‘วันนอร์’ แจงปิดประชุมสภาฯด่วน ทางออกดีสุด รอศาล รธน.ชี้ขาด 16 ส.ค.

‘วันนอร์’ แจงปิดประชุมสภาฯด่วน ทางออกดีสุด รอศาล รธน.ชี้ขาด 16 ส.ค.

‘วันนอร์’ อธิบายชัด สาเหตุต้องสั่งปิดประชุมสภาฯด่วน 4 ส.ค. เผยทางออกดีที่สุด เหตุ ‘รังสิมันต์ โรม’ เสนอญัตติด่วนให้ทบทวนมติสภาฯ ปมเสนอชื่อ ‘พิธา’ นายกฯซ้ำ ทั้งที่การลงมติไปแล้วถือว่าเด็ดขาด ต้องรอศาล รธน.วินิจฉัยก่อน 16 ส.ค.

เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2566 ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (วันนอร์) ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี เมื่อวานนี้ (4ส.ค.) สั่งเลื่อนการประชุมร่วมรัฐสภาออกไปก่อน พร้อมกับปิดการประชุมสภาทันทีนั้น ว่า การเปิดประชุมเมื่อวานนี้มีประชุมวาระอยู่ 2 เรื่อง คือการเลือกนายกฯ ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากอยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 16 ส.ค. ส่วนเรื่องที่ 2 คือการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งตนตั้งใจให้มีการอภิปรายอย่างเต็มที่ และหากเลื่อนวาระที่ 2 ขึ้นมาสภาก็มีความพร้อมที่จะพิจารณา แต่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเลื่อนวาระดังกล่าวขึ้นมานั้น นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้เสนอญัตติด่วนขึ้นมาเพื่อให้ทบทวนมติที่สภาได้พิจารณาไปเมื่อวันที่ 19 ก.ค.คือญัตติที่ไม่ให้โหวตนายกฯซ้ำ เรื่องได้พิจารณาตามข้อบังคับ 151 ไปแล้ว โดยข้อบังคับ 151 ในวรรคแรกได้ระบุว่า การลงมติของรัฐสภาถือว่าเด็ดขาด การที่จะมาทบทวนมติที่เด็ดขาดไปแล้ว ตนและสมาชิกหลายท่านเข้าใจว่าไม่สามารถกระทำได้

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า โดยปกติที่ผ่านมา หากเรื่องอยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ สภาก็ยังจะไม่พิจารณาเรื่องนั้น โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เขียนไว้ชัดเจนว่า คำวินิจฉัยและคำสั่ง ของศาลรัฐธรรมนูญถือว่าเด็ดขาด และมีความผูกพันกับรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรอิสระ เพราะฉะนั้นการที่เราจะตัดหน้าไปพิจารณาวันที่ 4 ส.ค. ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุชัดเจนว่าจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 16 ส.ค. หากเราพิจารณาก่อน อาจจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ เพราะเป็นการย้อนแย้งกับที่ศาลรัฐธรรมนูญ กำลังพิจารณาเรื่องเดียวกัน และหากมีการพิจารณาและลงมติ และวันที่ 16 ส.ค.ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไม่ตรงกับมติของสภา “ท่านคิดว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นกับใคร” หากเรารอให้ถึงวันที่ 16 ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาจบแล้ว เราก็สามารถนำเรื่องดังกล่าวมาทบทวนได้ แต่เราต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน

“ผมจึงเห็นว่าเรื่องนี้ในประการแรก ญัตติที่จะทบทวนญัตติของเราเอง ตามที่ข้อบังคับพูดไว้ชัดเจนแล้วนั้น จะกระทำได้หรือไม่ สมควรจะกระทำหรือไม่ ประการที่สอง เรื่องที่เราจะพูด คือเรื่องมติโหวตนายกฯกระทำซ้ำได้หรือไม่ มันเป็นเรื่องเดียวกันที่ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวันที่ 16 ส.ค.นี้ และอำนาจศาลรัฐธรรมนูญถือว่าเด็ดขาด สภาจะพิจารณาอย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมาแล้ว เราต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ในฐานะประธานรัฐสภาเราไม่สามารถนำองค์กรให้เกิดปัญหากับองค์กรที่จะตัดสินเรา เราพร้อมจะทำตามสมาชิกถ้าหากว่าข้อเสนอนั้นเป็นข้อเสนอที่ไม่ย้อนแย้ง ซึ่งจะทำให้ความเชื่อถือลดลง ต้องขออภัยไม่ได้รีบปิดประชุมหนี เพื่อไม่ให้อภิปรายการแก้ไขมาตรา 272 ที่รอเวลาเกือบชั่วโมงเพื่อให้สมาชิกครบ เพื่อให้ได้ประชุม และเลื่อนวาระ 272 ที่พรรคก้าวไกลอยากจะอภิปรายขึ้นมาก่อน ผมก็อยากให้อภิปรายอย่างเต็มที่ แต่สมาชิกไม่ยอมที่จะให้เลื่อนเรื่องนี้มาพิจารณา และเสนอนำเรื่องด่วนที่ไม่ได้อยู่ในวาระขึ้นมาพิจารณาซึ่งสามารถเสนอได้ แต่เรื่องที่เสนอให้พิจารณาคือ เรื่องของวันที่ 19 ก.ค. ซึ่งคือเรื่องการโหวตนายกฯ โดยตามมาตรา 151 ถือว่าทำไม่ได้ ผมไม่ได้ปฏิบัติเพื่อฝ่ายใด หรือกีดกันฝ่ายใด ไม่งั้นจะรอถึงชั่วโมงเหรอ เพราะหากสมาชิกไม่ครบแค่ครึ่งชั่วโมงก็ไม่สามารถประชุมได้” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

เมื่อถามว่า กรณีการประชุมเมื่อวานนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ยังเหลือเวลาในการประชุม ทำไมถึงไม่ให้มีการลงมติ นำญัตติด่วนการเสนอชื่อนายกฯซ้ำขึ้นมาพิจารณา หรือเอามาตรา 272 ขึ้นมาพิจารณา นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า สมาชิกรัฐสภาไม่ยอม จะลงมติเรื่องที่ ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาในวันที่ 16 ส.ค.นี้ ถ้ารัฐสภาพิจารณาแล้วขัดแย้งกับคำวินิจฉัย จะมีความเสียหายเกิดขึ้น สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดศาล ผู้ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือประธานรัฐสภา ซึ่งมองว่าจะกระทบต่อบุคคลที่เสนอ และวิธีการด้วย ซึ่งจะทำให้สภาเกิดความสับสนต่อบุคคลภายนอก ในวันที่ 16 ส.ค.ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยทุกอย่างก็สามารถเดินหน้าได้ และรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เราจะบอกว่าศาลเป็นใหญ่กว่าสภา มองว่าไม่มีใครใหญ่กว่าใคร แต่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แบบนั้น

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวอีกว่า ตนทำงานในสภามากกว่า 40 ปี ไม่เคยมีการนำญัตติที่ตกไปแล้วขึ้นมาทบทวน ยืนยันไม่ได้ปิดประชุมหนี เพราะการเลื่อนประชุมสภาเมื่อวานนี้ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดของบ้านเมือง ในที่สุดแล้วก็ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศนี้

เมื่อถามว่าในวันที่ 17 และ 18 ส.ค.จะมีการประชุมรัฐสภาหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ต้องดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 16 ส.ค. ถ้าศาลมีคำวินิจฉัยออกมาจะเรียกประชุมรัฐสภาภายใน 3 วัน คือวันที่ 18-19 ส.ค. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายและความสง่างามของที่ประชุมรัฐสภา หากมีการทบทวนหลายรอบ จะทำให้เกิดการร้องเรียนขึ้นมาอีก และเกิดความไม่สง่างามของรัฐสภา พร้อมย้ำว่า ไม่มีคนอยู่เบื้องหลังเสนอให้เลื่อนการประชุม