ตั้งรัฐบาล-นายกรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์ประชาชน

ตั้งรัฐบาล-นายกรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์ประชาชน

“นักการเมือง” หลังได้รับเลือกตั้งเป็นตัวแทนประชาชนไปทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนในรัฐสภา นักการเมืองสามารถทำหน้าที่ได้ทั้งเป็นฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายตรวจสอบ ไม่ใช่ว่าพอได้รับเลือกตั้งแล้วจะต้องเป็นรัฐบาลเพียงอย่างเดียว

สถานการณ์ที่ “พรรคเพื่อไทย” ใช้เป็นเหตุผล “สลายขั้วการเมือง” ในการจับมือพรรคการเมืองอื่นในการจัดตั้งรัฐบาล คือ วิกฤติรัฐธรรมนูญ วิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องประชาชน วิกฤติความขัดแย้งในสังคม ดังนั้นในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความพิเศษ การที่จะแก้วิกฤติครั้งนี้ได้ต้องดึงความร่วมมือจากทุกพรรคทุกฝ่าย ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองต่างๆ และสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่คาดว่า จะเกิดขึ้นวันที่ 18 ส.ค. และร่วมจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ เพราะการจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วเท่าไรจะยิ่งแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น หากประวิงเวลาออกไปยิ่งทำให้เกิดความเสียหายยิ่งขึ้น

หากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป ย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้ครัวเรือน การดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งกระทบการพิจารณา พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่จะต้องเบิกจ่ายในไตรมาส 1 ปี 2567 เพื่อนำเงินไปลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ที่อยู่ในแผนที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นการลงทุนที่เกิดการสร้างงานให้ประชาชน จำเป็นต้องได้ “รัฐบาล” มาบริหารประเทศเพื่อออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ตัวเลขส่งออกและจีดีพีที่ชะลอตัว ดอกเบี้ยขาขึ้นที่ยังเพิ่มไม่หยุด เหล่านี้ล้วนแต่เป็นความจำเป็นที่ต้องได้รัฐบาลมาบริหารประเทศ ที่ต้อง “ยึดประโยชน์ของประชาชน” เป็นหลัก

ทว่าการที่พรรค “เพื่อไทย” จะตั้งรัฐบาลและ “นายกรัฐมนตรีคนที่ 30” ได้ จะต้องมีเสียงรับรองจากรัฐสภา 376 เสียง จึงต้องทำทุกวิธีทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการ “เปิดไฟเขียว” ให้สามารถร่วมงานได้กับทุกฝ่าย รวมทั้งการขอเสียงสนับสนุนจาก “พรรคก้าวไกล” เพื่อโหวตให้ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ทว่าหากยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เราอาจจะเห็นภาพการเมืองไทย “สลายขั้ว” เกิดภาพความสามัคคีข้ามพรรค นักการเมืองต่างพรรคร่วมรับผิดชอบแก้ปัญหาผ่าทางตันการเมืองก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ตามครรลองประชาธิปไตย “นักการเมือง” หลังได้รับเลือกตั้งเป็นตัวแทนประชาชนไปทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนในรัฐสภา นักการเมืองสามารถทำหน้าที่ได้ทั้งเป็นฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายตรวจสอบ ไม่ใช่ว่าพอได้รับเลือกตั้งแล้วจะต้องเป็นรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เพราะหากเกิดสถานการณ์การเมืองไม่ปกติ มีเหตุการณ์ที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล ไม่มีผู้นำมาบริหารประเทศได้ ตัวแทนประชาชนเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วยการหารือเพื่อหาทางออกบ้านเมืองร่วมกัน “อย่างตรงไปตรงมา” ที่สำคัญต้องอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งเชื่อว่า “ปัญหา” ทุกอย่างจะมีทางออก หากปล่อยให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปผู้ที่แบกรับความเสียหายก็คือประเทศชาติจึงต้องเร่งแก้ปัญหาหาข้อยุติโดยเร็ว