ด่วน! อัยการชง ป.ป.ช.ขอศาลออกหมายจับ 'อิทธิพล' ฉบับใหม่ ไม่ให้นับอายุความ

ด่วน! อัยการชง ป.ป.ช.ขอศาลออกหมายจับ 'อิทธิพล' ฉบับใหม่ ไม่ให้นับอายุความ

ด่วน! อธิบดีอัยการคดีปราบปรามการทุจริตฯ ภาค 2 ส่งหนังสือถึง เลขาฯ ป.ป.ช.ขอศาลออกหมายจับ 'อิทธิพล คุณปลื้ม' ฉบับใหม่ ไม่ให้นับอายุความคดีวอเตอร์ฟร้อนท์ฯ หลังจะหมดลง 10 ก.ย.นี้

เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2566 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2566 นายคำนึง วงษ์ทวีทรัพย์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 ได้มีหนังสือด่วนที่สุดเรื่อง ขอให้ดำเนินการออกหมายจับใหม่ ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ความว่า สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 ได้มีหนังสือขอให้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 เพื่อขอออกหมายจับ นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีต รมว.วัฒนธรรม, นายพิเชษฐ อุทัยวัฒนานนท์, นายวิทยา ศิรินทร์วรชัย, นายญัติพงค์ อินทรัตน์ และนายเอกพงษ์ บุญชาย ผู้ต้องหาที่ 1-4,6 เนื่องจากผู้ต้องหาที่ 1,2,3,4,6 มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่ไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 ในวันที่ 4 ก.ย.เวลา 10.00 น. และตามหนังสือที่อ้างถึง ท่านได้แจ้งผลการดำเนินการขอออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวข้างต้นต่อพนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 โดยแจ้งว่าศาลออกหมายจับผู้ต้องหาที่ 1,2,3 และมีคำสั่งยกคำร้องขอออกหมายจับผู้ต้องหาที่ 4,6 นั้น

รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า กรณีศาลออกหมายจับผู้ต้องหาที่ 1-3 นั้น พนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ภาค 2 พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7บัญญัติไว้ว่า "...ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี หรือระหว่างการพิจารณาของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ..." ประกอบ มาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 และตามหนังสือที่อ้างถึง (1) พนักงานอัยการ ได้แจ้งให้ท่านดำเนินการขอออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาโดยขอให้ท่านขอให้ศาลระบุหมายเหตุไว้ในหมายจับด้วยว่าผู้ถูกกล่าวหาได้หลบหนีไปเมื่อวันที่เท่าใด ตามสำเนาตัวอย่างหมายจับที่พนักงานอัยการแนบไปพร้อมกับหนังสือที่อ้างถึง (1) แต่ปรากฎว่าตามสำเนาหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ที่ จ. 23-25/2566, ลงวันที่ 5 ก.ย.2566นั้น ศาลไม่ได้ระบุหมายเหตุดังกล่าวไว้แต่อย่างใด

นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ พนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ภาค 2 จึงขอให้ท่านดำเนินการขอออกหมายจับนายอิทธิพล คุณปลื้ม, นายพิเชษฐ์ อุทัยวัฒนานนท์ และนายวิทยา ศิรินทร์รชัย ผู้ต้องหาที่1-3 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2ใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยขอให้ท่านขอให้ศาลระบุหมายเหตุไว้ในหมายจับด้วยว่าผู้ถูกกล่าวหาได้หลบหนีไปเมื่อวันที่เท่าใด

นายโกศลวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีนายญัติพงค์ อินทรัตน์ และนายเอกพงษ์ บุญชาย ผู้ต้องหาที่ 5-6 ที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอออกหมายจับนั้น เนื่องจากคดีนี้จะครบกำหนดอายุความฟ้องร้องในวันที่ 8 ก.ย.2566 ดังนั้น จึงขอให้ท่านมีหนังสือแจ้งนายญัติพงค์ และนายเอกพงษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4,6 ให้มารายงานตัวต่อพนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 โดยให้พนักงานไต่สวนผู้ประสานงาน (นายอภิรัฐ คงเจริญ)นำตัวผู้ถูกกล่าวหาที่ 4,6 ไปส่ง และยืนยันตัวผู้ถูกกล่าวหาต่อพนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2ในวันที่ 7 ก.ย.2566 เวลา 10.00 น. เพื่อดำเนินการยื่นฟ้องผู้ถูกกล่าวหาที่4,6 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 พร้อมทั้งให้ผู้ต้องหาที่ 4,6 เตรียมหลักประกันเพื่อยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ในชั้นศาลด้วย

นายโกศลวัฒน์ กล่าวด้วยว่า เนื่องจากมีการถกเถียงกันเรื่องปัญหาอายุความ สะดุดหยุดลงหรือไม่หากมีการหลบหนี เพราะคดีนี้เกิดก่อนกฎหมายปราบปรามการทุจริตแก้ไข อัยการจึงเห็นว่าอำนาจในการออกหมายจับเป็นของศาล จึงควรดำเนินการให้ชัดเจนเสนอให้ศาลเพื่อโปรดพิจารณา จะได้เป็นแนวทางให้ผู้ปฏิบัติ ทำหน้าที่กันได้อย่างถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอิทธิพล เมื่อครั้งดำรงตำเเหน่ง นายกเมืองพัทยา ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลผิด และส่งสำนวนให้อัยการฟ้อง ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ลงวันที่ 10 ก.ย. 2551 ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ฯ บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยคดีนี้ ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้อัยการเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2566 เเละอัยการสูงสุด (อสส.) มีความเห็นสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2566 ดังนั้นคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นอัยการไม่ถึง 1 เดือน