงตัวภายใน 1 สัปดาห์ นับจากวันที่ 13 ก.ย.2566 ที่จะเข้ากระทรวงอย่างเป็นทางการ  

จึงเปรียบเหมือน ป้อมค่ายเปิดรับวันแรก และยังไม่รู้ว่าภายในนั้น มีค่ายกลซ่อนอยู่หรือไม่

ดังนั้น หากทีมเวิร์กดี ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง โดยเฉพาะนโยบายกองทัพ "จัดสมดุล 2 ขั้วมหาอำนาจ" หากเลือกผิด ชีวิตเปลี่ยน รวมถึงบ้านใกล้เรือนเคียง “เมียนมา” หากเดินเกมไม่ดี จะยุ่งกันไปใหญ่ 

ส่วนเรื่องภายใน แค่ปรับโครงสร้าง ลดกำลังพล ก็คงไม่สะเทือน แต่หากไปยุ่งกับทรัพย์สิน เงินทอน งบลับ สวัสดิการที่เคยมี แต่ไม่ได้ หรือเจอทหารเกเร คงขลุกขลักไม่น้อย

เรื่องเหล่านี้มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว ยุค “ชวน หลีกภัย” มาคุมกระทรวงกลาโหม ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ประเทศขาดเสถียรภาพ และความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ ไปเปิดตัวครั้งแรก ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร(วปอ.) กับนโยบายรัดเข็มขัดกองทัพ ทำเอา “บิ๊กทหาร” ควันออกหู

“ชวน หลีกภัย” ประกาศปรับโครงสร้างกองทัพ ลดอัตรากำลังพล 80,000 อัตรา วางกฎขยับขึ้นนายพลไม่เกิน 1,000 คน เดินหน้ายุบหน่วยงานที่ไม่จำเป็น เช่น สำนักงานผู้ช่วยทูตทหาร 3 เหล่าทัพ เหลือสำนักงานเดียว ไม่ให้เบิกงบลับ ส่วน“กองทัพเรือ”ห้ามออกเรือฝึกซ้อมรบ โดยให้เหตุผลประหยัดงบประมาณ และน้ำมัน

ทำ 3 เหล่าทัพสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น พร้อมกลิ่นโชยรัฐประหารยึดอำนาจ จนถึงขนาดมีทหารจะบุกมาอุ้ม“ชวน หลีกภัย” เพราะไม่พอใจนโยบายทางทหาร แต่บังเอิญเจอเจ้านายเก่าสกัด จึงถอยร่นกันไม่เป็นท่า เรียกว่าสมัยนั้นวุ่นวายหนักมาก

ปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้ ชวน หลีกภัย ผ่านวิกฤตินั้นมาได้ นอกจากบารมีเก้าอี้นายกฯ ค้ำยัน ต้องยกเครดิตทีมงาน ทั้ง พล.อ.วัฒนชัย วุฒิศิริ รมช.กลาโหม พล.อ.ยุทธนา แย้มพันธ์ ที่ปรึกษา รมว.กลาโหม พล.อ. นฤนาท กัมปนาทแสนยากร เลขานุการ รมว.กลาโหม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ทหารตระกูลสุวรรณทัต เครือญาติ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รวมถึงทหารเก่งๆ ในกองทัพเรือ และกองทัพอากาศ หลายนายมาช่วยงาน

ทว่า ตัวแปรสำคัญคือ การควบคุม “กองทัพบก” หน่วยคุมกำลังรบหลัก ได้เบ็ดเสร็จ ชวน หลีกภัย ใช้วิธีนำเซียนมาปราบเซียน ด้วยการขยับ “บิ๊กแอ๊ด” พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก มาเป็นผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งมาจากรบพิเศษ เป็น“ทหารดุ” กำลังพลเกรงกลัว เมื่อสถานการณ์กองทัพบกนิ่ง เหล่าทัพอื่นก็นิ่งตาม

จากนั้น ชวน หลีกภัย พลิกวิกฤติเป็นโอกาส สร้างประโยชน์ให้กองทัพ ด้วยการส่งทหารไทยไปรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออก 410 วัน เป็นครั้งแรกในฐานะ “ผู้นำกองกำลังของสหประชาชาติ” แม้จะมีเสียงคัดค้านจากประชาชน ไม่เห็นด้วย 80% ก็ตาม

ชวน หลีกภัย มองว่าจะส่งผลดี นอกจากสร้างความเชื่อมั่นกับต่างชาติ ว่าไทยไม่ได้ประสบวิกฤติต้มยำกุ้งจนง่อยเปลี้ยเสียขาขยับอะไรไม่ได้ และยังทำให้เพื่อนบ้านในอาเซียนได้รับประโยชน์ไปด้วย โดย ชวน หลีกภัย มอบหมาย “สุรินทร์ พิศสุวรรณ” รมว.ต่างประเทศ ล็อบบี้ “สหรัฐอเมริกา” ให้ออกเงินค่าใช้จ่าย ส่วน“ออสเตรเลีย” ให้นำเครื่องบินมารับ ส่วนทหารไทยเอาแต่ตัวไปก็พอ

ภารกิจรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออกในครั้งนั้น ได้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย และกองทัพไทยเป็นอย่างมาก ส่วนทหารที่ไปร่วมภารกิจ ก็ได้เกียรติยศกลับมา เช่น พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ฯ

เช่นเดียวกับ โครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-18 ทาง “กองทัพอากาศ” ไม่มีเงินผ่อน จำยอมส่งคืน และยอมให้สหรัฐฯ ยึดเงิน แต่ ชวน หลีกภัย ไม่ยอม โดยส่งคนไปเจรจาใหม่ จนประสบความสำเร็จไม่ต้องเสียเงิน และยังได้เครื่องบินขับไล่ F-16 อีก 1 ฝูง กลับมาให้กองทัพอากาศ  ทำให้ลูกทัพฟ้าแฮปปี้กันถ้วนหน้า

ส่วน “กองทัพเรือ” ชวน หลีกภัย เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ที่มีสถานะเปรียบเหมือนกองอำนวยการรักษาความมั่นคง(กอ.รมน.)ทางทะเล ดูแล สกัดกั้นการทำผิดกฎหมายทุกรูปแบบ ปกป้องอธิปไตยในปัจจุบัน

แม้เวลาจะผ่านมาร่วม 20 ปี สถานการณ์ในกองทัพเปลี่ยนจากอดีตไปพอสมควร แต่ทหาร ก็คือทหาร ถูกปลูกฝังจากสถาบันเดียวกัน ทั้งอุดมการณ์ รักชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ ปกป้องอธิปไตย ดูแลประชาชน และค่านิยมรักพวกพ้อง ด้วยประโยค “ไม่ฆ่าน้อง ฟ้องนาย ขายเพื่อน”

ดังนั้น ความไม่ประมาทที่ “สุทิน คลังแสง” ใช้เป็นแนวทางทำงานร่วมกับกองทัพ และผนึกกำลัง นายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” อย่างเหนียวแน่นตั้งแต่วันแรก และหากเซ็ตทีมให้ดี ย่อมประคับประคองการทำงานได้ราบรื่น ไม่ตกหลุมพรางที่ขุดดักรอไว้