'กมธ.นิรโทษกรรม' รับข้อเรียกร้อง กลุ่มทะลุฟ้า รับพิจารณานิรโทษฯคดี ม.112

'กมธ.นิรโทษกรรม' รับข้อเรียกร้อง กลุ่มทะลุฟ้า รับพิจารณานิรโทษฯคดี ม.112

"ชูศักดิ์" ยันไม่หั่น คดีม.112 ออกจากการนิรโทษกรรม แต่ยังไม่สรุปชัด แย้มอาจต้องรื้อแก้รธน.-ป. วิ อาญา ปมคืนสิทธิประกันตัว

ที่รัฐสภา  กลุ่มทะลุฟ้า และเครือข่าย นำโดย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ หรือ มายด์ แกนนำคณะราษฎร นายเอกชัย หงส์กังวาน ยื่นข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาฯ เพื่อขอให้เร่งพิจารณากำหนดให้คดีกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้รับการนิรโทษกรรม

โดย น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า จากกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ผู้ต้องคดีมาตรา 112 ระหว่างการคุมขังในเรือนจำ ถือเป็นเหตุความจำเป็นที่ กมธ.ควรพิจารณาให้ชัดเจนและจริงจังต่อการกำหนดให้คดีมาตรา 112 และ คดีทางการเมือง ได้รับการนิรโทษกรรม นอกจากนั้นแล้วขอเรียกร้องให้ชะลอคดีความของผู้ต้องหาคดีทางการเมือง รวมถึงพักการดำเนินการ ไม่ต้อนคนเข้าเรือนจำ หรือ ต้อนคนให้ไปตาย

น.ส.ภัสราวลี กล่าวด้วยว่า ขอให้พิจารณาปล่อยผู้ต้องขังคดีการเมือง โดยสิทธิการประกันตัว ซึ่งคนต้องคดีการเมืองไม่ควรมีข้อยกเว้นที่จะได้รับสิทธิประกันตัว อีกทั้งควรมีพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ใช้สิทธิต่อสู้ในคดีอย่างเต็มที่

\'กมธ.นิรโทษกรรม\' รับข้อเรียกร้อง กลุ่มทะลุฟ้า รับพิจารณานิรโทษฯคดี ม.112 ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานกมธ.นิรโทษกรรมฯ กล่าวว่า กมธ.ขอแสดงความเสียใจต่อกรณีของน.ส.เนติพร และไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียขึ้นอีก ทั้งนี้ในข้อเรียกร้องของเครือข่ายประชาชน รวมถึงความเห็นของ น.ส.ภัสราวลีนั้น ถูกบันทึกไว้ในที่ประชุมกมธ.แล้ว โดย กมธ. ไม่ได้ปฏิเสธหรือไม่รับไว้  แต่หลายเรื่องนั้นเป็นประเด็นในกระบวนการยุติธรรม ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานสอบสวน อัยการ และ ศาล ส่วนรัฐสภา หรือ รัฐบาลนั้นเป็นเพียงองค์ประกอบไม่ใช่ผู้บริการกระบวนการยุติธรรม

“เรื่องนี้สำคัญอยู่ที่นโยบาย เพื่อให้ฝ่ายต่างๆ พูดคุยและทำความเข้าใจในกระบวนการทำงาน หากทำงานแล้วหน่วยงาน เช่น ศาลไม่รับรู้  ศาลต้องยึดตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ดังนั้นหากเป็นการทำตามนโยบายในภาพรวมคือส่วนสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องหารือในทางออกร่วมกัน” นายชูศักดิ์ กล่าว

นายชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่าการนิรโทษกรรม คดีมาตรา 112 กมธ.ไม่ตัดออก แต่อยู่ระหว่างหารือ ข้อดี ข้อเสีย ซึ่งกมธ.พยายามทำเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมมากที่สุดตามสติปัญญาของกมธ. อย่างไรก็ดีตามประสบการณ์พบว่าสิทธิการประกันตัวถูกกำหนดให้เป็นดุลยพินิจของตุลาการ ซึ่งกำหนดไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ อาญา) ขณะที่รัฐธรรมนูญมีกำหนดไว้ในกรอบกว้างๆ ดังนั้นอาจต้องรื้อฟื้นการแก้รัฐธรรมนูญและ ป.วิ อาญา อย่างไรก็ดีข้อเสนอของภาคประชาชนนั้น กมธ.รับไว้และจะพิจารณาอย่างจริงจังและเต็มที่.